ARC Award นวนิยาย นักเขียน โกลาบ จัน ใต้ฝุ่น

5 เรื่องต้องรู้ “ใต้ฝุ่น” นวนิยายแห่งความหวังและความเป็นมนุษย์

Home / สารพันหนังสือ / 5 เรื่องต้องรู้ “ใต้ฝุ่น” นวนิยายแห่งความหวังและความเป็นมนุษย์

ใต้ฝุ่น

โดย โกลาบ จัน

          ผลการตัดสินรางวัล ARC Award ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกได้ทำการประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผลงานที่ได้รับรางวัลนี้ไปครองก็คือ “ใต้ฝุ่น” ผลงานเขียนของ “โกลาบ จัน” ผลงานของผู้เขียนจะนำพาทุกคนเดินทาง ย้อนเวลาไปในช่วงสงครามเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว โดยร้อยเรียงเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ประวัติความเป็นมาของประเทศนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าทำไมถึงเลือกนำเสนอแง่มุมนี้ มาทำความรู้จักกับนวนนิยายเรื่องนี้ให้มากขึ้น พร้อมกับเรื่องที่ทุกคนต้องรู้ก่อนจะอ่านผลงานคุณภาพเรื่องนี้

ทำความรู้จักกับ โกลาบ จัน

          “โกลาบ จัน” แท้จริงแล้วเป็นนามปากกาของ “เพทาย จิรคงพิพัฒน์” นอกจากนี้ยังมีนามปากกาอื่นๆ อีกนั่นคือ “ภาพิมล” และ “พิมลภา” มีผลงานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์มาแล้วหลายเรื่อง ทั้งคลื่นรักเสน่หา, หัวใจร้ายๆ พ่ายรัก, ตราบแผ่นดินจรดผืนฟ้า และอีกมายมาย เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA (Spinal Muscular Atrophy) ตั้งแต่เด็ก ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในหลายด้าน รวมทั้งการเขียนด้วยลายมือหรือพิมพ์คอมพิวเตอร์ ปัจจุบันพิมพ์งานผ่านโทรศัพท์มือถือและมีปัญหาด้านระบบหายใจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในชีวิตประจำวัน

จุดเริ่มต้นก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

          เขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นปี 2559 ใช้เวลาเขียนประมาณ 5-6 เดือน ตอนที่ตัดสินใจเขียนเรื่องนี้เพราะมีงานประจำทำแล้ว และไม่ได้สนใจว่างานเขียนของตนเองจะได้รับรางวัลหรือขายได้หรือไม่ ทั้งหมดเขียนมาจากความชอบส่วนตัว แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวดเพราะอยากหาข้อบกพร่องในงานเขียนของตนเอง ประกอบกับมีคนรู้จักบอกให้ลองส่งประกวดดู จนมาจบที่รางวัล ARC Award ในที่สุด

ใต้ฝุ่น ความงามแห่งความจริง ท่ามกลางฝุ่นละอองแห่งความสูญเสีย

          ใต้ฝุ่น เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ถ้ามองเผินๆ อาจจะเหมือนกับนิยายแนวย้อนเวลาที่ตัวเองเดินทางข้ามภพจากปัจจุบันไปสู่อดีต แต่นั่นเป็นเพียงบทเริ่มต้นที่ทำให้เห็นว่า เมื่อเราย้อนเวลาได้พร้อมกับความทรงจำและประสบการณ์ของปัจจุบัน เราจะทำอย่างไรกับอดีต โดยเนื้อเรื่องกล่าวถึง เมย์ มิลเลอร์ คอลัมนิสต์สาวลูกครึ่งอังกฤษ – ไทย ประสบเหตุระเบิดที่ ซาวารี บาซาร์ หล่อนตื่นขึ้นอีกครั้งในร่างของหญิงสาวนัยน์ตาสีเขียวอ่อนนามว่า มัรยัม ห้วงเวลาที่ฟื้นตื่นคือ 36 ปีก่อนหน้า ที่กรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ในวันที่ท้องฟ้าเหนือแผ่นดินนี้ยังคงงดงาม ดอกกุหลาบบานสะพรั่ง เคล้าแว่วเสียงบทกวี เมย์จำต้องปรับตัว มองหาทางรอดให้ตัวเอง ทั้งที่หล่อนรู้ว่าอีกไม่นาน ประเทศนี้จะตกอยู่ท่ามกลางฝุ่นควันแห่งสงคราม…

ความจริงของชื่อ “ใต้ฝุ่น” ทำไมจึงใช้ ใ- ไม่ใช่ ไ-

          ในความรู้สึกของ “โกลาบ จัน” คำว่า “ฝุ่น” คือตัวแทนความโกลาหลวุ่นวาย สงคราม และความล่มสลาย การที่ตัวละครต้องกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอดจากสงคราม เหมือนกับเราตกอยู่ใต้ฝุ่น

วิธีการเล่าเรื่องที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์

          โกลาบ จัน อาศัยการเดินทางผ่านตัวอักษรจากการเป็นนักเขียน นักข่าว และนักประวัติศาสตร์ จากที่ตนเคยอยู่ที่อัฟกานิสถานหรือผ่านสมรภูมิมาแล้ว อ่านนิยายและสารคดีเพื่อหาข้อมูลมาประกอบ นอกจากนี้อินเตอร์เน็ตก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ค้นคว้าง่ายขึ้น รวมทั้งตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ของประเทศอัฟกานิสถาน ข้อมูลจากทุกๆ ทางจึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยต่อเติมจินตนาการ

          เหนือกว่าภาพสงครามและความสูญเสีย สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงจะรู้สึกและสัมผัสได้เหมือนกันก็คือ ภาพความหวังของการมีชีวิตอยู่ แม้ว่าชีวิตของเราจะต้องตกอยู่ภายใต้สภาวะเช่นไร ก็คงไม่สำคัญไปกว่าการมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร นาทีนี้…คงไม่มีนวนิยายเรื่องไหนสื่ออารมณ์และให้คุณค่าได้ดีไปกว่า “ใต้ฝุ่น” อีกแล้ว