Blue Zone Move Publishing ฆ่าตัวตาย ประชากรไทย ปรัชญา ผู้สูงอายุ วิถีชีวิต สถิติ หนังสือ อิคิไก

อิคิไก | เมื่อการอายุยืนไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้สูงอายุในไทยฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

Home / Editor Picks / อิคิไก | เมื่อการอายุยืนไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้สูงอายุในไทยฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

เมื่อการอายุยืนไม่ใช่เรื่องง่าย :

ผู้สูงอายุ ในไทย ฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

หากอายุที่มากขึ้น ทำให้ความสุขที่มีน้อยลงล่ะ? …..แล้วสังคมสูงอายุในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?


เมืองไทย เมืองสูงอายุ

อิคิไก

ข้อมูลจากกรมการปกครอง ในเดือนธันวาคม ปี 2560 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 67 ล้านคน กว่า 1 ใน 5 หรือประมาณ 10 ล้านคน  คือ ผู้สูงอายุ  ..จากสถิตินี้เองทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ และในอีก 8 ปีข้างหน้าสังคมนี้จะขยายวงกว้างมากขึ้นเป็น 14.9 ล้านคน ซึ่งอาจจะมากกว่าเด็กที่เกิดในประเทศเสียด้วยซ้ำ

เมื่ออายุมากขึ้น สมรรถภาพทางร่างกายเสื่อมถอย จากที่เคยแข็งแรงก็ตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บ รวมไปถึงภาวะสมองเสื่อมที่ตามมา สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อสภาพจิตใจ เครียด ไม่มีความสุข จนถึงขั้นไม่พอใจในชีวิต และอยากตายให้รู้แล้วรู้รอด

อิคิไก

อยากตาย

ภาวะ “อยากตาย” เป็นหนึ่งในความซึมเศร้าที่เกิดขึ้นเมื่อสุขภาพร่างกายไม่เหมือนเก่า และที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย สาเหตุเพราะอยู่ต่อไปก็ด้อยค่า หายใจต่อไปก็ไม่มีความสุขอีกแล้ว

แก่ได้ ไม่ด้อยค่า..

“ญี่ปุ่น” หนึ่งในประเทศผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมของโลก เป็นอีกประเทศที่ประชากรมีภาวการณ์ฆ่าตัวตายสูงอันดับต้น ๆ  อันเนื่องมาจากสภาพการแข่งขันในการทำงานที่กดดันอย่างมาก ส่งผลต่อความเครียดจัดและคิดฆ่าตัวตาย แต่รู้หรือไม่ว่าท่ามกลางภาวะการกดดันเหล่านี้กลับมี ประชากรบางกลุ่ม ใน โอกินาวา ที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและอายุยืนยาวเกิน 100 ปี

อิคิไก

Dan Buettner นักวิจัยด้านการแพทย์ และนักมานุษยวิทยา ได้ทำการเกี่ยวกับประเทศที่มีประชากรที่มีอายุยืนยาวที่สุดของโลก หรือที่เขาเรียกมันว่า “Blue Zone”  มากว่า 10 ปี ระหว่างการศึกษา เขาเจอเรื่องที่น่าทึ่งมากมาย .. เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้แค่มีอายุที่ยืนยาวเท่านั้น พวกเขายังมีความสุขดี แม้สภาพสังคมจะกดดันขนาดไหนก็ตาม และ โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ก็คือหนึ่งในประเทศในนั้น

5 ประเทศ BLUE ZONE โซนเย็น ๆ เป็นสุข

อิคิไกซาร์ดิเนีย, อิตาลี:

ออกกำลังกายทุกวัน แม้ในกิจวัตรประจำวัน เช่น คนเลี้ยงแกะที่มีโอกาสเดินมากกว่า 5 ไมล์ต่อวัน อีกทั้งยังสร้างความสนิทสนมในครอบครัว เช่น ผู้ชายที่มีลูกสาวจะได้รับการดูแลอย่างนุ่มนวลเมื่อชราภาพ

โอกินาวา, ญี่ปุ่น:

ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับครอบครัว แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับคนในชุมชน ไม่ว่าชีวิตจะหายนะขนาดไหน ก็จะได้รับการสนับสนุนจากสังคมที่อาศัยอยู่เสมอจนทำให้เกิดความแข็งแกร่งทางจิตใจ จากภาวะเครียดที่เกิดขึ้น

นิโคยา, คอสตาริก้า:

คนในกลุ่ม Blue Zone มักเลี่ยงอาหารแปรรูปทุกชนิด และชาวนิโคยา ยังได้ยกระดับการบริโภคของตัวเองด้วยวิธีการเน้นหนักไปทางธัญพืช โดยเฉพาะถั่ว, ข้าวโพด, พืชและผลไม้เขตร้อน ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง

โลมา ลินดา, รัฐแคลิฟอเนีย, สหรัฐอเมริกา:

พื้นที่ Blue Zone แห่งนี้เป็นพื้นที่พำนักของโบสถ์มิชชั่นนารี ที่มีนิกายโปรเตสแตนต์ จึงทำวิถีชีวิตจะเน้นไปที่การทำอะไรร่วมกันและสวดมนต์อธิษฐาน นอกจากนี้ยังมีการเลี่ยงเนื้อสัตว์และเน้นการรับประทานธญพืชและพืชผักอีกด้วย

อิคาเรีย, กรีซ:

ความเครียดที่เกิดขึ้นทำให้เกิดกิจวัตรลดเครียดบางประการในอิคาเรียขึ้น นั่นคือ การงีบหลับ พวกเขาจะรวมตัวกันเพื่อหลับประจำวัน และยึดมั่นที่จะทำมันอย่างเข้มงวด รวมถึงการบริโภคผักผลไม้และธัญพืชให้มากขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันมะกอกที่มีส่วนช่วยภาวะสมองเสื่อมและโรคเรื้อรังต่าง ๆ

 

กฎทองของ BLUE ZONE : อายุยืน ไม่ใช่เรื่องยาก แค่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

และนี่คือ 9 กฎทองของ BLUE ZONE ที่จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า การอายุยืนอย่างมีความสุขนั้น ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

อิคิไก

  1. กลับสู่ธรรมชาติ

เคล็ดลับอย่างแรกที่ค้นพบในกลุ่มคนที่อายุยืนก็คือการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันบางประการ จากที่เคยอยู่ตึกสูงเสียดฟ้า หายใจเข้ามลพิษ หายใจออกควันท่อไอเสีย ก็ไหลคืนกลับสู่ธรรมชาติ อาจเริ่มต้นจากเรื่องง่าย ๆ เช่น การปลูกต้นไม้ พาตัวเองไปวิ่งในสวนสาธารณะที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ จนถึงขั้นย้ายรกรากไปในแหล่งที่มีธรรมชาติสมบูรณ์ เพราะการใช้ธรรมชาติเข้ามาบำบัดนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตที่ยืนยาวแบบชาว Blue Zone

  1. ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์

จากที่เคยตื่นมาแล้วใช้ชีวิตอย่างขอไปที ชาว Blue Zone สร้างวัตถุประสงค์บางอย่างที่ทำให้การตื่นในทุกเช้ามีความหมาย ชาวโอกินาวา เรียกวิถีชีวิตนี้ว่า Ikigai (อิคิไก) มันคือการรู้ตัวเองว่าทุกเช้าที่คุณตื่นขึ้นมามันมีความหมาย ทุกวันมีการวางแผน การรู้ตัวเองว่าชอบอะไรจึงสำคัญพอ ๆ กับทำำสิ่งนั้นเพื่อสร้างรายได้  วิธีนี้จะทำให้สภาพจิตใจเปี่ยมสุข และยังช่วยเพิ่มอายุขัยให้มากขึ้นถึง 7 ปี

  1. หาวิธีจัดการความเครียด

ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก็จริง แต่วิถีชีวิตของชาว Blue Zone สร้างกิจวัตรประจำวันบางอย่างเพื่อมาจัดการความเครียดอยู่เสมอ ชาวโลมา ลินดาเลือกที่จะสวดมนต์อธิฐาน, ชาวอิคาเรียบอกว่าการได้งีบพักก็สร้างสุขได้ และ ชาวซาร์ดิเนียเองก็สร้างชั่วโมงไร้ทุกข์ขึ้นมาเพื่อขจัดความเครียดดังกล่าว สิ่งเหล่านี้เสมือนการระบายความเครียดอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากความเครียดดังกล่าวเหมือนน้ำในถังแล้วละก็ มันจะไม่มีวันล้นออกมาเปรอะเปื้อนอย่างแน่นอน

