Library House Margaret Atwood The handmaid's tale นิยายแปล วรรณกรรมแปล เรื่องเล่าของสาวรับใช้ ไลบรารี่ เฮ้าส์

The Handmaid’s Tale เมื่อสิทธิสตรีถูกลิดรอน เสียงอ้อนวอนไร้ความหมาย

Home / Editor Picks / The Handmaid’s Tale เมื่อสิทธิสตรีถูกลิดรอน เสียงอ้อนวอนไร้ความหมาย

The Handmaid’s Tale เมื่อสิทธิสตรีถูกลิดรอน เสียงอ้อนวอนไร้ความหมาย

The Handmaid’s Tale เรื่องเล่าของสาวรับใช้ ผลงานการแปลจากสำนักพิมพ์ Library House ที่หยิบผลงานระดับมาสเตอร์พีชของ Margaret Atwood มาปัดฝุ่น ให้คุณเข้าใจชีวิตไร้สิทธิ์และเสียงของเพศหญิง ที่ถูกบดขยี้อย่างไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์

“ เกิดเป็นผู้หญิง แท้จริงแสนลำบาก” ..วลีที่พูดกันขำ ๆ แต่แฝงไปด้วยความตลกร้าย แม้ทั่วโลกจะตื่นตัวกับ “สิทธิสตรี” กันมากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว สำหรับประเทศไทย “สิทธิสตรี” กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกภาคส่วนเริ่มให้ความสำคัญ และถูกนำมาพูดถึงบ่อยครั้งในวงเสวนา บ่อยครั้งที่เราจะเห็นกลุ่มพลังหญิงออกมาเคลื่อนไหวเพื่อความชอบธรรมทางสังคมอย่างมุ่งมั่น เพื่อสรรสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของคนกลุ่มใหญ่ในอนาคต

The Handmaid’s Tale

หากย้อนไปในอดีต ก่อนที่เสียงของผู้หญิงจะมีความหมายมากขึ้นเหมือนในยุคปัจจุบัน ในยุคที่ผู้หญิงถูกปิดหูปิดตาปิดปากอย่างสมบูรณ์แบบ ไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพใด ๆ พวกเธอถูกป้อนคำสั่งให้ทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ เสมือนถูกขโมยชีวิต ไร้จิตวิญญาณ

วันนี้ BOOK.MTHAI จะพาย้อนรอยอดีตไปกับวรรณกรรมดิสโทเปียนชั้นบรมครู “The Handmaid’s Tale เรื่องเล่าของสาวรับใช้” ผลงานระดับมาสเตอร์พีชที่ถูกเขียนขึ้นในปี 1984 โดยนักเขียนชาวแคนาดา Margaret Atwood ซึ่ง สำนักพิมพ์ Library House นำมาปัดฝุ่นใหม่ให้คุณเข้าใจชีวิตที่ไร้ซึ่งสิทธิ์และเสียง ผ่านตัวละครหลักอย่าง “ออฟเฟรด” หนึ่งในสาวรับใช้ สัญลักษณ์ของเพศหญิงที่ตกเป็นเบี้ยล่างใต้อำนาจเผด็จการของรัฐบาลในสังคมดิสโทเปียแห่งอนาคต เธอและสาวรับใช้คนอื่น ๆ ถูกกระทำอย่างหยามเกียรติ ลดค่าความเป็นมนุษย์ซ้ำ ๆ . . เพียงเพราะพวกเธอเหล่านั้นเป็นผู้หญิง

ห้ า ม ฉ ล า ด

The Handmaid’s Tale

พวกเธอไม่ถูกอนุญาตให้อ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือแฟชั่นที่ถูกเผาทำลายทิ้งแทบไม่เหลือ ด้วยเหตุผลว่าเป็นสื่อชั่วร้ายที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงไร้ยางอายและหลงตัวเอง

ห้ า ม ขั ด ขื น

The Handmaid’s Tale

พวกเธอมีประโยชน์ที่สุดเพื่อใช้เพาะพันธุ์ เสมือน “เครื่องฟักไข่เดินได้” หากตั้งครรภ์ไม่ได้ก็ไร้ซึ่งประโยชน์ ถูกตราหน้าว่าเป็นคนบาป และส่งตัวไปทำงานหนักในคุก โดยสาวรับใช้ทุกคนมีหน้าที่ในการทำ “พิธี (Ceremony)” กับนายจ้าง การทำพิธี คือการร่วมเพศกับคนที่ไม่ได้สมรสอย่างถูกต้อง โดยให้สาวรับใช้นอนตรงหว่างขาของผู้เป็นภรรยานายจ้าง เลิกกระโปรงขึ้นไปเหนือเอว (ไม่ได้ถอดเสื้อผ้าทั้งหมด) จากนั้นจึงเริ่ม “พิธี” เสมือนสาวทั้งสองเป็นคนคนเดียวกัน

