Dry&Wet mbookstore Move Publishing คุนิคะสึ ยามาชิตะ เทคนิคการทำงาน

คิดให้เหมือน ‘คุนิคะสึ ยามาชิตะ’ จะหัวร้อนหรือขั้วเย็น ก็ลงรอยกันได้ไร้ปัญหา

Home / Editor Talk / คิดให้เหมือน ‘คุนิคะสึ ยามาชิตะ’ จะหัวร้อนหรือขั้วเย็น ก็ลงรอยกันได้ไร้ปัญหา

เรียนรู้และรับมือความสัมพันธ์ของคนสองขั้ว ในแบบ คุนิคะสึ ยามาชิตะ

          ทุกที่ย่อมมีปัญหาและความไม่ลงรอยกันเสมอ ‘คุนิคะสึ ยามาชิตะ นักธุรกิจและนักพัฒนาทักษะบุคลากรชั้นยอดของญี่ปุ่น คือผู้ที่พบเจอปัญหาความไม่ลงรอยนี้ด้วยตัวเอง ซึ่ง 90% ของความเครียดเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะในที่ทำงาน สิ่งนี้ทำให้เขาค้นพบต้นเหตุของความไม่ลงรอยกัน นั่นคือลักษณะนิสัยของผู้ร่วมงานที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ Dry (คนหัวร้อน) และ Wet (คนขั้วเย็น)

          คุณยามาชิตะ บอกกับเราว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความเป็น Wet เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมที่ถูกปลูกฝังกันมา แต่ขณะเดียวกัน หากสถานการณ์บังคับให้เขาเป็น Dry เขาก็ต้องทำ เพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงรอย และให้งานเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้เขาเลือกที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งหมดลงในหนังสือ ‘Dry&Wet ทำงานกับคนหัวร้อนให้เป็น รับมือกับคนขั้วเย็นให้ได้’ ทาง MThai Book มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับคุณยามาชิตะ ซึ่งจากการพูดคุยทำให้เห็นภาพความเป็น Dry และ Wet อย่างชัดเจน

วัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้

          แรงบันดาลใจของการทำหนังสือเล่มนี้ มาจากการที่ผมได้ออกไปจัดกิจกรรม Training ให้กับบริษัทต่างๆ ทำให้ผมได้พูดคุยกับคนจำนวนมาก บุคคลที่ทำธุรกิจเข้ามาปรึกษา ส่วนใหญ่พวกเขาจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ผมเลยคิดว่ามันน่าจะมีอะไรสักอย่างที่เป็นคู่มือขึ้นมาเพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจกันมากขึ้น

ทราบมาว่า ส่วนหนึ่งมาจากคุณคากาวะ (เจ้านายและพ่อตา)

          ใช่ครับ คุณคากาวะถือเป็นคุณพ่อที่คอยสอน เป็นสิ่งที่ดีที่ผมได้เรียนรู้มา

เห็นบอกว่าตัวเองเป็นคนประเภท Wet

          ผมคิดว่ามันมาจากการที่เราได้รับการปลูกฝังมาเรื่อยๆ จากคนสมัยก่อน ที่มักจะบอกว่าเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะตัดสินใจทำอะไร ต้องคิดก่อนนะ อย่าเพิ่งทำอะไร คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลมาจากคนรุ่นเก่า ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงมีความเป็น Wet มากกว่า มันเป็นเหมือนวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่สอนกันมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น

ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา แก้ปัญหาหรือกลับมาลงรอยกันได้อย่างไร

          สมมติว่าเราเป็น Wet อยู่ แล้วมีคนที่เข้ามาคุยกับเรา คนนั้นก็จะรู้สึกว่าทำไมช้าจังเลย อยากได้การตัดสินใจที่เร็วกว่านี้ มีอะไรไม่พูดตรงๆ อ้อมอยู่นั่นแหละ ผมก็จะต้องเปลี่ยนตัวเองให้กลับไปเป็น Dry เพื่อตอบสนองกับคนตรงหน้าให้ถูกต้อง เพราะว่าเขาเป็น Dry ผมจะรู้ว่าความต้องการเขาคืออะไร ก็จะแก้ปัญหานั้นให้ถูกจุดที่สุด

เคยมีเหตุการณ์ไหน ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็น Dry บ้าง

