นักเขียน บรรณาธิการศึกษา มกุฏ อรฤดี ระบบหนังสือแห่งชาติ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

มกุฏ อรฤดี : ผู้สร้างชาติด้วยระบบหนังสือ และความหวังแห่งการหว่านเมล็ดพันธุ์การอ่าน

Home / Editor Talk / มกุฏ อรฤดี : ผู้สร้างชาติด้วยระบบหนังสือ และความหวังแห่งการหว่านเมล็ดพันธุ์การอ่าน

เบื้องหลังความคิดของคนทำหนังสือ ‘มกุฏ อรฤดี’ ในฐานะผู้สร้างชาติด้วยระบบหนังสือ

          ‘มกุฏ อรฤดี’ คนทำหนังสือที่เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของระบบหนังสือแห่งชาติมาเกินกว่าครึ่งชีวิต และทำการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการอ่านไปทั่วทุกพื้นที่ ด้วยความคิดที่ว่า อาจมีใครบางคนมองเห็นความสำคัญของมัน ยอมดูแลรักษาเมล็ดพันธุ์นี้ให้เติบโตสมบูรณ์ เขาจึงเดินทางไปทั่วประเทศจนมองเห็นปัญหาของการอ่าน อีกทั้งยังเปิดหลักสูตรบรรณาธิการศึกษา เพื่อสร้างกลุ่มคนทำหนังสือในการช่วยผลักดันอีกแรง ไม่ใช่คนไทยไม่อ่านหนังสือ แต่หนังสือกลับเข้าไปไม่ถึงความต้องการของคนบางกลุ่ม ปัญหานี้ได้กระจายไปทั่วทั้งประเทศ อาจดูยากเกินกว่าจะแก้ด้วยซ้ำ และแม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 55 ปี เขาก็ยังพยายามต่อสู้ด้วยการใช้ระบบหนังสือแห่งชาติเสมอมา

รางวัลมีผลอะไรกับชีวิต ใช้มันทำหน้าที่อะไรบ้าง

          รางวัลทำให้มีโอกาสได้พูดให้คนที่เกี่ยวข้องได้ฟัง ปกติจะพูดอยู่คนเดียวเลยไม่รู้ว่ามีคนฟังบ้างหรือเปล่า จริงๆ ไม่ได้ใช้มันทำหน้าที่หรอก บังเอิญเขาเลือกเรา เราก็รับ ทำให้มีช่องทางได้ออกมาพูดให้คนที่เกี่ยวข้องได้ฟัง ถ้าให้นับว่าเคยได้มากี่รางวัลแล้ว ไม่เคยนับเลย (หัวเราะ)

ภาพความเปลี่ยนแปลงของระบบหนังสือแห่งชาติที่พยายามผลักดัน

          มันยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย นับตั้งแต่ที่พยายามศึกษามาเป็นเวลากว่า 55 ปี ครูศึกษาเรื่องนี้มานานแต่ก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านยังไม่มีโอกาสเหมือนกับ 55 ปีที่แล้ว ชาวบ้านยังเข้าถึงความรู้ได้ไม่เท่า 55 ปีที่แล้ว

ผลลัพธ์ที่ได้น่าพอใจมากน้อยแค่ไหน

          ไม่มีอะไรน่าพอใจเลย จะว่าไปแล้วมันแย่ยิ่งกว่า 55 ปีที่แล้ว ตรงที่ว่าขณะนี้ระบบหนังสือมันทำให้หนังสือที่เป็นกระดาษล้มหายตายจากไป อย่างเช่นนิตยสารที่ชาวบ้านอ่าน ที่พวกเขาเคยได้ความรู้มันได้หายไปหมดแล้ว พอสื่อเหล่านั้นหายไปหมดก็เท่ากับว่าชาวบ้านขาดโอกาสจะได้อ่านข้อความข่าวสาร