ห้ า ม ร ว ย

พวกเธอไม่มีสิทธิ์ครอบครองทรัพย์ใด ๆ ในชื่อของตัวเอง หลังรัฐบาลทหารเข้ามาปกครองในระบบเผด็จการ เงินของผู้หญิงที่ฝากไว้ในธนาคารและทรัพย์สินที่พวกเธอถือครองถูกยึดจนหมดสิ้น เพราะทางรัฐบาลเชื่อว่าหากมีทรัพย์สิน จะทำให้หญิงสาวเหล่านี้จองหองและไม่เชื่อฟังคำสั่ง

The Handmaid’s Tale

ห้ า ม ทํ า ง า น อื่ น
พวกเธอไม่ถูกอนุญาตให้ทำงานและมีบทบาทใด ๆ นอกเหนือจากการตั้งครรภ์ หากใครมีงานทำอยู่ก่อนหน้านี้ ก็จะโดนไล่ออกจากงานและถูกส่งตัวไปที่ Red Center เพื่อฝึกให้เป็น The Handmaid หรือสาวรับใช้ โดยจะต้องสวมชุดผ้าคลุมสีแดงยาวจรดเท้าปิดซ่อนร่างกายและหมวกบอนเน็ตสีขาว ซึ่งเป็นชุดเครื่องแบบที่รัฐบาลบังคับให้ผู้หญิงใส่ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการป้องกันอาชญากรรมทางเพศ (แต่กลับโดนกระทำทางเพศจากนายจ้าง)

The Handmaid’s Tale

ห้ า ม มี ป า ก เ สี ย ง
พวกเธอไม่มีปากมีเสียง แม้แต่ผู้เป็นภรรยาของผู้ชายเองก็ตาม อย่าง ภรรยาของนายจ้างของ “ออฟเฟรด” ที่แท้จริงแล้วเป็นคนหัวโบราณและมีค่านิยมแบบเก่า แต่การเปลี่ยนแปลงของรัฐ Gilead ทำให้เธอไม่สามารถทำตามใจปรารถนาได้ ถึงจะไม่เห็นด้วยตามกฎที่รัฐบาลออกคำสั่งมา แต่ทำได้เพียงแค่ปิดหูปิดตาปิดปากสนับสนุนสามี

The Handmaid’s Tale

The Handmaid’s Tale ไม่ใช่แค่วรรณกรรมที่อ่านเอาสนุกเท่านั้น แต่มันได้กลายเป็นวรรณกรรมคาดการณ์ที่เหตุการณ์ในเรื่องเคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วในทั่วทุกมุมโลกและอาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ เช่น ในปี 2017 ที่ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาพากันแต่งตัวเลียนแบบสาวรับใช้ในเรื่อง The Handmaid’s Tale (ชุดผ้าคลุมสีแดงและหมวกบอนเน็ตสีขาว) ในการประท้วงต่อต้านนโยบายของรัฐบาลในการปกครองของ โดนัลด์ ทรัปป์ ที่ออกกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพวกเธอ ด้วยการออกยกเลิกระเบียบสวัสดิการการคุมกำเนิดของนายจ้างทั่วสหรัฐ ซึ่งเรื่องราวช่างคล้ายคลึงกับ The Handmiad’s Tale อย่างน่าแปลกใจ

ไม่ใช่แค่ในครั้งนี้เท่านั้น เครื่องแต่งกายดังกล่าวจึงถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความไร้อิสรภาพและถูกขโมยความเป็นมนุษย์ในหลาย ๆ เหตุการณ์ทั่วโลก

The Handmaid’s Tale

แม้จะไม่ใช่วรรณกรรมที่อ่านง่ายนัก อีกทั้งเรื่องราวยังดำเนินไปอย่างเนิบช้า, แก่งแย่งชิงดีราวกับละครน้ำเน่าในบางตอน และตัวเอกอย่าง ออฟเฟรด อาจไม่ใช้ผู้หญิงดีเด่นอะไรจนน่าลุ่มหลงนัก แต่แก่นสำคัญของ The Handmaid’s Tale กลับย้ำเตือนให้ผู้คนตระหนักถึง “สิทธิสตรี” มากขึ้น รวมไปถึงความหลากหลายทางความเห็นที่มีต่อ “เฟมินิสม์” ( Feminism ) ว่าที่จริงแล้ว สิ่งที่เป็นอาวุธร้ายของสตรีจริง ๆ นั้นคือสิ่งใดกันแน่? ความฉลาด, เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ, อำนาจ หรือความเย้ายวนใต้กระโปรงกันแน่?

ทั้งหมดนี้ หาคำตอบได้ใน The Handmaid’s Tale ของสำนักพิมพ์ Library House เล่มนี้     ติดตามข่าวสารวงการหนังสือ ได้ที่ BOOK.MTHAI