          ผมจะเป็นก็ต่อเมื่อ ผมรู้สึกว่าทำงานไม่ได้ดั่งใจ มันไม่เป็นเหมือนที่เราคิดไว้ เพราะผมเป็น Wet ผมเลยแสดงพฤติกรรมของคนที่เป็น Wet ออกไป แต่ก็มีบางคนที่ไม่เข้าใจ พวกเขาไม่สามารถสัมผัสได้ถึงสิ่งที่ผมต้องการ ผมจึงต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Dry มันไม่ได้มาจากตัวผมเอง เพราะผมไม่สามารถรู้ได้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมาจากคนตรงข้ามที่ทำให้ผมต้องเป็น Dry

คนทั้ง 2 ประเภทนี้ (Dry และ Wet) มีจุดเชื่อมอะไรที่เหมือนกัน

          คนที่เป็น Dry ก็จะไม่ได้ชอบคนที่มีนิสัยเป็น Wet อยู่แล้ว หรือคนที่เป็น Wet ก็ไม่ได้ชอบคนที่มีนิสัยเป็น Dry แต่ว่าบางทีการที่พวกเขาต้องมาเจอกันตรงกลาง มันทำให้คนทั้ง 2 ประเภทนี้ต้องลองเปลี่ยนหรือสลับนิสัยของตัวเองดู ลองเป็น Dry สักหน่อยมั้ย หรือเพิ่ม Wet เข้ามาอีกนิด เผื่อว่าจะคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น ต่างคนต่างต้องเขยิบเข้ามาเพื่อพบกันตรงกลาง

ถ้ามองคนทั่วไป มองออกเลยไหม คนนี้เป็น Dry หรือ Wet

          ถ้าหากให้มองภายนอกอย่างเดียวว่าใครเป็น Dry หรือเป็น Wet ผมดูไม่ออกหรอก แต่ถ้าได้มีโอกาสพูดคุยด้วยในช่วงเวลาสั้นๆ ผมจะเริ่มรู้แล้วว่าคนนี้มีวิธีคิดยังไง เราควรจะต้องคุยกับเขาแบบไหน

อ่าน Dry & Wet แล้วจะได้อะไรบ้าง

          การอ่านหนังสือจบใน 1 เล่ม บางทีเราอาจจะยังนำไปปรับใช้อะไรไม่ได้มาก นอกจากว่าเริ่มมีสถานการณ์เข้ามา เช่น เราต้องเข้าไปคุยกับคุณ A B หรือ C และการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลมันจะทำให้เราเริ่มเข้าใจ สามารถดึงเทคนิคต่างๆ จากในหนังสือเอามาลองใช้ดู แล้วก็จะเริ่มเข้าใจเนื้อหาในหนังสือมากขึ้น ผมขอเปรียบเหมือว่ามันเป็นคู่มือแล้วกันครับ

กิจกรรมยามว่างที่ชอบทำมากที่สุด

          กิจกรรมยามว่างของผม ชอบเล่นกับลูกครับ มันสนุกมากครับ (หัวเราะ) แล้วผมก็ชอบอ่านหรือศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ให้ตัวเอง

บุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจ

          ผมชื่นชอบ ‘คุณเคน โมงิ เจ้าของหนังสือ ‘อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่ เขาถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางสมอง ผมรู้สึกว่าการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับสมองมันสนุกมาก แต่จริงๆ ก็มีหลายท่านที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ผมเลยให้ความสนใจเป็นพิเศษครับ

ทำไมคนไทยต้องอ่านหนังสือเล่มนี้

          ผมรู้สึกว่าคนไทยมีวัฒนธรรมที่คล้ายๆ กับคนญี่ปุ่น ก็คือนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ น่าจะมีคนที่มีความเป็น Wet ค่อนข้างจะเยอะ หากใครมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้หรือนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ ใช้แล้วได้ผลจริงๆ ก็อยากให้แนะนำเพื่อน ครอบครัว คนรัก เพื่อนร่วมงาน หรือใครก็ตาม ที่สามารถช่วยให้ทุกความสัมพันธ์มันดีขึ้นได้ อยากให้ทุกคนได้ลองอ่านจริงๆ ครับ

          ไม่ว่าเราจะเป็นคนหัวร้อนหรือคนขั้วเย็น เราสามารถปรับตัวเองเพื่อให้อยู่ร่วมกันตรงกลางได้เสมอ หากเราสามารถแก้ปัญหา ‘ความไม่ลงรอยและความเข้าใจผิด’ ได้อย่างที่คุณยามาชิตะ เล่าให้เราฟัง สังคมก็คงมีแต่ความสุข มาเรียนรู้วิธีการรับมือคนทั้ง 2 ประเภทนี้ด้วยการสั่งซื้อหนังสือ ‘Dry&Wet ทำงานกับคนหัวร้อนให้เป็น รับมือกับคนขั้วเย็นให้ได้’ ได้ที่ store.mbookstore