Egg Donor War Zone ชลันตี ชลันตี เฌอรีน สว่างวัฒนะ ธารดอกท้อ นักสิทธิมนุษยชน นักเขียน นิยายจีน ปริ๊นเซส ผู้หญิงขายไข่ พิมพ์คำ วรรณกรรม วัยรุ่น สถาพรบุ๊คส์ สัมภาษณ์ หนังสือ เขียนนิยาย ไลฟ์สไตล์

‘ชลันตี’ เมื่อนักสิทธิมนุษยชนขอออกโรงเขียนนิยาย

Home / สารพันหนังสือ / ‘ชลันตี’ เมื่อนักสิทธิมนุษยชนขอออกโรงเขียนนิยาย

          นักสิทธิมนุษยชน คงเป็นเหมือนตัวแทนมนุษยชาติที่ออกมาแก้ไขปัญหาด้านสิทธิและเสรีภาพให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลต่างๆ แถมยังส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของทุกคนให้เป็นไปตามทำนองคลองธรรม ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนที่ชื่อ ‘ชลันตี เฌอรีน สว่างวัฒนะ’ ก็ทำหน้าที่ตรงนี้ได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่เธอทำอย่างเต็มที่ไม่แพ้กัน นั่นคือ การเป็นนักเขียนนิยาย

          เธอผลิตผลงานออกมาหลายต่อหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายแนวจีนที่มีกลิ่นอายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ ‘ชลันตี’ ได้เข้าไปคลุกคลีและทำวิจัยในระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงเรื่องล่าสุดอย่าง ‘ผู้หญิงขายไข่’ ที่นำประสบการณ์ที่ได้ไปพบเจอในต่างประเทศล่าสุด ร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องราวให้ได้อ่านกัน
          ความสามารถรอบด้านขนาดนี้ ทำให้เราปล่อย ‘ชลันตี’ ไปจากลิสต์สัมภาษณ์ไม่ได้ จึงขอคุยกับผู้หญิงคนนี้อย่างเข้มข้นถึงการทำงาน เทคนิคการเขียน และชีวิตที่น่าตื่นเต้นของเธอ

          จาก War Zone สู่ Novel Zone
          เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เคยมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน แต่พอมาดูความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่า อาชีพนักเขียนมีเรื่องการเงินเป็นอุปสรรคอยู่ไม่น้อย เลยคิดว่า ไปทำอาชีพอื่นที่เลี้ยงชีวิตได้จริงๆ ดีกว่า และเมื่อถึงจุดที่มั่นคงแล้ว ค่อยกลับมาเขียนใหม่ก็ได้ ประจวบกับตอนนั้นทำงานหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสิทธิมนุษยชนและงานวิจัยด้านมนุษยวิทยาต่างๆ อีกทั้งจับผลัดจับผลูได้ไปทำงานอยู่ที่ตะวันออกกลาง
          ระหว่างที่ทำงานในเขต War Zone นั้น จำได้ว่าเครียดมาก ทั้งภาวะสงครามและความไม่สงบต่างๆ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อจิตใจแทบทั้งหมด จนต้องหาทางออกด้วยการปรึกษาจิตแพทย์ และได้คำแนะนำมาว่า ต้องทำอะไรสักอย่างที่ดึงตัวเองออกไปจากจุดนี้ให้ได้ เลยนึกถึงงานเขียนที่เคยฝันเมื่อตอนเด็กๆ ช่วงนั้นร่างไป เขียนไป ทำงานไป และมันก็ช่วยได้จริงๆ

          นิยายจีนคือจุดตั้งต้นการเขียน
          ตอนเด็กๆ ที่บ้านคุณลุงศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน โบราณคดีต่างๆ ของจีน จุดนั้นทำให้ซึมซับเรื่องราวของจีนมาตั้งแต่เด็กๆ โดยหลังจากทำงานที่ตะวันออกกลางแล้ว ก็ได้มีโอกาสไปรับงานวิจัยด้านมนุษยวิทยาที่จีน ซึ่งที่นี่เป็นอีกโลกหนึ่งเลยไม่เหมือนตะวันออกกลาง เพราะมันเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ กลุ่มชนเผ่า และชาติพันธุ์ต่างๆ ถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีในการเขียนนวนิยายของตัวเอง
          เดินทางจากจีน สู่มองโกล และทิเบต ก็ได้เรื่องราวทางวัฒนธรรมในแต่ละที่มาเขียน คือ 1 ที่ได้ 1 เรื่องเลยด้วยซ้ำ อย่าง ‘บุปผาซ่อนพิษ’ ก็ได้มาจากการเก็บข้อมูลในทิเบต หรือเรื่อง ‘ธารดอกท้อ’ ก็ได้มาจากความเชื่อและตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ในแถบมองโกล เรียกได้ว่า การย้ายโลกจากฝั่งหนึ่งมาอีกฝั่งหนึ่ง ช่วยให้เราตั้งต้นในเรื่องของการเขียนนิยายได้อย่างสวยงาม

