Brian Tracy burnout syndrome Move Publishing หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ

หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ! – 8 วิธีเลิกผัดวันฯ ลงมือทำทันที หนีอาการ Burnout

Home / Book Tips, สารพันหนังสือ / หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ! – 8 วิธีเลิกผัดวันฯ ลงมือทำทันที หนีอาการ Burnout

WHO หรือองค์การอนามัยโลก เพิ่งมีประกาศอย่างเป็นทางการว่า Burnout Syndrome หรือ “ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ” เป็นสภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์เป็นครั้งแรก

“ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ” คืออาการหมดไฟในการทำงาน ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดจากงานที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่บรรลุเป้าประสงค์ที่วางแผนไว้ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

ภาวะนี้เกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตัวงานที่เราทำ ชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่บุคลิกของตัวเราเอง

กลุ่มอาการที่ชี้ว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ ได้แก่

  • รู้สึกอ่อนล้า หมดพลังในการดำเนินชีวิต
  • รู้สึกไม่อยากทำงาน หรือรู้สึกไม่ดีกับงานที่ทำ หรืองานที่เกี่ยวข้อง
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

แต่ใช่ว่าอาการเหล่านี้จะไม่มีทางรักษา หากรู้สึกว่าตัวเองกำลังเข้าข่าย หรือรู้สึกไม่มีกำลังใจในการทำงาน ลองปรับวิธีการทำงาน ปรับสมดุลการใช้ชีวิต พักผ่อนสักนิดแล้วค่อยลุยงานต่อก็ได้

หลังจากพักอย่างเพียงพอและวางแผนการทำงานต่อไปแล้ว สิ่งแรกที่เราควรหลีกเลี่ยงคือการ “ผัดวันประกันพรุ่ง” คุณอาจคิดว่า แค่ผัดไปอีกสักวัน หรือค่อยทำทีหลังก็ได้ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจน ชอบที่จะทำตามแผนให้บรรลุเป้าหมายจนสำเร็จ การผัดออกไปแม้แค่เพียงเล็กน้อยคือจุดเริ่มต้นของการทำแผนไม่สำเร็จ ความล้มเหลวเล็ก ๆ นี้อาจทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ และกลับไปรู้สึกว่างานของตนไม่สำเร็จ ขาดประสิทธิภาพ วนเวียนกับการผิดหวังกับตัวเองจนรู้สึกเหนื่อยล้าอีกรอบก็ได้

ดังนั้นในขณะที่ยังมีไฟอยู่ รีบลุกขึ้นมาลงมือทำตามแผนกันดีกว่า!

ผู้ซึ่งทุกเช้าได้วางแผนงานไว้แล้วตลอดวัน จะเดินตามเส้นทางที่นำพาเขาทะลุผ่านเขาวงกตแห่งชีวิตที่แสนสับสนวุ่นวายนี้ได้
–– วิกเตอร์ อูโก อ้างถึงจาก “หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ!” โดย ไบรอัน เทรซี

8 วิธีลงมือทำทันที หนีอาการผัดวันประกันพรุ่ง หลบหลีกภาวะ Burnout

หนังสือ “หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ!” หรือ “Just Shut Up And Do It!” ของไบรอัน เทรซี่ (Brian Tracy) กูรูชื่อดังด้านการพัฒนาตนเองสนับสนุนแนวคิดความสำเร็จที่เกิดจากการลงมือทำทันที และการทำงานตั้งแต่เริ่มจนจบให้สำเร็จ หนึ่งในข้อสำคัญคือการ “เลิกผัดวันประกันพรุ่ง” โดยเทรซี่เสนอ 8 วิธีที่จะทำให้เราหลุดพ้นนิสัยชอบผัดไปเรื่อย มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1. ทำเช็กลิสต์

จดลำดับสิ่งที่ต้องทำในงานขนาดใหญ่ ๆ เริ่มด้วยสิ่งที่ทำอย่างแรกไปจนถึงสิ่งที่ต้องทำอย่างสุดท้าย เมื่อนำทุกอย่างที่ต้องทำมาเรียงกันบนลู่วิ่ง จะช่วยให้คุณมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่ต้องทำและลดอาการผัดวันประกันพรุ่งไปได้มาก

2. ฝานงานเป็นแผ่น ๆ เหมือนซาลามี่

คงไม่มีใครคิดจะกินซาลามี่ทีเดียวทั้งแท่งใช่ไหม? นำงานมาแบ่งส่วนเป็นชิ้น ๆ เหมือนการฝานซาลามี่ออกเป็นแผ่น ๆ ทีนี้คุณก็จะได้ทำให้เสร็จไปทีละชิ้น เหมือนการค่อย ๆ กินซาลามี่ทีละแผ่น ทำไปทีละนิดแต่ทำเรื่อย ๆ จนสำเร็จ

3. เทคนิค ‘รูเนยแข็ง’

เทรซี่แนะนำให้เจาะทะลวงงานเข้าไปเหมือนการเจาะรูเนยแข็งสวิส จัดการทำงานที่เจอในนั้นให้เสร็จครั้งละ 5-10 นาทีโดยไม่พัก เสร็จแล้วจึงทำงานอื่น เมื่อพบงานเล็กงานน้อยที่ยังไม่ได้จัดการ ให้คิดกับตัวเองว่า “จะทำให้เสร็จตอนนี้” แล้วลงมือทำเลย

