ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ หนังสือ หนังสืองานศพ

หนังสือผีสร้าง : บันทึกความดีของผู้วายชนม์ที่ไร้ลมหายใจ

Home / สารพันหนังสือ / หนังสือผีสร้าง : บันทึกความดีของผู้วายชนม์ที่ไร้ลมหายใจ

‘หนังสืองานศพ’ ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี หรือแท้จริงมาจากไหนกันแน่?

          คำว่า ‘หนังสืองานศพ’ (หรือบางคนเรียกว่า หนังสืออนุสรณ์งานศพ และหนังสือผีสร้าง) หลายคนอาจมองเป็นภาพแห่งความเศร้าโศกหรือหม่นหมอง ซึ่งแน่นอนว่าหนังสืองานศพในยุคปัจจุบัน จะจัดทำขึ้นเพื่อระลึกถึงประวัติและคุณงามความดีของผู้ที่จากไป อาจะกล่าวได้ว่าหนังสืองานศพนั้นมีเพียงแค่บ้านเราเท่านั้นที่จัดทำขึ้นมา บางคนอาจมองเป็นเรื่องของความเชื่อ ค่านิยม หรือประเพณี แล้วความเป็นจริง หนังสืองานศพมีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีที่มาจากไหนกันแน่?

          ‘หนังสืองานศพ’ มีจุดเริ่มต้นมาจากสมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยนั้นเวลาที่มีการจัดงานพระบรมศพหรืองานศพของเจ้านายชั้นสูง จะมีการทำของที่ระลึกที่เรียกกันว่า เครื่องสังเค็ด แต่ในตอนนั้นยังเป็นเพียงแค่การจดจารลงบนใบลาน และเปลี่ยนเป็นการพิมพ์ในเวลาต่อมา ซึ่งคนในสมัยนั้นจะนำความรู้มาจาก หอสมุดวชิรญาณ หรือหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน โดยมี สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ทรงรับเป็นพระธุระในการหาต้นฉบับหนังสือ เพื่อให้ทางเจ้าภาพนำไปพิมพ์เป็นหนังสืองานศพ

          ผู้วายชนม์บางคนได้รับเกียรติจากสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่ทรงพระนิพนธ์ประทานให้ หรือบางครั้งทางเจ้าภาพจะเป็นผู้เขียนให้ สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์ให้นั้น ก็จะมาจากความทรงจำของพระองค์ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็จะได้ญาติสนิทมิตรสหายหรือบุตรหลานของผู้วายชนม์เล่าถวาย และจะทรงเพิ่มในส่วนของประวัติทางเชื้อสายหรือบรรพบุรุษและเครือญาติของผู้วายชนม์ด้วย

          สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ หนังสืองานศพส่วนใหญ่จะจัดทำให้คนที่เป็นเพศชาย ว่ากันว่าในสมัยก่อนผู้วายชนม์ส่วนมากจะเป็นเพศชายที่ทำงานเป็นข้าราชการหรือมีตำแหน่งในระดับสูง และจากนั้นมาก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาของหนังสืองานศพมาเรื่อยๆ โดยเน้นไปที่ประวัติของผู้วายชนม์มากขึ้น มีการเปลี่ยนหน้าตาของหนังสือให้ดูมีสีสันมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่นิยมใช้สีขาว-ดำ

          บทบาทของหนังสืองานศพนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในยุคแรกเริ่มทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวในอดีตผ่านการเล่าประวัติผู้วายชนม์ที่เป็นบุคคลสำคัญ ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการบอกเล่าความเคารพนับถือ ความอาลัยที่ญาติพี่น้องมีต่อผู้ที่เสียชีวิต หรือการบอกแนวทางการใช้ชีวิตใต้ร่มเงาพระธรรม ไปจนถึงการให้ความรู้ทางการแพทย์ที่มีประโยชน์แก่ผู้ที่มีชีวิตอยู่ จะเห็นได้ว่า แม้บทบาทจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่คุณค่าของหนังสืองานศพก็ยังคงเห็นได้เป็นรูปธรรม นอกจากจัดทำขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่จากไปแล้ว ยังคงให้คุณค่าต่อคนรุ่นหลังได้ระลึกถึงอีกด้วย

แหล่งที่มา : midnightuniv