          เมื่อก้าวเข้ามาสู่นิยายไทย
          หลายคนมองว่า พอเขียนนิยายจีนและข้ามมาสู่นิยายไทย กระบวนการเขียนน่าจะยากกว่าด้วยความที่ไม่คุ้นเคย แต่จะขอบอกไว้เลยว่า ไม่ยากเลย เพราะทุกเรื่องที่เขียนออกมาคือประสบการณ์จริง เกิดขึ้นในชีวิตจริง อย่าง ‘ผู้หญิงขายไข่’ ชีวิตของนางเอก คือชีวิตของตัวเองที่อาศัยอยู่ในอเมริกา ว่าผ่านความยากลำบากอะไรมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นล้างจานท่ามกลางหิมะ โดนเจ้าของร้านกลั่นแกล้ง ฯลฯ ชะตากรรมของนางเอก คือเหตุการณ์ความทุกข์ยากที่ตัวเองผ่านมาแล้วทั้งหมด
          ส่วนงาน Egg Donor ถึงแม้จะไม่ได้เป็น Egg Donor ก็จริง แต่ตัวเองก็รับผิดชอบงานด้านนี้ในเรื่องของการศึกษาและวิจัย ฉะนั้นเส้นเรื่องทุกอย่างคือความเรียลเกือบทั้งหมด การเขียนออกมาจึงง่ายมาก ความเป็นนิยายจีนและไทยไม่มีผลในเรื่องของการทำงาน และ ‘ผู้หญิงขายไข่’ ถือเป็นต้นฉบับที่เขียนได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยเขียนมา

          นักสิทธิมนุษยชนกับประโยชน์การเขียน
          ช่วยวางตัวละครได้กลมขึ้น โดยส่วนใหญ่นิยายไทยมักเป็นตัวละครแบน ขาว-ดำเห็นกันชัดเจน ดีก็ดีแสนดี ร้ายก็ร้ายโจ่งแจ้ง การที่ตัวเองทำงานและเดินทางมารอบโลก เจอคนมาร้อยพ่อพันแม่ มันทำให้รู้ว่า ทุกคนเป็นสีเทา คือไม่มีดีหรือเลวร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจเจือขาวบ้าง หรือปนดำบ้างในแต่ละคน มีทั้งที่ดีต่อหน้า และก็แทงลับหลังอยู่มากมาย ซึ่งการจะวางมนุษย์คนหนึ่งลงไปในนิยาย ควรเคารพความเป็นมนุษย์จริงๆ ของเขาด้วย ยิ่งถ้าเอาชีวิตจริงมาเขียน ก็ควรต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของตัวละครให้มากขึ้นด้วย

          แนวทะเลทรายคือเป้าหมายต่อไป
          แนวทะเลทรายที่อยากจะนำเสนอ ไม่ใช่แนวทะเลทรายแบบที่ทุกคนเคยอ่าน ไม่ใช่แนวชีคแบบโรแมนติก แต่เป็นแนวทะเลทรายที่เกิดขึ้นในเขตสงคราม (War Zone) พระเอกไม่ใช่ชีค แต่เป็นทหารอเมริกัน นางเอกไม่ใช่เจ้าหญิง ไม่ใช่สาวไทยที่ไปเดินเล่นกลางทะเลทราย แต่เป็นนักสิทธิมนุษยชน ที่ความรักก่อตัวขึ้นท่ามกลางไฟสงครามกลางทะเลทราย ความรักจะอุบัติขึ้นท่ามกลางสงครามบนผืนทราย คิดไว้คร่าวๆ แล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มต้นจริงจัง พอถามมาแบบนี้ ท่าทางจะได้ไปต่อยอดเรื่องนี้สักที

          แค่แนวคิดนิยายเรื่องต่อไปก็แหวกแนวแล้ว คงต้องจับตามองต่อไปว่า จะมีผลงานชิ้นใดมาทำให้ประหลาดใจอีก แต่แน่นอนว่า นักสิทธิมนุษยชนคนนี้จะยังคงเขียนต่อไป ไม่มีคำว่าหยุดยั้ง
          
ซึ่งคำถามทิ้งท้ายคือ เธอถนัดงานเขียนประเภทไหนที่สุด คำตอบนี้คงเป็นบทสรุปการทำงานและการเขียนของเธอได้เป็นอย่างดี
           “ถนัดทั้งหมด เพราะว่ามันคือสิ่งที่รัก สิ่งที่รักไม่จำเป็นต้องมีแค่อย่างเดียว”