Reading Mania การศึกษา คลั่งการอ่าน สิ่งพิมพ์ อ่านหนังสือ

จริงหรือ…? ในอดีต “การอ่านหนังสือ” ถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ

Home / สารพันหนังสือ / จริงหรือ…? ในอดีต “การอ่านหนังสือ” ถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ

          ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่รวมถึงตัวของเราเอง จะต้องมีสมาร์ทโฟนพกพาติดตัวไปไหนต่อไหนเสมอ และการมีสมาร์ทโฟนก็ทำให้เกิดพฤติกรรมการเสพติดอื่นๆ ตามมาอีกเพียบ ทั้งเสพติดการเล่นโซเชียล เสพติดการถ่ายรูป ไม่ว่าจะถ่ายตัวเอง ถ่ายวิวสวยๆ ถ่ายรูปอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ฯลฯ แต่เชื่อไหมว่า เมื่อย้อนกลับไปกว่า 300 ปีก่อน คนยุคนั้นก็เคยคิดแบบนี้เหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากสมาร์ทโฟนเป็นหนังสือ

          ในช่วงคริสตศวรรษที่ 17-18 เป็นช่วงที่ธุรกิจการพิมพ์กำลังเฟื่องฟู โดยเฉพาะในประเทศยุโรป ประชากรส่วนใหญ่ในตอนนั้นเริ่มสนใจการอ่านมากขึ้น และหลายคนที่ได้รับการศึกษา (โดยเฉพาะผู้ชาย) ก็เริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น แต่ในยุคนั้นยังไม่มีร้านหนังสือแบบยุคนี้ วิธีการขายคือพ่อค้าต้องเอาหนังสือไปเดินเร่ขายตามบ้านต่างๆ และความเฟื่องฟูของธุรกิจขายหนังสือก็ทำให้โรงพิมพ์น้อยใหญ่ต่างผลิตหนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์บนกระดาษที่ราคาถูกมากๆ เพื่อให้ชนชั้นล่างเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย

การอ่านเคยถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่ดี?

          พอผู้คนเข้าถึงสิ่งพิมพ์เหล่านี้ได้มากขึ้น จนเรียกได้ว่าเกิดเป็นกระแส Reading Mania” หรือกระแส “คลั่งการอ่าน” ก็เริ่มมีคนกังวล และมองว่าชักไม่ดีแล้ว ซึ่งการตีพิมพ์สื่อที่ให้ความรู้ทำให้คนบางกลุ่ม เช่น ผู้นำทางศาสนาหรือชนชั้นศักดินาต่างๆ เริ่มกังวลใจว่าประชาชนจะรู้มากเกินไปและเริ่มตาสว่าง ซึ่งพวกเขาก็เดาไม่ผิดนัก เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่หลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีตัวแทนประชาชน แต่หลายประเทศก็ยังไม่ได้ใช้ระบบนี้ ฝ่ายปฏิวัติก็ใช้สื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้แหละในการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ ปลุกระดมประชาชนให้มาเปลี่ยนระบอบการปกครองกัน

          และอีกกลุ่มที่น่าจะโดนกีดกันจากการอ่านมากที่สุดคือ “ผู้หญิง” เพราะสมัยนั้นผู้หญิงยังไม่มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น และผู้หญิงน้อยคนมากที่อ่านหนังสือได้ พอผู้หญิงเข้าถึงสิ่งพิมพ์พวกนี้มากขึ้นก็ทำให้ผู้ชายบางคนเริ่มกลัวว่าพวกเธอจะลุกขึ้นมาขอออกเสียงบ้าง

          กระแสตื่นตัวต่อสิ่งใหม่ๆ ในแต่ละยุคสมัย แม้สิ่งนั้นจะต่างกัน แต่ก็ยังคงรูปแบบเดิม นั่นคือคนรุ่นใหม่ตามกระแส มองว่าเป็นเรื่องปกติ คนรุ่นเก่าต่อต้าน มองว่าเป็นอันตราย ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีข้อดีข้อเสียในตัวเอง จะห้ามไม่ให้ใช้โดยสิ้นเชิงก็คงไม่ได้ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือใช้อย่าง “พอดี” นั่นแหละถึงจะดีที่สุด…

 

ที่มา : historytoday และ gradestack