  1. กฎ 80%

ชาว Blue Zone จะหยุดกินเมื่อพวกเขาอิ่มไปแล้ว 80% และจะทานอาหารที่เบาบางที่สุดในมื้อเย็น

อิคิไก

  1. เน้นบริโภคพืช

ชาว Blue Zone นิยมบริโภคพืชผักผลไม้มากกว่าเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะถั่วและธัญพืชต่าง ๆ ที่มีสารอาหารเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยวในการต่อสู่กับโรคภัยต่าง ๆ  รวมถึงผักและผลไม้ที่บริโภคคู่กับเนื้อสัตว์ตามความเหมาะสม

  1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่น้อยลง

พวกเขาไม่ได้งดการดื่มสังสรรค์ไปเสียทีเดียว แต่ปรับเปลี่ยนให้มันดูพอเหมาะ เช่น มีการเลือกดื่มไวน์ในระดับปานกลาง เมื่อทานอาหารกับเพื่อนหรือวาระพิเศษ เป็นต้น

  1. เป็นส่วนหนึ่ง ในชุมชนที่อาศัยอยู่

การเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนที่อาศัยอยู่ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของวิถีชีวิตแบบ Blue Zone สิ่งเล็กน้อยนี้ช่วยเพิ่มอายุขัยได้ถึง 4 – 14 ปีเชียวนะ

  1. มีใครให้รัก

เมื่อมีใครสักคนให้รักแล้ว ในทุกวันจะทำให้คุณอยากใช้ชีวิตไปกับพวกเขามาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ รวมไปถึงคู่ครอง

  1. อยู่ในสังคมที่ใช่ กับใครสักคนที่ชอบ

จากการศึกษาค้นพบว่าคนที่มีอายุยืนมักจะมีเพื่อนซี้ที่มีอะไรคล้าย ๆ กัน และอยู่ในสังคมที่เข้มแข็ง

 

เตรียมรับมือภาวะเคว้งคว้าง ชีวิตไร้ความหมาย

อิคิไก

แม้ว่าจะมีวิวัฒนาการต่าง ๆ ออกมาเพื่อพัฒนามนุษย์ให้รับมือกับความเคว้งคว้างนี้ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จำเป็นต่อการต่อสู่ครั้งนี้ คือ ทัศนคติดี ๆ ที่ตระหนักถึงคุณค่าชีวิตของตัวเอง ต่างหาก นี่คือแนวคิด 4 ข้อสำคัญในการเตรียมตัวที่จะรับมือกับมัน

  • คิดเผื่อตอนแก่

คำถามที่เรามักจะเจอบ่อย ๆ ในวัยหนุ่มสาวคือ “ตัวคุณในตอนอายุ 20 คิดยังไงกับตัวเองในตอนนี้?”…จริงอยู่ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า เราในวัย 80 นั้นจะมีสภาพเป็นเช่นไร แต่เราสามารถถามตัวเองเผื่อตอนที่อายุ 80 ปีได้ว่า “ตัวคุณในตอนอายุ 80 ปี คิดเห็นเกี่ยวกับตัวเองยังไงในตอนนี้?” …สิ่งนี้จะทำให้คุณตัดสินใจเรื่องที่จะทำให้ปัจจุบันได้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งโทษตัวเองในอดีตว่าทำไมทำแบบนั้นนะ .. ทำไมไม่ทำแบบนี้ในตอนที่อายุยังน้อย

