เฟมินิสต์
เฟมินิสต์ กับหนังสือวรรณกรรมคลาสสิค
ที่จะทำให้เข้าใจ เฟมินิสต์ มากขึ้น
หลังจากที่ Emma Watson ประกาศกร้าวอย่างเด็ดเดี่ยวว่า “ ฉันคือ Feminist ” ในโครงการ #HeForShe เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็น UN Woman Goodwill Ambassador ณ สำนักงานสหประชาชาติ (ปี 2557) นับเป็นอีกปรากฎการณ์สำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกจับตามอง “พลังหญิง” นี้อย่างน่าสนใจ
เฟมินิสต์ (Feminism) หรือแนวคิดพลังหญิงนี้ถูกเข้าใจในทิศทางลบตลอดมา หลายคนมองว่ามันคือลัทธิของผู้หญิงที่แสดงออกแบบแข็งกระด้าง ก้าวร้าว แปลกแยก และต่อต้านบทบาทที่สังคมกำหนด มันคือลัทธิที่สร้างขึ้นมาเพื่อตั้งแง่กับผู้ชายชัด ๆ! คนไทยเราอาจยังไม่ได้อินกับ “สตรีนิยม” นี้เสียเท่าไหร่ และหลายคนคงตกใจ ว่าทำไมกับอีแค่การแค่ประกาศตัวเป็น เฟมินิสต์ (Feminism) ของ Emma Watson ถึงกับทำให้เธอถูกขู่ปล่อยภาพนู้ด โดนกระหน่ำด่าทอ รวมไปถึงเกลียดชังและตั้งแง่
ว่ากันว่าแนวคิดพลังหญิง หรือ เฟมินิสต์ (Feminism) มีมาตั้งแต่ช่วยปลายศตวรรษที่ 19 ในแถบตะวันตก เป็นแนวคิดที่ว่าเพศหญิงควรได้รับสิทธิและความเท่าเทียมกับเพศชาย จึงก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทางสังคมเพื่อเรียกร้องสิทธิดังกล่าว ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุคสมัยหลักที่มีลักษณะเด่นชัด ได้แก่
FIRST-WAVE Feminism
ในช่วง FIRST-WAVE Feminism นั้นเป็นช่วงที่ผู้หญิงต้องการหลุดพ้นจากการควบคุมของผู้ชายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น พ่อ พี่ชาย น้องชาย หรือ สามี ที่ขีดกรอบเกณฑ์ว่าผู้หญิงจะต้องอยู่บ้าน ทำหน้าที่แม่บ้าน เป็น ลูกสาว พี่สาว หรือ น้องสาว และภรรยาที่ดี จนทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา, การเลือกตั้ง, สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานและหย่าร้าง รวมถึงการทำสงคราม
SECOND-WAVE Feminism (1960S)
เรียกได้ว่าเป็นด้านมืดของ Feminism เพราะเป็นการขยายกรอบเรียกร้องสิทธิ์ที่รุนแรงขึ้น จาก WAVE แรกที่ว่าด้วยเรื่องบทบาททางเพศสู่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเพศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศ สิทธิเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานและหย่าร้างที่รุนแรงขึ้น ค่าจ้างแรงงานที่ต้องเท่าเทียม และอื่น ๆ ยิบย่อย ซึ่งการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาส่วนตัว ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่สตรีโดยรวม ไม่ว่าจะเป็น สตรีชนชั้นล่าง สตรีต่างเชื้อชาติ หรือสตรีโสด

นอกจากนั้นยังมีลัทธิแยกย่อยจาก Feminism ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้ง ลัทธิต่อต้านผู้ชายหรือเกลียดผู้ชายจนทำตนเองให้ทำทุกอย่างเหมือนผู้ชายได้ ด้วยแนวคิด “ผู้หญิงสามารถทำทุกอย่างได้เท่าเทียมผู้ชาย” กลุ่มลัทธินี้จะไม่ค่อยทำตัวเองให้สวยเท่าไหร่ ไม่แต่งหน้า ไม่ใส่ส้นสูง หรือแต่งกายเปิดเผยสรีระ เพราะคิดว่ามันคือความต้องการของผู้ชาย อีกทั้งยังหัวรุนแรง แข็งกระด้าง ซึ่งลัทธิแยกย่อยที่ว่านี้นำไปสู่การเกิด BACKLASH หรือกลุ่มคนที่ต่อต้าน เฟมินิสต์ (Feminism) คือคนที่ไม่ชอบ Feminism ทั้งหมด (ไม่ได้แยกแค่ลัทธินี้) ทำให้ในช่วงนั้น “แนวคิดพลังหญิง” มีความหมายที่แย่และภาพรวมติดลบรุนแรงขึ้น
