การอ่าน การเลือกหนังสือ ความรู้ ช่วงวัย นวนิยาย นิสัย รักการอ่าน วรรณกรรมเยาวชน วัยรุ่น หนังสือ อ่านหนังสือ อายุ อายุ 12 ปีขึ้นไป อายุ 3-5 ปี อายุ 6-11 ปี เด็ก เยาวชน เรื่องแต่ง

เลือกหนังสืออย่างไรให้เด็กติดใจการอ่านแบบงอมแงม

Home / สารพันหนังสือ / เลือกหนังสืออย่างไรให้เด็กติดใจการอ่านแบบงอมแงม

          “เด็กๆ มีแนวโน้มที่จะอ่านและชอบหนังสือที่พวกเขาเลือกเอง”
          
แคร์โรล รอสโก้ ประธานและซีอีโอ Reading is Fundamental (RIF) องค์กรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือของเด็กที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกากล่าวขึ้น ในฐานะที่เขาคร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังสือสำหรับเด็กเป็นระยะเวลายาวนาน หลังจากที่เขาคัดเลือกหนังสือเด็กให้เหมาะกับแต่ละช่วงอายุหลายพันหลายหมื่นเล่ม เขากลับค้นพบข้อมูลน่าสนใจบางอย่าง ที่เป็นเคล็ดลับให้กับผู้ปกครองทุกคนที่กำลังจะแนะนำหรือเลือกหนังสือให้กับเด็กๆ
          เขาบอกว่า แต่ละช่วงวัยมีความสนใจหนังสือที่แตกต่างกัน หากคุณจับจุดเด็กๆ ถูกต้องว่า เขาสนุกกับหนังสือประเภทใด ไม่แน่ใจว่าคุณอาจจะได้หนอนหนังสือน้อยคนต่อไปก็ได้ ใครจะไปรู้

ภาพหนังสือตัวอย่าง : ทั้ง 2 เล่มสามารถอ่านได้ที่ mbookstore

          เด็กอายุ 3-5 ปี
          หนังสือที่เด็กกลุ่มนี้ชอบจะเป็นหนังสือที่ทบทวนความรู้ และความคิดพื้นฐานเป็นหลัก เช่น เรื่องตัวอักษร ตัวเลข รูปทรง และสีต่างๆ ซึ่งนั่นช่วยให้เด็กย้อนรำลึกถึงสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ผ่านมา และเชื่อมโยงถึงสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงแต่หนังสือความรู้พื้นฐานเท่านั้น เด็กช่วงอายุนี้ยังชอบอ่านเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เพราะมันช่วยกระตุ้นให้เด็กตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกรอบตัวของพวกเขา เช่น รุ้ง 7 สี สัตว์ในฟาร์ม ชีวิตของมดตัวน้อย เป็นต้น
          หากเป็นเรื่องแต่ง เด็กอายุ 3-5 ปี จะชอบหนังสือภาพที่คมชัด มีสีสัน และน่าสนใจ ตัวละครภายในเล่มอาจเป็นวัยเดียวหรือสูงกว่าพวกเขาหน่อยก็ได้ หรือถ้าเป็นตัวละครสัตว์ที่ดูร่าเริง สนุกสนาน จะยิ่งเรียกแต้มการอ่านของเด็กให้มากขึ้นอีกเท่าตัว และสิ่งที่ผู้ปกครองต้องคำนึงถึงหนังสือเด็กอายุช่วงนี้คือ ทุกอย่างต้องง่าย อ่านได้เร็ว และจบในคราวเดียว เพราะเด็กช่วงวัยดังกล่าวไม่สามารถจับจดอยู่กับอะไรนานๆ ได้