  • ความเป็นไปได้ในชีวิตของตัวเอง

แน่นอนว่าเรื่องที่ไม่ดีมักเป็นความท้าทายในชีวิต แต่อย่าลืมสิว่าเมื่อเราเลือกทำอะไรไปแล้ว ..มันเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ถึงแม้จะพยายามแก้ไขมันแล้วก็ตาม การวาดภาพอนาคตของตัวเองอาจเป็นไปได้ยาก เพราะเราไม่มีประสบการณ์อะไรมารองรับ แต่การพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของตัวเองในอนาคตจากสิ่งที่ทำอยู่ปัจจุบันนั้น ถือเป็นการวางแผนชีวิตที่ไม่เลว เช่น การวาดเส้นกราฟชีวิตตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงอายุ 100 ปี แล้วอธิบายในแต่ละขั้นตอนของชีวิตว่า ในสิ่งที่วางแผนเอาไว้ในแต่ละช่วงอายุจะมีวิธีการทำให้สำเร็จอย่างไร จากนั้นก็แชร์สิ่งที่คิดนี้กับคนอื่นว่าในสิ่งที่เราคิดจะมีความเป้นไปได้อย่างไร เพื่อนำข้อคิดเห็นของคนอื่นมาพัฒนาแผนชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น

  • ค้นหา และจับคู่

เส้นทางชีวิตที่ยาวขึ้นจะมาพร้อมกับโอกาสมากมายที่ต้องตัดสินใจ แง่มุมความคิดในการใช้ชีวิตมักเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ  งานที่ทำอยู่ปัจจุบันอาจมีจุดพลิกผันเมื่อถึงเวลาอันสมควร หรือแม้การแต่งงานที่ไม่ใช่แค่รักกันเหมือนก่อน แต่มันหมายถึงหลาย ๆ สิ่งมาประกอบ สิ่งเหล่านี้เองคือสิ่งที่เราต้องพยายามจับคู่มันให้เข้ากันกับชีวิตเรามากที่สุด รวมถึงเรื่องงานหรือการแต่งงาน เพื่อให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันมีคุณค่าและดำเนินไปในทางที่สมควรจะเป็น

  • ยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนทิศทางได้เสมอ

การวางแผนชีวิตระยะยาวที่ดีควรยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมากขึ้น หลายสิ่งดูซับซ้อนและไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า อีก 10 ปีข้างหน้าโลกจะผันปรวนไปในทิศทางใด ดังนั้นเราไม่ควรปล่อยทัศนคติของตัวเองให้อัมพาตและเฉื่อยชา ดั่งคำพูดของนักประพันธ์ชาวอังกฤษ Paul Auster ที่กล่าวเอาไว้ว่า “ถ้าคุณยังไม่พร้อมสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง คุณก็ยังไม่พร้อมสำหรับอะไรเลย” นั่นหมายความว่าคุณควรจะยืดหยุ่นกับตัวเองให้มากขึ้น และตื่นตัวที่จะปรับทิศทางการใช้ชีวิตเสมอ แม้สิ่งนั้นคือพฤติกรรมที่คุณทำมาอย่างยาวนานก็ตาม


เมื่อโลกความจริงไม่มีบ่อน้ำพุแห่งความอมตะ มนุษย์จึงต้องใฝ่หาวิธีในการดูแลตัวเองอยู่เสมอ  : คุณไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานไปในพื้นที่ Blue Zone เพื่อตามหาความสุขและเพิ่มอายุ เพียงแค่เปิดใจกว้าง ๆ และลองปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองดู สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างสุขให้กับคุณที่ยืนยาวให้กับคุณไม่แพ้กัน กับหนังสือ “ อิคิไก – ความหมายของการมีชีวิตอยู่”  หนึ่งในวิถีชีวิต Blue Zone ในแบบฉบับชาวญี่ปุ่น ที่ช่วยสร้างสุขไปพร้อม ๆ กับอายุที่ยืนยาว

อิคิไก


แหล่งเรื่องน่ารู้ที่รวบรวมสาระครบรส ทั้งข่าวสารวงการหนังสือ, งานหนังสือ, เทคนิคการอ่าน, หนังสือใหม่, หนังสือแนะนำ รีวิวหนังสือ และ อื่น ๆ อีกมากมาย มีให้อ่านกันฟรี ๆ ที่นี่ BOOK.MTHAI

 

รวบรวมข้อมูลจาก หนังสือ “ อิคิไก – ความหมายของการมีชีวิตอยู่”  , Weforum.org (1), (2), (3) , สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (1), (2), (3), (4) , TIME , มติชน , ไทยโพสต์, M-SOCIETY, Thai-Health