ก้อย ทาริกา การอ่าน การเรียนรู้ ความเป็นแม่ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหัวใจฟรุ้งฟริ้ง จ๊ะ จิตตาภา ช่อง 3 ชีวิต ซิงเกิลมัม ต้นรัก นักเขียน นิยาย มาสเตอร์วัน ละคร วรรณกรรม วันศุกร์-วันอาทิตย์ วิลลี่ แมคอินทอช สถาพรบุ๊คส์ หนังสือ อ่านหนังสือ เก้า จิรายุ เนรัญญา มะชะรา เอิร์น นิธิภัทร์ ไลฟ์สไตล์

ต้นรัก : สิ่งที่เธอเรียนรู้จากความเป็นแม่ ผ่านนิยายเล่มแรก ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหัวใจฟรุ้งฟริ้ง’

Home / สารพันหนังสือ / ต้นรัก : สิ่งที่เธอเรียนรู้จากความเป็นแม่ ผ่านนิยายเล่มแรก ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหัวใจฟรุ้งฟริ้ง’

          ต้นเหตุมาจากเป็นคนชอบลอง ชีวิตของ ‘เนรัญญา มะชะรา’ หรือ ‘ต้นรัก’ จึงถูกพัดพาไปในหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่เด็กเชียร์ไอศกรีม พริตตี้ ทำบริษัทอีเวนต์ ครีเอทีฟ ผู้ช่วยผู้กำกับในกองถ่าย หรือแม้กระทั่งคนเขียนบทละครโทรทัศน์ การทดลองนี้ นอกจากอาชีพทำมาหากินแล้ว ยังหมายรวมไปถึงชีวิตความเป็นแม่ของตัวเองด้วย เพราะอยู่ดีๆ เธอก็เกิดอยากมีโซ่ทองคล้องใจขึ้นมา วันนั้นจึงถือได้ว่า เป็นวันเริ่มต้นและเปลี่ยนชีวิตผู้หญิงคนนี้ให้กลายเป็นคนละคน จากผู้หญิงอินดี้ติสต์แตก กลายเป็นแม่ผู้เข้าใจลูกและเข้าใจโลกในทันที

          สิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากความเป็นแม่ ไม่ใช่แค่ความสุขเพียงอย่างเดียว แต่ระยะทางกว่าจะพบซึ่งความสุข ก็เต็มไปด้วยอุปสรรคและขวากหนามนานัปการ หลายคนที่เจอเรื่องแบบนี้คงเลือกที่จะปิดไว้เป็นความลับ แต่ ‘ต้นรัก’ เลือกที่จะนำส่วนหนึ่งในชีวิตของตัวเอง ถ่ายทอดออกมาเป็นนวนิยายเล่มแรกอย่าง ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหัวใจฟรุ้งฟริ้ง’
          ในวันที่หนังสือเรื่องนี้ได้ทำเป็นละครและกำลังจะออกฉาย น่าจะเหมาะสมดีที่จะชวนให้ทุกคนรู้จักกับผู้หญิงเก่งหัวใจแกร่งคนนี้ให้มากขึ้น

          อิมเมจินตั้งแต่เด็ก
          ตัวเองเป็นพวกชอบเพ้อ ชอบฝัน สมมติฉากของตัวเองให้ไปทำโน้นนี่ เช่น ถ้าฉันได้ไปทะเลวันนั้น ฉันจะเล่นน้ำที่นี่ ฉันจะเดินท่าแบบนี้ลงไป เหมือนบ้าเนอะ แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราฝึกคิดและจินตนาการ ประกอบกับสมัยก่อนเป็นคนชอบดูละครจักรๆ วงศ์ๆ มาก เช่น สิงหไกรภพ ขวานฟ้าหน้าดำ สี่ยอดกุมาร ฯลฯ ถึงแม้ที่บ้านจะไม่มีโทรทัศน์ ก็ต้องหาดูให้ได้ ด้วยการวิ่งถ่อไปดูที่บ้านของเพื่อนบ้าน ยิ่งเสพเยอะก็ยิ่งคิดอยู่ในหัวเยอะ และสร้างเป็นเรื่องเป็นออกมา
          การเขียนคลุกคลีอยู่กับเราตั้งแต่เด็กแล้ว ลงประกวดคัดลายมือ ประกวดเขียนเรียงความ ทุกเทศกาลที่มีการประกวดเรียงความ ไม่ว่าจะเป็นวันแม่ วันภาษาไทยแห่งชาติ เราส่งเข้าประกวดหมด และตอน ม.2 เราก็ได้ที่หนึ่งของโรงเรียนจากการประกวดเรียงความวันแม่