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ลงทุนลงแรงก่อตั้งหลักสูตร ‘บรรณาธิการศึกษา’ ขึ้นมา

          อันที่จริงแล้วหลักสูตรบรรณาธิการเกิดขึ้นก่อนที่จะมีระบบหนังสือแห่งชาติ หลักสูตรบรรณาธิการเกิดขึ้นจาการที่เราเห็นระบบหนังสือแห่งชาติ ซึ่งเราจะต้องมีความรู้ก่อน ต้องมีคนที่จะเข้ามาเรียนเพื่อออกไปประกอบอาชีพ หรือที่เรียกว่าวิชาชีพ เมื่อไรที่หนังสือเป็นวิชาชีพก็จะต้องมีโรงเรียนสอนวิชาหนังสือ เมื่อเขาเรียนจบ เราจะเรียกเขาว่าเป็นนักประกอบอาชีพวิชาหนังสือ มันจึงจำเป็นต้องมีหลักสูตรนี้อยู่ในมหาวิทยาลัย เพื่อจะสอนวิชาแก่คนให้ไปประกอบอาชีพ หรือเรามีโรงเรียนแพทย์ เพื่อให้ออกไปประกอบอาชีพแพทย์

หลักสูตร ‘บรรณาธิการศึกษา’ หรือที่เรียกว่า ‘โรงเรียนวิชาหนังสือ’ มีวิธีการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนใคร

          มันไม่เหมือนตรงที่ว่า คนทำหนังสือคือคนทำเครื่องมือของความรู้ คนที่ทำงานเครื่องมือของความรู้จะต้องก้าวนำกว่าคนอื่นไปอีกไกลหน่อย ไม่ใช่ก้าวเท่ากับคนอื่น เพราะฉะนั้นมันจะต้องมีวิธีคิด เพื่อที่จะให้พวกเขาคิดเพื่อคนอื่นทั้งสิ้น เราพยายามวางรูปแบบให้คิดตั้งแต่เริ่มเรียน จนกระทั่งถึงเวลาสอบ คุณก็ต้องคิดข้อสอบเอง คุณตอบข้อสอบเอง ต้องคิดเองทุกอย่าง ต้องมีความรับผิดชอบ มีความละเอียดอ่อน ความอดทน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อยู่ในระบบการเรียนการสอนที่มันไม่เหมือนวิชาอื่น ซึ่งวิชาอื่นอาจจะมีหลักสูตรหรือทฤษฎีตายตัว เราก็เรียนตามคู่มือ วิชานี้อาจจะไม่มีคู่มือ แต่อาศัยจากความผิดพลาดมาเป็นแบบเรียน

บทบาทการเป็น ‘บรรณาธิการ’ กับ ‘อาจารย์’ ต่างกันมากน้อยแค่ไหน

          มันยากด้วยกันทั้งคู่นั่นแหละ การเป็นบรรณาธิการคือการทำงานหนังสือเพื่อรับผิดชอบคน จำนวนเท่าไรเราไม่รู้ หนังสือเล่มนี้อาจพิมพ์ไปหมื่นเล่ม คนอ่านจะเป็นแสนเป็นล้านเราก็ไม่รู้ นั่นหมายความว่าเราจะต้องรับผิดชอบคนเหล่านั้น ความถูกต้องจึงต้องมี ส่วนการเป็นครูสอนวิชาบรรณาธิการศึกษา เราสอนคนที่จะจบออกไปทำงานรับผิดชอบ ถามว่ามันรับผิดชอบเหมือนกันไหม อันที่จริงครูสอนวิชาบรรณาธิการศึกษามันมากกว่าตรงที่ว่าคนที่จะออกไปรับผิดชอบ ถ้าเราสอนผิด เขาก็จะรับผิดชอบแบบผิดๆ เขาก็จะทำหนังสือผิด ตีความผิดออกไปกว้างใหญ่ไพศาล

