ความหมายของการมีชีวิต ปรัชญา อิคิไก เกตุวดี เกตุวดี Maramura เคน โมงิ

เปิดมุมมอง อิคิไก ในแบบ เกตุวดี Maramura ความสุขเริ่มจากตัวเอง

Home / Editor Talk, Tell Me What You Read / เปิดมุมมอง อิคิไก ในแบบ เกตุวดี Maramura ความสุขเริ่มจากตัวเอง

หากพูดถึงคำว่า “อิคิไก” คงเป็นคำที่คุ้นหูเรากันอย่างมาก เพราะถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือหลายเล่ม รวมถึง “อิคิ ไก (生き甲斐) ความหมายของชีวิต (The Little Book of Ikigai)” ที่เขียนโดยอาจารย์ เคน โมงิ (Ken Mogi) นักวิทยาศาสตร์วิจัยด้านสมองชาวญี่ปุ่นนับว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับอิคิไกเล่มแรกเลยก็ว่าได้

เนื้อหาภายในหนังสือนั้นย่อยง่ายมาก เพราะอาจารย์ เคน โมงิได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบการตีความหมายของ “อิคิไก” ให้ผู้อ่านค่อยๆ ทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ

หากตีความหมายของคำว่า อิคิไก ก็แปลตรงตัวได้ดังนี้ “อิคิ” (iki生き ) แปลว่า มีชีวิต และ “ไก” (gai甲斐) แปลว่า คุณค่าทางจิตใจ, เหตุผล เมื่อรวมกัน “อิคิไก” อาจหมายถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจจะดูตีความยากไปหน่อย อาจารย์เคน โมงิ เลยสรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆขึ้นว่า “อิคิไก” คือ เหตุผลที่ทำให้เราอยากตื่นนอนมาเพื่อทำสิ่งที่เรารัก ฟังดูง่ายขึ้นแล้วใช่มั้ยคะ

อิคิไกในแบบของเกตุวดี

เกตุวดี Marumura หรือ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ผู้ที่หลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เจ้าของเว็บไซต์และแฟนเพจเล่าเรื่องต่าง ๆในญี่ปุ่นที่อ่านสนุกอ่านเพลินมากๆ รวมทั้งเธอยังได้มีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์ เคน โมงิ เกี่ยวกับเรื่องอิคิไก แบบตัวต่อตัว เธอจึงมาเปิดมุมมอง “อิคิไก” ให้ผู้อ่านได้ร่วมค้นหา “อิคิไก” ของตัวเองไปพร้อมๆ กัน

เกตุวดีได้อธิบายอิคิไกในแบบของเธอว่าคือ “สิ่งที่เรารู้สึกมีคุณค่าและเติมเต็มในแบบขอเรา”อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นสนใจก็ได้ เช่น ในญี่ปุ่นมีคนที่เรียกกันว่า “เท็จจัง” คือคนที่หลงใหลคลั่งไคล้รถไฟเอามากๆ ทุกสุดสัปดาห์ก็จะไปนั่งถ่ายภาพรถไฟ แค่นี้ก็คืออิคิไกของเท็จจัง

แล้วอิคิไกสร้างได้ยังไง?

อาจารย์ เคน โมงิ กล่าวว่าอิคิไกนั้นง่ายมากเพราะมันคือการเริ่มทำสิ่งดีๆ เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเกตุวดีได้ตีความให้ง่ายขึ้นไปอีกว่าในแต่ละวันมีอะไรที่เรารู้สึกอย่างขอบคุณ เช่น วันนี้ได้ดื่มชารสชาติดีจัง หรือได้ช่วยจูงคนแก่ข้ามถนน การเห็นความสุขของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้ลงมือทำ แค่นี้ก็คืออิคิไกแล้ว แต่เป็นเพียงอิคิไกระดับย่อยที่สร้างได้ในทุกวัน วันละหลายๆ รอบ ซี่งพอทำแบบนี้บ่อยๆ นานเข้าคุณก็จะเริ่มมองเห็นอิคิไกใหญ่ซึ่งก็คือ “เป้าหมายของชีวิต”

กระนั้นอิคิไกจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคุณยังไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เพราะโลกโซเชียลนั้นทำให้เราเห็นชีวิตของคนอื่นได้ง่ายขึ้น หากคุณไม่อยู่กับปัจจุบันไม่พอใจในสิ่งที่คุณกำลังมี เช่น วันนี้คุณแต่งตัวสวยและมั่นใจสุดๆ แต่เมื่อไปเห็นภาพของเพื่อนในเฟสบุ๊กหรืออินสตาแกรมกลับรู้สึกแย่เพราะคิดว่าชุดของเพื่อนนั้นสวยกว่า เมื่อเกิดการเปรียบเทียบเราก็จะไม่มีความสุขเพราะไม่รู้ว่าคุณค่าจริงๆ ของตัวเองคืออะไร

2 หัวใจหลักของการมีอิคิไก

เหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจอิคิไกนั่นก็เพราะคนทุกคนล้วนต้องการ “มีความสุข” แต่ไม่รู้หนทางที่จะเดินไปหาความสุข การขาด Passion หรือแรงจูงใจในการมีชีวิต แต่ไม่เป็นไรเพราะเกตุวดีได้แนะนำ ทริก 2 อย่างเพื่อการสร้างอิคิไก

  1. ไม่ต้องหา Passion ใดๆ เลย แค่ทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุดก็พอ

หากคุณรู้แล้วว่าแรงจูงใจในการมีชีวิตและอยากตื่นนอนขึ้นมาในแต่ละวันของคุณคืออะไร ก็โชคดีด้วย แต่หากไม่เป็นอย่างนั้น คุณก็ไม่ต้องพยายามดิ้นรนถามตัวเองให้เหนื่อยเปล่า แค่คุณก้มหน้าก้มตาทำสิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างเต็มที่ให้ออกมาเป็นผลงานที่ดีที่สุด

  1. ต้องอยู่กับปัจจุบันและชื่นชมตัวเอง

อิคิไกนั้นคือหลักที่ต้องการให้คุณมีความสุขกับปัจจุบัน เมื่อคุณได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหลมายอยู่อย่างเต็มที่แล้วต้องไม่ลืมการให้กำลังใจตัวเองว่าคุณทำดีแล้ว เก่งมาก ซึ่งอาจจะต่อยอดไปสู่การทำเพื่อคนอื่นก็เป็นได้

หากจะกล่าวว่าอิคิไกนั้นคือการมีความสุขกับปัจจุบัน มองหาข้อดีของทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เหมือนการสร้างพลังบวกให้ตัวเองทุกๆ วัน จนเมื่อความสุขสั่งสมเพิ่มขึ้นก็จะผลักดันให้คุณมีความสุขและค้นเจอความหมายของการมีชีวิตอยู่ในที่สุดก็ไม่ผิดนักอิคิไกไม่ไกลอย่างที่คิดแค่เปลี่ยนมุมมองชีวิตก็ค้นพบความหมายได้ไม่ยาก