          จุดเปลี่ยนชีวิตคือการมีลูกสาว
          วันหนึ่งตามเพื่อนไปงาน เพื่อนทำประชาสัมพันธ์ให้กับ ‘พี่เอ๋-นรินทร ณ บางช้าง’ กับพ่อของเขา แล้วพี่เอ๋เห็นว่า บุคลิกของเราดูแมน ดูบอย ผมซอยติดหัว คิดว่าเหมาะแก่การร้องเพลงและทำเทปในช่วงนั้น แต่เสียงตัวเองเพี้ยนมากเลยนะ รู้ตัว (หัวเราะ) เลยไปเรียนร้องเพลงกับผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ของเขา ซึ่งก็คือสามีเราในปัจจุบัน สอนกันไปมา ก็คลอดเป็น 1 อัลบั้ม นั่นก็คือ ลูกสาวคนโต ทีนี้แหละจุดเปลี่ยน
          ด้วยความที่ตัวเองทดลองทำนั่นทำนี่มาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นครีเอทีฟ ผู้ช่วยผู้กำกับ คนทำอีเวนต์ พริตตี้รุ่นแรกๆ ก็เคยทำ และอื่นๆ อีกมากมาย จนมาถึงโปรเจ็คท์เพลงที่ถูกพับไปก่อน ทำให้ตัวเองคิดว่า จะมัวลองไปเรื่อยๆ แบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะว่าอาชีพสามีก็ไม่มั่นคง พอดีตอนนั้นได้รับโอกาสจาก ‘พี่เจี๊ยบ-พิมพ์กมล ประเสริฐวงศ์’ ให้มาลองเขียนบทโทรทัศน์ด้วยกัน เรื่องนั้นคือเรื่อง เจ้าสาวของอานนท์’ ที่ ‘อารุจน์ รณภพ’ เป็นผู้กำกับ ‘จอนนี่ แอนโฟเน่’ และ ‘เชอร์รี่ ผุงประเสริฐ’ เป็นคู่พระนาง เขียนจนสำเร็จลุล่วง ก็ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง
          เงินจำนวนแรกที่ได้มา ทำให้รู้สึกมีความสุขอย่างประหลาด และทำมาเรื่อยๆ ซึ่งถ้าให้มามองยังปัจจุบัน เราถึงรู้ว่า งานเขียนบทโทรทัศน์ไม่ใช่ใครทำก็ได้นะ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่เขียนเป็นชอบอ่าน มันคือความเข้าใจในการเล่าเรื่องมนุษย์ล้วนๆ ให้ออกมาเป็นภาพในโทรทัศน์ โชคดีที่ตัวเองจิตเปิดและได้รับโอกาส ถือเป็นจังหวะชีวิตที่ลงล็อกพอดี เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำอาชีพเขียนบทโทรทัศน์ ด้วยความถูกจริต และได้อยู่บ้านเลี้ยงลูก แต่กว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางจริงๆ ก็อีก 10 ปีต่อมา เหมือนที่มีคนเคยพูดไว้ว่า “กว่าเราจะเจอตัวเองว่า เราชอบอะไร ถนัดอะไร ใช้เวลา 10 ปี และเราต้องใช้เวลาอีก 10 ปี เพื่อพัฒนาทักษะความชอบและความถนัดนั้นให้เป็นเลิศต่อไป”

