Microsoft Xiaoice กวีนิพนธ์ ข่าวสาร คำประพันธ์ นวัตกรรม บทกวี ประเทศจีน ร้อยกรอง ระบบ AI วรรณกรรม หนังสือ เทคโนโลยี ไลฟ์สไตล์

วงการกวีจีนถกเถียงหนัก! ผลงานร้อยกรองที่แต่งด้วยระบบ AI

Home / Book News / วงการกวีจีนถกเถียงหนัก! ผลงานร้อยกรองที่แต่งด้วยระบบ AI

          บทกวีในความเข้าใจของคนทั่วไป คือการแต่งร้อยกรองขึ้นมาจากอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของกวี แต่ถ้าวันหนึ่งระบบคอมพิวเตอร์สร้างบทกวีขึ้นมาเอง คุณจะยังเอ็นจอยกับบทกวีที่อ่านหรือไม่

          ฝนตกในทะเล / นกในท้องฟ้า / คืนแห่งแสงสว่างและความสงบ / แสงแดด / ท้องฟ้าในขณะนี้ / ใจเย็น / ลมเหนือป่า / เมื่อฉันเจอโลกใบใหม่

          นี่คือ 1 ใน 139 บทกลอนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ เขียนโดย Xiaoice จากหนังสือชื่อ The Sunlight That Lost The Glass Window สำนักพิมพ์ Cheers Publishing ในกรุงปักกิ่ง ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 และเป็นครั้งแรกที่ทุกบทกวีแต่งโดยระบบ AI ของ Microsoft

          หลังจากหนังสือออกเผยแพร่ มีเสียงเซ็งแซ่จากวงการกวีนิพนธ์จีนมากมาย บางฝ่ายยอมรับในผลงานของ Xiaoice เพราะหวังว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยฟื้นฟูกวีโบราณในหมู่คนรุ่นใหม่ให้เป็นที่แพร่หลาย
          ศาสตราจารย์ ชาง ซงกัง (Zhang Zonggang) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบทกวี มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหนานจิง ในมณฑลเจียงซู กล่าวว่า “ผลงานจากระบบ AI ได้สร้างโลกบทกวีขึ้นมาใหม่ มนุษย์ที่ละเลียดบทกวีเล่มนี้ อาจเกิดสุนทรียะที่ต่างออกไปจากบทกวีดั้งเดิมที่มนุษย์แต่งขึ้น”
          ศาสตราจารย์ชางกล่าวต่ออีกว่า “บทกวีที่ยกขึ้นมา มีการอธิบายฉากค่อนข้างกระจ่าง บางวรรคอาจดูธรรมดา เช่น แสงแดดในคืนท้องฟ้าที่เงียบสงบ แต่บางวรรคก็เกินคาด ถือเป็นบทกวีแบบก้าวกระโดด คือเปลี่ยนคำในไม่กี่บรรทัด แต่กลับมีรสชาติแปลกใหม่ ชวนให้ลิ้มลองมากขึ้น”
          มู่ยี่ (Mu Ye) ประธาน Menglong Poetry Society ชุมชนกวีนิพนธ์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ออกมาพูดถึงบทกวี AI นี้ว่า “เราอาจยืนอยู่ในรุ่งอรุณแห่งบทกวียุคใหม่ บทกวีปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือคลาสสิคและสมัยใหม่ แต่ในอนาคต งาน AI-generated หรือ AI-assisted อาจรุ่งเรือง และกลายเป็นบทกวีประเภทที่ 3 ก็ได้”
          มู่ยี่กล่าวเสริมว่า “เดี๋ยวนี้หลีกเลี่ยงเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ได้ กวีควรยอมรับมากกว่าต่อต้าน วันนี้ AI อาจประพันธ์ได้ไม่ตรงต้นแบบบทกวีดั้งเดิม แต่ผลงานที่ผลิตโดยเทคโนโลยี ยังคงเหนือกว่ากวีผู้น่าสงสารในแง่ของโครงสร้างการประพันธ์และการเลือกคำ ลองนึกภาพดูว่า โลกที่ทุกคนมีเพื่อนไอทีที่สามารถเขียนบทกวีได้ นั่นอาจช่วยปลุกให้กวีที่นอนหลับอยู่ในใจของทุกคนตื่นขึ้นมา บรรเลงภาษาที่สวยงามให้กับโลกใบนี้ก็เป็นได้”

          ฝั่งสนับสนุนมองว่า บทกวี AI คือโลกใบใหม่ แต่ฝั่งอนุรักษ์นิยมมองว่า บทกวี AI คือขยะในโลกใบใหม่มากกว่า
          กวีจากเซี่ยงไฮ้ ดิง เฉ่ากั๋ว (Ding Shaoguo) บอกว่า “บทกวี AI เป็นศัตรูของศิลปะที่แท้จริง มันฆ่าศิลปะอันเป็นที่รักของเราได้เลย จากบทกวีโบราณหลายชิ้นที่ปรากฏ กวีสมัยก่อนอาศัยอยู่อย่างยากลำบาก บทกวีที่รังสรรค์จึงไม่ใช่แค่การเล่นคำ แต่มันคือจิตวิญญาณความเจ็บปวดและยากลำบากของกวีที่ผ่านมา”
          เขากล่าวทิ้งท้ายได้น่าสนใจว่า “คอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ใช้ชีวิต ไม่สามารถเขียนบทกวีได้”
          กวีจากมณฑลยูนนาน ยู่เจี้ยน (Yu Jian) ก็กล่าวถึงงานของ Xiaoice ว่า เป็นเรื่องที่แย่มาก
          “โทนเสียงและจังหวะกลอนดูปลิ้นไปมา ประโยคที่ใช้ผิวเผินและไม่มีจุดหมาย ไม่มีหลักและเหตุผลในการแสดงอารมณ์แต่อย่างใด ถ้าคอมพิวเตอร์เขียนบทกวีได้จริง คงเป็นโลกที่น่าเบื่อมาก”
          ฝั่งสนับสนุนมองว่า การใช้เทคโนโลยี AI อาจช่วยจุดประกายความสนใจในบทกวีจีนของคนหนุ่มสาวให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ฝั่งอนุรักษ์นิยมบอกว่า ถึงแม้จะสร้างประโยคได้จริง แต่อารมณ์และความรู้สึกที่ได้รับยังอีกห่างไกล มิหนำซ้ำยังทำลายแก่นแท้ของศิลปะที่เรียกว่า ‘กวี’ อีก ถึงขนาดพูดเป็นสำนวนจีนเลยว่า เหมือน ‘ลิงเล่นเปียโน’

          ต่างคนก็ต่างความคิด แต่สำหรับเรามันคือ บันทึกหน้าใหม่ในวงการวรรณกรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก จนต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป

          ที่มา : South China Morning Post
          ภาพ : South China Morning Post, zh.wikipedia, sohu