THIRD-WAVE Feminism (1990S)
THIRD-WAVE ก่อกำเนิดขึ้นในปี 1990 หลังจากสิ้นสุด SECOND-WAVE เป็นกลุ่มที่ออกมาต่อต้านแนวคิดของ SECOND-WAVE ซึ่งการเคลื่อนไหวของ THIRD-WAVE นั้นจะมีจุดเด่น คือ การใช้ความสวยให้เป็นอำนาจ จากเดิมที่ SECOND-WAVE ไม่สะดวกจะสวย เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ากลุ่ม เฟมินิสต์ (Feminism) ยุคใหม่มักรักสวยรักงาม ทั้งการแต่งองค์ทรงเครื่องให้สวย ภูมิใจในรูปร่างของตน และอวดสรีระความเป็นหญิง
แต่ที่ยังคงไว้เหมือนกับ FIRST-WAVE และ SECOND-WAVE คือแนวคิดการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ที่เริ่มไว้ เช่น สิทธิ์ทางการเมือง, สิทธิ์ในการทำงานและได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรม, สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์, สิทธิ์ในการสมรสและการลาคลอด, การทำแท้งตามกฎหมาย รวมถึงการรวมตัวทางสังคมและการปกป้องผู้หญิงและเด็กหญิงจากการข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และอื่น ๆ
THIRD-WAVE Feminism ถูกเรียกว่า “Lipstick Feminism” คือแนวคิดสตรีนิยมที่ต่อสู่เพื่อความเท่าเทียมและสิทธิ์ต่าง ๆ ที่พึ่งได้ แต่ก็ไม่หยุดที่จะสวย
Post-feminism

Post-feminism ปรากฏขึ้นครั้งแรกในบทความ “Voices From the Post-Feminism Generation” ของ New York Times (1982) เป็นบทความเกี่ยวกับ “ความคิดเห็นด้านลบของผู้หญิงยุคใหม่ (หรือยุคนั้น) ที่มีต่อ เฟมินิสต์ (Feminism) ซึ่ง Post-feminism จะหมายถึงการสิ้นสุดของการประท้วงรุนแรงของพลังหญิง เมื่อได้อยู่ในสังคมที่ไม่ปิดกั้นอีกต่อไป เช่น การมีโอกาสได้ศึกษา ทำงานด้วยความรู้ที่มี ได้รับเงินค่าจ้างอย่างเท่าเทียม หรือเรียกว่าได้อยู่ในสังคมเฉกเช่นมนุษย์อย่างเต็มตัว
Emma Watson ถือเป็น Post-feminism ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์สตรีด้วยลังหญิงทั้งหมดที่เธอมี ซึ่งการเป็น Feminism ในยุคปัจจุบันไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเกลียดชังผู้ชายหรือไม่ต้องการผู้ชายอีกแล้ว ในทางกลับกันคือผู้หญิงในแบบฉบับ Feminism จะเป็นผู้หญิงที่ภูมิใจในความเป้นผู้หญิงของตัวเองมากในทุกบทบาทที่ตนเองได้รับ ทั้งบทบาทภรรยา บทบาทแม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงความรวย สวย เก่ง แกร่ง เอาไว้ได้อย่างครบเครื่อง
นอกจาก Emma Watson แล้วในวงการวรรณกรรมก็มีงานเขียนหลายเล่มที่แฝงมุมมองของ เฟมินิสต์ (Feminism) ได้อย่างแนบเนียน เจ็บแสบ และคมคาย หลายเล่มที่เดียวที่ทำให้เราเห็นสาเหตุที่สตรียุคก่อนนั้นระดมพลังหญิงเพื่อทวงคืนสิทธิ์ที่ถูกลิดรอนของพวกเธอกลับคืน
Rupi Kaur กับ Milk and Honey
Milk and Honey หนังสือเล่มโปรดของ Emma Watson จากฝีมือการเขียนของ Rupi Kaur นักเขียนวัย 26 ปีที่สร้างคลื่นพลังหญิงตั้งแต่เปิดตัวในปี 2014 บทร้อยแก้วที่สวยงามแต่สร้างพลังมหาศาลเมื่อคนได้อ่าน แม้ข้อความบางตอนจะไม่สุภาพนัก ไม่นุ่มนวล อ่อนหวาน หรืออาจไม่ตรงใจผู้อ่านบางคนสักเท่าไหร่ แต่ก็นับได้ว่าเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ตอกย้ำความเป็น Feminism ได้อย่างชัดเจน
