The little prince วรรณกรรม วรรณกรรมคลาสสิค อองตวนเดอ แซงเตก ซูเปรี เจ้าชายน้อย

เจ้าชายน้อย วรรณกรรมเปลี่ยนความคิด ที่อ่านได้ทั้งชีวิต

Home / Editor Picks / เจ้าชายน้อย วรรณกรรมเปลี่ยนความคิด ที่อ่านได้ทั้งชีวิต

“เจ้าชายน้อย” (The Little Price หรือ Petit Price) วรรณกรรมฝรั่งเศสที่มีอายุมาถึง 76 ปี แล้วแต่ทว่าเนื้อเรื่องยังคงให้ข้อคิด สอนใจคนอ่านได้จนถึงปัจจุบัน ไม่มีคำว่าล้าสมัยเลย เชื่อว่าใครที่เคยได้อ่านวรรณกรรมเล่มนี้คงคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “เจ้าชายน้อย” คือวรรณกรรมที่ให้อารมณ์ ความรู้สึกหรือปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้อ่านไปตามช่วงวัยและประสบการณ์

“เจ้าชายน้อย” วรรณกรรมสุดคลาสสิกของ อองตวนเดอ แซงเตก-ซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1943 วางขายในร้านหนังสือของมหานครนิวยอร์ก แต่ในตอนแรกหนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจในวงแคบ เป็นที่รู้จักของผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม กระทั่งการจากไปของผู้เขียนที่กล่าวได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรม เครื่องบินตกในปี 1944 หลังจากนั้น 2 ปี สำนักพิมพ์ได้ปรับปรุงเจ้าชายน้อยโดยเรียบเรียงเอาเรื่องการตายของอองตวนเดอ แซงเตก-ซูเปรี เข้าไปเชื่อมโยงให้คนทราบว่าเขาคือตัวแทนของชายนักบินผู้โดดเดี่ยวและจากไป

“เจ้าชายน้อย” ว่าด้วยเรื่องเจ้าชายน้อย เด็กชายผู้มีผมสีทอง เขาตัดสินใจหนีดอกกุหลาบที่เขารักจากดาว B612 จนกระทั่งมาเจอกับนักบินที่ดันเครื่องบินตกกลางทะเลทรายซาฮาร่า ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนกัน ระหว่างนั้นก็มีเหตุการณ์มากมายที่ชวนให้ผู้อ่านค่อยๆ ทำความรู้จักตัวละครแต่ละตัวไปเรื่อยๆ

เนื้อเรื่องเรียบง่าย บรรยายได้เห็นภาพ แต่กลับแฝงไปด้วยปรัชญา ความคิด รวมไปถึงชีวิตของผู้เขียนที่บอกเล่าผ่านชายหนุ่มนักบิน ทำให้ “เจ้าชายน้อย” กลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่ถูกติพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ มากถึง 350 ภาษาและมียอดขายทั่วโลกมากกว่า 145 ล้านเล่ม มีการตีพิมพ์มากเป็นรองแค่คัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น

“เจ้าชายน้อย” วรรณกรรมที่ใครอ่านก็ตีความต่างกัน

ภาษาและการดำเนินเรื่องของ “เจ้าชายน้อย” นั้นเรียบง่ายแต่กลับเคยมีนักวิจารณ์กล่าวว่า วรรณกรรมเล่มนี้นั้นสำหรับผู้ใหญ่มันดูจะเด็กเกินไป แต่หากให้เด็กอ่านก็ดูจะเป็นหนังสือของผู้ใหญ่เกินไปเช่นกัน กระนั้นวรรณกรรมเล่มนี้กลับเป็นหนังสือที่คนอ่านแต่ละคนที่มีอายุ วัย ประสบการณ์แตกต่างกันจะตีความออกมาได้แตกต่างกัน หรืออาจกล่าวว่าประสบการณ์จะช่วยสอนทำให้ผู้อ่านซาบซึ้งถึงปรัชญาที่แฝงอยู่ในภาษาที่แสนเรียบง่ายของ “เจ้าชายน้อย” ได้มากขึ้น

อย่างเช่นตอนที่ชายหนุ่มในวัย 6 ขวบ พยายามวาดรูปงูกลืนช้างเข้าไป เขาถามผู้ใหญ่ว่าเห็นอะไร หากมองในมุมเด็กก็อาจจะมองว่าคือการตั้งคำถามของเด็กคนหนึ่งที่อาจมีฝีมือวาดรูปไม่ถึงขั้น จนผู้ใหญ่มองไม่ออก แต่เมื่อเราโตพอและเริ่มมีประสบการณ์ชีวิต เราอาจตีความฉากเรียบๆ นี้ว่าคือการที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งผ่านวัยแห่งจินตนาการมาจนมองทุกอย่างในชีวิตเป็นเรื่องจริงจัง จนไม่ได้มองโลกแบบเด็กน้อยอีกต่อไป หรืออาจตีความได้ว่าคนเราไม่ควรมองอะไรแบบผิวเผิน ด่วนตัดสินคนอื่นจากแว่บแรกที่เห็น

“เจ้าชายน้อย” ยังคงรอให้ผู้อ่านรุ่นใหม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางอันยาวไกลของเจ้าชายน้อย ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เชื่อว่าเจ้าชายน้อยจะให้บางอย่างกับคุณเมื่ออ่านจบ และให้บางอย่างที่แตกต่างออกไปเมื่ออ่านอีกครั้ง

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

https://themomentum.co/something-between-saint-exupery-and-the-little-prince/