          จากบทละครสู่นวนิยายเล่มแรก
          เราค้นพบเลยว่า การเขียนนิยายเป็นเรื่องยากมาก ต้องใช้พรรณาโวหารในการเขียนอย่างยิ่งยวด เพราะคำที่เลือกใช้ไม่ใช่แค่คำอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นคำที่ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพ ต่างจากบทละครที่เล่าด้วยการกระทำของตัวละครและบทสนทนา ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร พูดอะไร พูดเพื่ออะไร เพราะฉะนั้นศาสตร์ของบทละครกับศาสตร์ของนวนิยายคือคนละเรื่องกันเลย ถามว่า เราชอบไหม ชอบนะ ยากได้ใจดี แต่ความยากแบบนี้อาจจะต้องใช้เวลาสักพักในการเข็นเรื่องใหม่ออกมา แต่ตั้งใจว่าจะต้องเขียนออกมาแน่ๆ ซึ่งตัวเองพยายามจัดสรรเวลาตรงนี้อยู่ ระหว่างการเขียนบทละครและการเขียนนวนิยายให้ออกมาอย่างสมดุล

          คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหัวใจฟรุ้งฟริ้ง
          ซิงเกิลมัม (คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว) เป็นสิ่งที่อยู่ในใจมานานมาก มีอยู่ช่วงหนึ่งมีความคิดอยากจะเป็นซิงเกิลมัม ด้วยปัญหาครอบครัวและสามีที่ไม่ลงรอยกัน จนเหมือนเตรียมตัวเองไว้เสมอว่า วันหนึ่งเราอาจจะต้องเป็นซิงเกิลมัม แต่ก็รู้ดีว่า การซิงเกิลมัมเป็นเรื่องที่เหนื่อยมาก มันเลยเป็นก้อนความรู้สึกที่คุกรุ่นอยู่ในจิตใจ จนวันหนึ่งได้คุยกับ ‘คุณเอิร์น-นิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล’ หลังจากเขียนบทเรื่อง ‘ก๊วนคานทองกับแก๊งพ่อปลาไหล’ จบ ตอนนั้นยังเป็นพล็อตเรื่องเพียงไม่กี่หน้า และตัวเองก็อยากเขียนเรื่องที่ดูจริงเหมือนก๊วนคานทองฯ ด้วย และตอนนั้นก็มีกระแส ‘อาเล็ก ธีรเดช’ กับ ‘จอย รินลณี’ ที่ผู้ชายหลงรักผู้หญิงที่แก่กว่า บวกกับเรื่องราวตัวเองเข้าไป คุณเอิร์นเลยบอกให้ไปพัฒนาต่อ จนได้เรื่อง ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหัวใจฟรุ้งฟริ้ง’ ออกมา

          มุลิลา : เสี้ยวหนึ่งในชีวิตจริง
          ตัวละครนำอย่าง ‘มุลิลา’ ตั้งต้นมาจากสิ่งที่เราเข้าใจ เราเห็นภาพชีวิตผู้หญิงคนนี้ชัดเจนว่า เขาเป็นเวิร์กกิ้งวูแมน (ผู้หญิงทำงาน) แล้วผู้หญิงแบบไหนสตรองพอที่จะลุกขึ้นมาขอหย่าได้ เพราะเราเข้าใจดีว่า การหย่าสามีในขณะที่มีลูกอยู่ ถือเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากมาก จนถึงวันหนึ่งมันต้องตัด เราเองยังใจไม่เด็ดพอเท่ามุลิลาเลย ด้วยความมีลูก ฉะนั้นตัวเองเลยเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของชีวิตมุลิลาเท่านั้น เพราะเราเห็นชัดและเข้าใจในภาวะของตัวละคร แต่อีกด้านหนึ่งของตัวละคร ก็ต้องขึ้นอยู่กับเรื่องว่า วางชีวิตเธอไว้แบบใด เพื่อให้เรื่องเดินทางและดำเนินต่อได้