ร้อยแก้วเล่มนี้มันช่างแตกต่างจากเล่มอื่น ๆ ที่ฉันต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อคลี่คลาย เพราะร้อยแก้วของ Rupi Kaur ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อปิดบังความหมายหรือสร้างความคลุมเครือมากจนเกินไป ฉันไม่ชอบเท่าไหร่ที่จะพูดว่า Rupi Kaur ได้สร้างบทกวีที่ “เข้าถึงได้” เพราะมันเป็นความจริง (บทกวีของ Rupi Kaur กับภาพประกอบจาก Illustration ที่พอดีกรอบสี่เหลี่ยมของ Instagram) Rupi Kaur กล้าหาญมากที่เลือกหัวข้อเหล่านั้นมาตีแผ่ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย ๆ เลยจริง ๆ
Emma Watson (JULY 18)
Milk and Honey ประกอบไปด้วย 4 บทสำคัญได้แก่ ความรัก, การสูญเสีย, ความรุนแรง-ล่วงละเมิด และพลังหญิง ด้วยภาษาดิบ ๆ ของ Rupi ที่สะกิดอารมณ์คนอ่านได้ไม่ยาก กับภาพวาดลายเส้นง่าย ๆ แต่ความหมายทรงพลัง ความแข็งแกร่งที่ขมวดตัวอยู่ในความยืดหยุ่นของผู้หญิงเหล่านี้เองที่ทำให้เธอยังสร้างสีสันได้แม้ได้รับผลกระทบในชีวิตอย่างหนักหน่วง
หลายบทกวีถูกเขียนขึ้นมาจากมุมมองของผู้หญิงที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ เจาะลึกความเจ็บปวดรวดร้าว พรรณนาถึงความเปลี่ยนแปลงหลังสิ่งสวยงามได้จากไปอย่างสมบูรณ์ ความสัมพันธ์อันเลวร้ายกับผู้ชายคนสำคัญ ที่สร้างความเสียใจเศร้าสลด นำสู่ความแข็งแกร่งที่คนอ่านสามารถซึมซับได้จวบจนหน้าสุดท้าย อาจกล่าวได้ว่า Milk and Honey คือแรงบันดาลใจก้อนใหญ่ที่สะท้อนผ่านมุมมองของผู้หญิงผ่านประสบการณ์ร้าย ๆ อย่างการถูกกดขี่ โดนล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยการเผชิญหน้ากับปัญหา ค่อย ๆ เติบโต จนกระทั่งยอมรับมันได้ในที่สุด
Margaret Atwood กับ The Handmaid’s Tale และ Alias Grace
นอกจากนิทานของสองพี่น้องกริมม์ และนิทานของ แอนดรูว์ ลัง ที่มีตัวละครเอกหญิงกล้าหาญ บ้าบิ่น และฉีกกรอบเกณฑ์ความเป็นผู้หญิงที่สังคมกำหนด Margaret Atwood น่าจะเป็นนักเขียนชั้นครูคนสำคัญที่ฉีกกรอบเกณฑ์ผู้หญิงยุคเก่าจนแหลกละเอียด
ผู้หญิงในแบบฉบับวรรณกรรมของ Margaret Atwood อาจไม่ใช่ผู้หญิงที่อยู่ในกรอบ แต่กลับมีความฉลาด ใช้สติปัญญา กล้าหาญ และแข็งแกร่ง นี่คือการใช้พลังหญิง หรือ เฟมินิสต์ (Feminism) ที่แสดงให้เห็นผ่านวรรณกรรมชั้นครูอีกหนึ่งเรื่องที่ตีแผ่ความจริงในยุคที่ผู้หญิงถูกปิดหูปิดตาปิดปากอย่างสมบูรณ์แบบ ไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพใด ๆ พวกเธอถูกป้อนคำสั่งให้ทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ เสมือนถูกขโมยชีวิต ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ


The Handmaid’s Tale (1985) และ Alias Grace (1996) โดย Margaret Atwood เป็นเรื่องราวของสาวรับใช้ที่โดนกดขี่จากกฎเกณฑ์ทางสังคม ทั้งบทบาทความเป็นมนุษย์ที่ถูกลิดรอน รวมถึงความเป็นสตรีที่ถูกข่มเหงและล่วงละเมิด ถูกนำไปสร้างละครโทรทัศน์ในปี 2017
Sources:
-
Rupi Kaur’s “Milk and Honey”: Ringing in the Era of Feminist Literature
-
Thing Americans Are Shocked By in Europ
-
Emma Watson Honors Rupi Kaur’s ‘Milk and Honey’ with a Recommendation on Our Shared Self!
-
@emmawatson Instagram
-
Feminism
-
A brief history of post-war feminism in toronto
-
FEMME FEED | THIRD-WAVE FEMINISM, A GLOSSARY OF TERMS YOU NEED TO KNOW
-
The book that made me a feminist
ติดตามข่าวสารและซื้อหนังสือออนไลน์ผ่าน mbookstore