ภาพหนังสือตัวอย่าง : เพื่อนผมเป็นหนุมาน สามารถอ่านได้ที่ mbookstore

          เด็กอายุ 6-11 ปี
          หนังสือที่เด็กกลุ่มนี้สนใจเริ่มจะขยับการเรียนรู้ขึ้นมาอีกหน่อย จะเป็นหนังสือที่มีสัดส่วนข้อความมากกว่าภาพประกอบ และภาพประกอบยังต้องมีสีสันดึงดูดใจเด็กอยู่ ส่วนข้อความที่ใช้ในหนังสือจะสอดแทรกคำที่ไม่คุ้นเคยไว้ เพื่อกระตุ้นให้เด็กสงสัย แล้วเกิดการถามผู้ปกครองเพื่อให้ได้รับคำอธิบาย ยกตัวอย่างเช่น หนังสือวิธีการทำอาหารอย่างง่าย หนังสือประดิษฐ์ของเล่นขั้นพื้นฐาน หรือหนังสือวาดรูปเบื้องต้น เพื่อให้เด็กเริ่มใช้ทักษะที่มีอยู่ในตัวเองมากขึ้น
          หากเป็นเรื่องแต่ง เด็กอายุ 6-11 ปี จะเริ่มมีความชอบเฉพาะตัว เช่น หนังสือที่ปรากฏตัวละครโปรดของเด็กๆ และหนังสือจากนักเขียนและนักวาดภาพประกอบที่ชื่นชอบ และที่สำคัญพวกเขาจะเริ่มช่างซัก ช่างถามมากขึ้น หนังสือส่งเสริมการพูดคุยและอภิปราย จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กกลุ่มนี้ เช่น เห็ดเกิดขึ้นได้อย่างไร อาชีพในเมือง ทำไมปลาถึงอยู่ในอ่างน้ำ เป็นต้น ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจและเตรียมรับมือกับคำถามเด็กเป็นพิเศษ

ภาพหนังสือตัวอย่าง : ทั้ง 2 เล่มสามารถอ่านได้ที่ mbookstore

          เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป
          หนังสือที่เด็กกลุ่มนี้สนใจจะเริ่มเข้าสู่วิชาที่เรียนในห้องเรียน เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคม และอื่นๆ หากเด็กสนใจวิชาไหน ให้ผู้ปกครองสนับสนุนหนังสือในหมวดนั้น นอกจากวิชาในห้องเรียนแล้ว ความรู้ทั่วไป เรื่องราวเบ็ดเตล็ดในชีวิตประจำวัน ก็กำลังเป็นที่จับตามองของเด็กกลุ่มนี้ หนังสือที่บอกข้อมูลอย่างไดโนเสาร์ เทศกาลประเพณีในไทย สุริยุปราคา ฯลฯ โดยเป็นข้อมูลที่มีความเฉพาะเจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะได้รับความนิยมอย่างยิ่งจากเด็กกลุ่มนี้
          ไม่เว้นแม้แต่อัตชีวประวัติคนดัง นิยายอิงประวัติศาสตร์ นิทานพื้นบ้าน และตำนานต่างๆ หนังสือเหล่านี้จะช่วยให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นกับสิ่งที่อ่าน และเปิดโอกาสให้เด็กเจอกับโลกใบใหม่ที่ตัวเองไม่เคยรู้มาก่อน ส่วนเรื่องแต่งนั้น อาจเป็นนวนิยายเล่มบางๆ ที่ให้ข้อคิดกับเด็กในการรับมือกับความท้าทายของชีวิต ซึ่งตัวละครในเล่ม ถ้าเป็นวัยใกล้เคียงกันได้จะยิ่งดี เพราะประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกัน จะทำให้เด็กมีอารมณ์ร่วมกับหนังสือเล่มนั้นมากขึ้น

          ทริปเล็กๆ น้อยๆ ในการเลือกหนังสือให้เด็กในแต่ละช่วงวัยนี้ ยิ่งทำให้รู้ว่า
          เลือกหนังสือตรงกับความสนใจมากเท่าไหร่ ยิ่งสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกน้อยมากขึ้นเท่านั้น

          บทความแปลและแก้ไขจาก : bhg