4. กฎ 20/80

ร้อยละยี่สิบของงานที่ต้องทำ มีคุณค่ามากถึงร้อยละแปดสิบของงานทั้งหมด

นั่นหมายความว่า คุณต้องหาร้อยละยี่สิบที่สำคัญนั่นให้เจอก่อน เพราะมันคือร้อยละแปดสิบของผลสำเร็จของงาน ถ้าคุณหามันเจอและทำมันก่อน คุณอาจจะทำงานชิ้นใหญ่เสร็จไวกว่าที่คิดเสียอีก

5. ให้รางวัลกับตัวเอง

จัดตารางให้รางวัลตัวเองเมื่อทำสำเร็จในทุก ๆ ขั้นตอน เช่น ถ้าทำงานนี้เสร็จจะดื่มกาแฟสักแก้ว หรือถ้าทำงานนี้เสร็จจะกินอาหารค่ำดี ๆ สักมื้อ การให้กำลังใจตัวเองเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จที่ห้ามลืมเป็นอันขาด

6. ให้คำมั่นกับคนอื่น

บางครั้งแค่บอกตัวเองอาจจะไม่พอ ลองบอกคนใกล้ตัวคุณก็ได้ ว่าคุณกำลังจะทำงานชิ้นนี้ในช่วงเวลาจำกัดนะ เมื่อพูดออกไปคุณก็จะรู้สึกเหมือนมีคอยติดตามงานคุณอยู่ตลอดเวลา และเมื่อคุณบอกเขาไปแล้วว่าจะทำให้เสร็จ เหมือนเป็นการรับปากแบบนี้ ก็จะเกิดแรงผลักดันให้คุณต้องทำมันให้เสร็จ

7. เริ่มต้นทันที

ทำงานนั้นเป็นอย่างแรก ๆ ของวัน ก่อนจะเช็กมือถือหรืออีเมล งานที่ทำทันทีหลังตื่นนอนจะเสร็จเร็วกว่างานอื่นอย่างที่คุณคาดไม่ถึงเลย

8. โฟกัสในแต่ละงาน

วิธีบริหารจัดการเวลาที่ดีที่สุดคือ เลือกสิ่งสำคัญที่สุดขึ้นมาก่อน แล้วตั้งใจทำมันให้เสร็จ โฟกัสกับมันตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเสร็จสิ้นกระบวนการ คุณจะได้ทั้งงานที่มีคุณภาพและเสร็จตามกำหนดเวลา จากนั้นค่อยไปลุยงานอื่นกันต่อ

เมื่อคุณทำงานเสร็จ แม้จะเป็นงานเล็ก ๆ คุณจะได้พบประสบการณ์สารเอนดอร์ฟินหลั่ง คุณจะรู้สึกมีความสุขและมีแรงกระตุ้น คุณจะรู้สึกเร่งเร้าให้ทำงานถัดไป เพื่อที่คุณจะได้รู้สึกมีความสุขและมีความสำเร็จจากแรงกระตุ้นแบบนั้นอีกครั้ง

ลองทำดู คุณทำได้ เมื่อถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่าง จงลงมือทำมันซะ!


แนะนำหนังสือ

ผลงาน ไบรอัน เทรซี ของนักเขียนขายดีติดชาร์ต New York Times Bestseller – Eat That Frog กินกบตัวนั้นซะ – นักเขียน นักพูดที่ประสบความสำเร็จ และสุดยอดกูรูด้านพัฒนาตนเอง Just Shut Up and Do it จะบอกวิธีการง่ายๆ ที่เราสามารถฝึกฝนและนำไปใช้งานได้เพื่อความสำเร็จในชีวิต โดยไม่มีข้อจำกัดในสิ่งที่คุณต้องการไขว่คว้า

 


แหล่งอ้างอิง:

NPR.  (2019).  WHO Redefines Burnout As A ‘Syndrome’ Linked to Chronic Stress At Work.

PPTV Online.  (2019).  องค์การอนามัยโลก รับรองภาวะ “หมดไฟในการทำงาน” เป็นอาการป่วย.

PPTV Online.  (2019).  ปรับแผนการทำงานก่อนเสี่ยงเป็น “ภาวะหมดไฟ”.

ชนาภัฎฑ์ ธรรมรัฐ.  (2017).  Burnout Syndrome ไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่เป็นภาวะหมดไฟในงาน ที่ทำให้คุณหมดใจ คล้ายๆ จะหมดแรง.

ชนาภัฎฑ์ ธรรมรัฐ.  (2017).  ไม่หวั่นแม้วันหมดแรงหมดใจ เพราะนี่คือเทคนิคต่อสู้กับภาวะ Burnout Syndrome ที่ได้ผลที่สุด.

ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ.  (2019).  อนามัยโลกระบุให้ ‘ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ’ เป็นสภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์.

ไบรอัน เทรซี. (2015).  หยุดพูดแล้วลงมือทำซะ!  วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปล.  นนทบุรีฯ: Move Publishing.