การเขียนหนังสือ นักเขียน วิถีนักเขียน แรงบันดาลใจ

เป็นนักเขียนต้องมีสไตล์ : วิถีนักเขียนระดับโลกกับสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร

Home / สารพันหนังสือ / เป็นนักเขียนต้องมีสไตล์ : วิถีนักเขียนระดับโลกกับสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร

ตามไปดู! วิถีนักเขียนระดับโลกที่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นเหมือนสิ่งที่เราคิดไว้

          อาชีพ ‘นักเขียน’ กว่าจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้แต่ละชิ้น จะต้องใช้ความคิดและจินตนาการมากแค่ไหน บางเรื่องต้องใช้เวลานานกว่าจะกลายเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ให้เราได้อ่าน แต่สำหรับนักเขียนระดับโลกเหล่านี้ พวกเขามีสไตล์ในการใช้ชีวิตแตกต่างกันออกไป ในกิจวัตรประจำวันนั้น พวกเขาไม่ได้ทุ่มเทให้กับการเขียนทั้งหมดเหมือนที่หลายคนเข้าใจ เพราะสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญคือการสร้างแรงบันดาลใจในการเขียนมากกว่า งั้นเรามาดูวิถีนักเขียนระดับโลก ว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับอะไร และใช้สิ่งใดเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์

สร้างจินตนาการแห่งการรอคอย เพื่อกระตุ้นความรู้สึก

          นักเขียนชื่อดังระดับโลกอย่าง ‘เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์’ ชอบการเขียนหนังสือตอนเช้า เรียกว่าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งก่อนจะลงมือเขียนเขาจะอ่านทวนงานก่อนหน้านั้นทุกครั้ง เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองจะดำเนินเรื่องไปตรงจุดไหนต่อ เทคนิคสำคัญของเขาคือทุกครั้งที่จะหยุดเขียน เขาจะทิ้งท้ายสถานการณ์นั้นไว้เพื่อให้รู้ว่าในวันต่อไปจะเขียนอะไร โดยเวลาที่ชอบเขียนมากที่สุดก็คือช่วงเวลา 6 โมงเช้าเป็นต้นไป จากนั้นจะหยุดตัวเองทันทีเพื่อให้รู้สึกว่าเหมือนตัวเองกำลังรอคอยสิ่งสำคัญอยู่ และเมื่อถึงเวลานั้นจะยิ่งมีคุณค่าหลายเท่าตัว

ดอน เดอลิลโล่

ธรรมชาติและบรรยากาศในฝัน คือพลังจุดไฟการเขียน

          ‘ดอน เดอลิลโล่’ ชอบเขียนหนังสือตอนเช้า โดยจะใช้เวลาในการเขียนอยู่ประมาณ 4 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงออกไปวิ่ง บางคนอาจมองเป็นกิจวัตรที่ดูน่าเบื่อ แต่สำหรับเขามันเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่ได้เห็นธรรมชาติ ซึ่งหลังจากที่วิ่งเสร็จก็จะกลับมาเขียนหนังสือต่อในช่วงบ่ายประมาณ 2-3 ชั่วโมง เมื่อหมดเวลาของการเป็นนักเขียน สิ่งถัดมาที่จะทำคือการเป็นนักอ่าน โดยจะไม่มีกำหนดเวลาตายตัว แต่สิ่งที่เขาปรารถนามากที่สุดคือ การได้อยู่ในบรรยากาศที่เงียบสงบ ได้นั่งอ่านหนังสือดีๆ สักเล่มที่ใช้ภาษาสวยงาม เพื่อศึกษาการใช้คำไปในตัว และบุคคลที่เขามองเป็นต้นแบบก็คือนักเขียนชาวอาร์เจนติน่า ‘คอร์เค ลุยส์ บอร์เคส’ สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างสรรค์งานเขียนและงานศิลปะได้อย่างมีคุณค่า

ฮารูกิ มูราคามิ

การเขียนคือระบบสำคัญของร่างกายที่ขาดไม่ได้

          ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ นักอ่านสายตื่นเช้า เพราะเขาจะตื่นมาเขียนนิยายตั้งแต่ตี 4 และจะใช้เวลาเขียนประมาณ 5-6 ชั่วโมงในทุกวัน พอถึงช่วงบ่ายก็จะออกไปวิ่งข้างนอกให้ได้ 10 กิโลเมตร หรือว่ายน้ำให้ได้ 5,000 เมตร หลังจากการออกกำลังกายเขาจะเปลี่ยนตัวเองมาเป็นนักอ่านอย่างเต็มตัว บางครั้งก็จะเปิดเพลงฟังเพื่อสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย นอกจากจะตื่นเช้าแล้วยังนอนเร็วอีกด้วย โดยที่เขาจะเข้านอนไม่เกิน 3 ทุ่ม และทำเช่นนี้ทุกวัน เพราะเขาเชื่อเรื่องระบบวงจรของร่างกายอย่างมาก การทำทุกอย่างเป็นระบบจะทำให้ร่างกายจดจำและปรับตัวได้กับทุกสภาพแวดล้อม

สตีเวน คิง

การเขียนต้องมาจากความรู้สึก ไร้การบังคับ ไร้การควบคุม

          สำหรับราชานักเขียนนิยายสยองขวัญ ‘สตีเวน คิง’ ค่อนข้างมีความเป็นศิลปินในตัวเองสูง เพราะเขาจะไม่มีเวลาในการเขียนที่เฉพาะเจาะจง ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่อารมณ์ล้วนๆ หากอยากเขียนก็สามารถนั่งเขียนได้นาน ส่วนกิจกรรมแรกหลังตื่นนอนของเขาคือการดื่มน้ำหรือน้ำชา จากนั้นก็นั่งพักผ่อนอย่างสบายใจ อาจจะอ่านหนังสือพิมพ์ไปเรื่อยๆ หรือนั่งสบายๆ จนกว่าตัวเองจะรู้สึกมีแรงบันดาลใจในการเขียน

แจ๊ค เครูแอ็ก

การทำสิ่งแปลกใหม่คือแรงบันดาลใจชั้นยอด

          ‘แจ๊ค เครูแอ็ก’ อาจจะแตกต่างจากนักเขียนทุกคนที่ผ่านมา เพราะเขาชอบเขียนนิยายตอนกลางคืนมากที่สุด แถมวิธีการของเขาก็ไม่ธรรมดา สิ่งที่เขาจะทำก่อนการลงมือเขียนคือการสร้างบรรยากาศ โดยการจุดเทียนหนึ่งเล่ม จากนั้นจะเขียนไปเรื่อยๆ จนกว่าเทียนเล่มนั้นจะหมด หากวันไหนเขาไม่มีแรงบันดลาใจในการเขียน ก็จะหาอะไรแปลกๆ ทำ เช่น การตั้งข้อสงสัยกับสิ่งรอบตัว หรือแม้กระทั่งเล่นโยคะเพื่อให้ระบบหมุนเวียนโลหิตทำงานได้ดีจนเกิดความตื่นตัว นอกจากนี้เขายังให้ความสำคัญเรื่องโต๊ะทำงาน โดยจะต้องอยู่ในมุมที่แสงดีที่สุด ถ้าเบื่อนั่งอยู่ที่บ้านก็จะเปลี่ยนสถานที่ ถือว่าเขาเป็นนักเขียนที่ชอบการเปลี่ยนแปลงและการไม่หยุดนิ่ง