10 วิธี กลเม็ด การอ่าน ทริค น่าเบื่อ วรรณกรรม วัยรุ่น หนังสือ หนังสือสอบ อ่านหนังสือ เทคนิค เบื่อหน่าย เอาตัวรอด ไลฟ์สไตล์

10 วิธีเอาตัวรอดจากหนังสือที่แสนจะน่าเบื่อ

Home / สารพันหนังสือ / 10 วิธีเอาตัวรอดจากหนังสือที่แสนจะน่าเบื่อ

          การอ่านควรมอบประสบการณ์ที่สนุกสนานมากกว่าความจืดชืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นกิจวัตรที่ต้องทำทุกวันด้วยแล้ว ความสนุกในสิ่งที่อ่านยิ่งจำเป็นเข้าไปใหญ่ แต่มองในภาพความเป็นจริง อาจหลีกเหลี่ยงกับการต้องเจอหนังสือที่น่าเบื่อไม่ได้ อ่านแล้วเข้าใจยาก ไม่เข้าหัว หลุดโฟกัสไปเลยก็มี บางทีพานให้เราไม่อยากอ่านหนังสือไปโดยปริยาย
          เราเลยจะขอนำเสนอวิธีพิชิตและเอาตัวรอดจากหนังสือที่น่าเบื่อเหล่านั้น ไม่แน่ว่าวิธีดังกล่าวอาจจะทำให้คุณจดจ่อและมีสมาธิมากขึ้นกับหนังสือที่คุณเบื่ออยู่ก็เป็นได้

          เคล็ดลับ 1 : มองหารูปแบบที่น่าสนใจ
          บางครั้งสิ่งที่อ่านอาจอยู่ในรูปแบบที่ไม่น่าสนใจ และไม่สอดคล้องกับความสนใจ สิ่งที่ต้องทำคือ ตรวจสอบดูว่า มีนักเขียนหรือบุคคลอื่นทำเนื้อหาแบบเดียวกันในรูปแบบอื่นหรือไม่ หาตามเว็บเสิร์ชเอนจินดูก็ได้ ไม่แน่ว่า คุณอาจเจอขุมทรัพย์จากข้อมูลเดียวกันในรูปแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจมากกว่า เช่น เฟซบุ๊คโพสต์ อินโฟกราฟิก บล็อก หรือวิดีโอ

          เคล็ดลับ 2 : รู้จุดประสงค์การอ่าน
          ตอบคำถามในใจให้ได้ก่อนว่า อ่านหนังสือเล่มนี้ไปเพื่ออะไร ถ้ามีจุดประสงค์ที่แน่ชัดแล้ว คุณจะกรองสิ่งที่ไม่ได้ใช้ออกไปเอง เพราะในหนังสือ 1 เล่มไม่จำเป็นต้องอ่านเพื่อรู้และบรรลุในทุกอย่าง มุ่งไปที่วัตถุประสงค์ที่ต้องการจากหนังสือเล่มนั้น เพราะนั่นจะเป็นแรงจูงใจในการก้ามข้ามความน่าเบื่อของหนังสือเล่มนั้นไปได้

          เคล็ดลับ 3 : สแกนให้ดีก่อนอ่าน
          การสแกนเนื้อหาก่อนอ่านจริง 1 รอบ ช่วยให้คุณรู้ก่อนว่า จะต้องเจอกับเนื้อหาประเภทใด สมองของคุณจะจัดการเรียงลำดับ ปรับเทียบ และประมวลผลก่อนลงมืออ่านจริง เพื่อให้คุณใส่ใจกับหัวข้อที่คุณกำลังสนใจเป็นพิเศษ วิธีการนี้ช่วยให้คุณอ่านในส่วนที่คุณต้องการรู้ได้เร็วขึ้น และรับมือกับส่วนข้อมูลที่ยากๆ หรือน่าเบื่อได้อย่างทันท่วงที

          เคล็ดลับ 4 : ใช้ปากกาหรือมือในขณะอ่าน
          อย่ามองข้ามมือหรืออุปกรณ์อย่างปากกาเด็ดขาด เพราะมือหรือปากกานี่แหละ คือการสร้างโฟกัสในการอ่านได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังสือที่ยากและน่าเบื่อ การเคลื่อนย้ายปากกาหรือมือไปพร้อมกับขณะที่อ่าน จะช่วยให้สายตายึดติดกับข้อความที่อ่านได้มากขึ้น และทำให้ประสิทธิภาพในการอ่านเป็นไปได้อย่างราบรื่น