          ‘ซิงเกิลมัม’ ในมุมมองของ ‘ต้นรัก’
          นับถือหัวใจคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวทุกคนที่ต้องผ่านความยากลำบากมามากมาย ไหนจะหัวใจลูก ไหนจะคำสบประมาท คำปรามาส และคำด่าต่างๆ ที่เลือกจะไม่รักษาชีวิตคู่เพื่อลูก มันเหมือนร่างของแม่ถูกแยกออกจากกันอย่างไรอย่างนั้นเลย ด้านหนึ่งก็ทรมานกับชีวิตคู่ อีกด้านหนึ่งก็ไม่อยากให้ลูกเจ็บปวด ซึ่งถ้าให้มองการตัดสินใจของซิงเกิลมัม เราวิเคราะห์ออกมาได้ 2 ประเภท คือ ทนไม่ไหวแล้วจริงๆ ถึงได้ก้าวออกมา กับ ไม่ทน โดยประเภทหลังอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ด่วนไปสักหน่อย ความอดทนมีน้อย ถ้าไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ ประเภทนี้เสี่ยงกับการเป็นคนเห็นแก่ตัวจริงๆ ถ้าคุณไม่ได้ลองอดทน
          ยกตัวอย่างเรากับสามี ตัวเองรู้สึกทนเหลือเกินกับความไม่ปรองดองกัน จนในวันหนึ่งลูกคนโตพูดประโยคหนึ่งขึ้นมาว่า “มาทำลายชีวิตหนูทำไม” ตอนนั้นลูกอายุ 6-7 ขวบได้ เชื่อไหม เหมือนเราถูกลูกชกหน้าอย่างจัง ภาพในอดีตย้อนกลับมารีรันใหม่ เท่าที่ผ่านมายอมรับว่า คิดถึงแต่ตัวเองจริงๆ พอลูกพูดแบบนี้เสร็จ เหมือนสติมันกลับคืนมาโดยไม่รู้ตัว พลิกจากที่เป็นคนอารมณ์ร้อน กลายเป็นใช้ความเมตตาดูแลซึ่งกันและกัน โดยมีลูกเป็นศูนย์กลาง อย่างที่ได้บอกไป ถ้าไม่อดทนและลองพยายามดูอีกสักตั้ง คุณอาจจะพลาดอะไรดีๆ ในชีวิตไปเลยก็ได้

          ‘ต้นรัก’ กับนิยามความเป็น ‘แม่’
          มันทำให้เราเป็นผู้เป็นคน ลูกทำให้เราเกิดใหม่ หรือถ้าให้มองในอีกมุมหนึ่ง ลูกคือแม่ของเรา เพราะเราเคยมีชีวิต มีทัศนคติ และมองโลกในอีกแบบ การที่เราตัดสินใจมีลูก เพราะรู้สึกว่า ชีวิตตัวเองไม่มีเป้าหมาย ไม่รู้หายใจไปเพื่ออะไร และชีวิตเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง โดยก่อนหน้าที่จะมีลูก เราใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยและตามใจตัวเองมาก ไร้วินัยและความรับผิดชอบแบบสุดๆ จนกระทั่งมีลูก ภายในเราเปลี่ยนหมดเลย เปรียบลูกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ปาน ที่ช่วยดึงชีวิตในขณะที่เรากำลังจะจม พลังของลูกจึงเป็นพลังที่แปลกและมหัศจรรย์มาก ที่ทำให้ชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงได้ถึงขนาดนี้

          นักเขียนลูกสองกล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ชีวิตมีความสุขมากๆ ที่ได้อยู่กับลูกๆ และทำงานที่ตัวเองรักไปด้วย ถึงแม้เมื่อก่อนจะเคยคิดและเลือกทางเดินที่ทำร้ายจิตใจลูกมาแล้ว แต่ด้วยพลังที่ยิ่งใหญ่ของลูก ทำให้ผู้เป็นแม่ยืนหยัดขึ้นมาอีกครั้ง เริ่มต้นชีวิตใหม่กับลูกและสามีแบบเข้าอกเข้าใจกันได้อย่างสวยงาม
          เป็นกำลังใจให้เธอ…ต้นรัก