เอกลักษณ์ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อคืออะไร

          มีผีเสื้ออยู่ตัวหนึ่ง (หัวเราะ) แต่ที่บางคนมองว่าคือการใช้กระดาษถนอมสายตาบ้าง การตัดขอบกระดาษหนังสือให้มนบ้าง หรือการเย็บกี่สันหนังสือบ้าง สิ่งนั้นเป็นข้อปลีกย่อย ครูมองว่าหนังสือมันต้องถูกต้องดีงาม สวยงาม เอื้อประโยชน์แก่คนทั้งหลายได้ นั่นคือเอกลักษณ์ที่ครูคิดว่ามันควรจะเป็น หนังสือมันต้องเป็นหนังสือ ไม่ใช่มีใครสักคนมาหยิบดูแล้วบอกว่าเหมือนขยะ อย่างนั้นมันก็เสียไปหมด

เคยมีความคิดที่จะเกษียณตัวเองบ้างไหม

          เวลาเราตายแล้วเราก็ต้องหยุดทำงานใช่ไหม (ยิ้ม) เพราะฉะนั้นอายุการทำงานของครูคือตายแล้ว จะหยุดทำก็ต่อเมื่อตายแล้วเท่านั้น

คาดหวังอะไรจากคนรุ่นใหม่

          หวัง หวังเยอะแยะเลย หวังที่จะให้ช่วยดูแลประเทศชาติด้วยวิชาความรู้ ด้วยความคิด ด้วยสมอง ด้วยสติปัญญา ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ครูพยายามบอก จะสังเกตได้ว่าครูพยายามเล่นกับเด็ก เพราะว่าเด็กจะต้องดูแลประเทศชาติในอนาคต คนพวกนี้แหละจะต้องรับผิดชอบประเทศชาติ ครูจึงคาดหวัง

สิ่งที่ตัวเองคาดหวังมากที่สุดในตอนนี้

          สิ่งที่คาดหวังคือการทำงานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในพละกำลังที่ครูมีอยู่


          ตลอดชีวิตของการเป็นคนทำหนังสือ เขายังคงมีความหวังอยู่เสมอ แม้ว่าอาจเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากก็ตาม คนทำหนังสือ คนอ่าน และเราทุกคน จะเฝ้าดูเมล็ดพันธุ์แห่งการอ่านในระบบหนังสือแห่งชาตินี้ไปด้วยกัน และขอให้เชื่อมั่นว่าสักวันจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

ข้อมูลเพิ่มเติม

‘มกุฏ อรฤดี’ กับหน้าที่ในปัจจุบัน

  • เป็นบรรณาธิการบริหาร บรรณาธิการต้นฉบับ บรรณาธิการต้นฉบับแปล ในครอบครัวสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
  • เป็นอาจารย์พิเศษ วิชาบรรณาธิการศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เป็นอาจารย์พิเศษ หลักสูตรการแปล ปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • เป็นประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอนโยบายระบบบริหารจัดการหนังสือและส่งเสริมการอ่าน กระทรวงศึกษาธิการ

รางวัลที่ได้รับ

  • รางวัลหนังสือ จากการประกวดหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหลายรางวัล ระหว่างช่วง พ.ศ. 2521 – 2532
  • รางวัลตุ๊กตาทอง (พระสุรัสวดี) บทประพันธ์ยอดเยี่ยม ภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ จากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2528
  • ได้รับยกย่องให้เป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2551 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
  • รางวัลช่อการะเกดเกียรติยศ ประจำปี พ.ศ. 2553 จากสำนักช่างวรรณกรรม
  • รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2555
  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2555
  • อิสริยาภรณ์ศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ชั้นอัศวิน (Chevalier de l’Ordre des Arts et des Lettres) พ.ศ. 2556 ของรัฐบาลฝรั่งเศส
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. 2556 ของประเทศไทย
  • ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาไทย) พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ประจำปี พ.ศ. 2561