          เคล็ดลับ 5 : จดระหว่างย่อหน้า
          ความน่าเบื่อและไม่เข้าใจในเนื้อหา ก่อให้เกิดการอ่านซ้ำในจุดเดิมหลายครั้ง ถ้าไม่อยากเสียเวลา แนะนำว่า เมื่ออ่านเนื้อหายากผ่านไป 1 ย่อหน้าแล้ว ลองจดบันทึกสิ่งที่อ่านภายใน 1 ประโยค ทำเช่นนี้บ่อยๆ กับย่อหน้าที่คุณคิดว่า เข้าใจยาก การจดบันทึกจะช่วยเก็บรักษาสิ่งที่คุณเข้าใจไว้ และไม่ต้องกลับไปเริ่มอ่านที่จุดเดิมใหม่

          เคล็ดลับ 6 : ทบทวนสิ่งที่อ่าน
          ยิ่งเบื่อ ต้องยิ่งทบทวนเพื่อให้จำได้ แต่การทบทวนต้องใช้วิธีที่สร้างสรรค์สักหน่อย อ่านช็อตโน้ตที่เขียนออกมาดังๆ วาดรูปและสร้างแผนผังมโนทัศน์ (Mind Mapping) ขึ้นมาประกอบ เพราะอ่านเนื้อหาน่าเบื่อมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องสร้างการทบทวนให้มีสีสันและชีวิตชีวามากขึ้นเท่านั้น โอกาสที่จะจำเนื้อหาที่อ่านได้มีค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

          เคล็ดลับ 7 : พักเป็นครั้งคราว
          หนังสือน่าเบื่อไม่เพียงแต่ใช้จิตจดจ่อเท่านั้น แต่ยังต้องใช้จิตสร้างแรงจูงใจด้วย โดย 50 นาทีเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการอ่านหนังสือ 1 เล่ม หลังผ่าน 50 นาทีไป ค่อยหยุดพักหรือทำอย่างอื่นเป็นเวลา 10 นาที แล้วมาอ่านใหม่ การพักผ่อนช่วงนี้ถือเป็นการผ่อนคลาย และปลุกเร้าให้ตัวเองหันกลับมาสู้กับความน่าเบื่ออีกครั้ง

          เคล็ดลับ 8 : สร้างรางวัลในการอ่าน
          การตั้งค่ารางวัลก่อนที่จะเริ่มอ่านหนังสือที่คิดว่าน่าเบื่อ เป็นวิธีการที่ดีไม่น้อยในการที่คุณจะเอาชนะมัน รางวัลดังกล่าวไม่ต้องเว่อร์ถึงขนาดตั๋วเครื่องบินไปกลับต่างประเทศ แค่น้ำส้มคั้น 1 แก้วหรือได้นอนแช่อ่างน้ำร้อน แค่นี้ก็สร้างแรงจูงใจในการอ่านได้มากโขแล้ว ซึ่งง่ายและสมควรต่อการได้รับหลังจากที่คุณอ่านเป็นระยะเวลานาน

          เคล็ดลับ 9 : หาบัดดี้การอ่าน
          บางครั้งการได้ยินมุมมองจากคนอื่น อาจทำให้หนังสือที่น่าเบื่อจากการอ่านคนเดียว กลายเป็นเรื่องที่คุยกันได้อย่างเมามัน เพราะการหาบัดดี้ในการอ่าน ไม่เพียงแค่สร้างความเข้าใจในการอ่านของคุณให้มากขึ้น มันยังช่วยให้เกิดความเพลิดเพลินในขณะที่พูดคุยหนังสือเรื่องนั้นอีกด้วย เรียกได้ว่า สองหัวดีกว่าหัวเดียว ยังไงล่ะ

          เคล็ดลับ 10 : ทำให้มันเป็นเกมซะเลย
          สมองมักผูกติดให้ชอบเรื่องบันเทิงและตื่นเต้นกับความท้าทาย การสร้างเกมเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่อ่าน จะช่วยแอบหลอกลวงสมองได้นิดหน่อยว่า เรากำลังเล่นมากกว่าอ่านหนังสืออยู่ เช่น เปิดหน้าต่อไป บรรทัดที่ 14 จะเป็นเรื่องความรักคุณในอนาคต หรือเปิดหน้าต่อไปจะเจอคำหรือประโยคนี้ซ้ำกี่ครั้ง ฟังดูเหมือนเด็ก แต่มันทำให้ใครหลายคนรอดพ้นจากความน่าเบื่อมาได้นักต่อนักแล้ว

          การใช้เคล็ดลับและเปลี่ยนมุมมองเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มความสุขท่ามกลางหนังสือที่น่าเบื่อของคุณได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะ

          ที่มา : irisreading