MOU การอ่าน บริจาคหนังสือ ผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มาตรฐานวิชาชีพ สมาคมผู้จัดพิมพ์

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับนิเทศศาสตร์ ม.สวนดุสิต ผนึกความร่วมมือมาตรฐานวิชาชีพ (MOU)

Home / Book Event / สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับนิเทศศาสตร์ ม.สวนดุสิต ผนึกความร่วมมือมาตรฐานวิชาชีพ (MOU)

คุณจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยลงนาม MOU ร่วมกับนิเทศศาสตร์ ม.สวนดุสิต…

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2560 เวลา 13.30 – 16.00 น. ณ ห้อง 401 ศูนย์การเรียนระนอง 2 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้มีการจัดกิจกรรม “ผนึกความร่วมมือมาตรฐานวิชาชีพ” เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพ (MOU) ระหว่างสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อร่วมส่งเสริมและสนับสนุนมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์

​สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงฯ คือ ส่งเสริม สนับสนุน หรือ เข้าร่วม การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาผู้เรียนและบุคลากรให้มีคุณภาพ รวมถึงให้ความร่วมมือระหว่างกันในการเข้าใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางวิชาการ-วิชาชีพ และประชาสัมพันธ์กิจกรรมและหรือโครงการที่จัดในสื่อของแต่ละฝ่าย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ารับการฝึกประสบการณ์ตามนโยบายของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และขอความอนุเคราะห์ให้นักศึกษาที่มีทักษะ ความเชี่ยวชาญและความสามารถได้มีโอกาสรับการพิจารณา นอกจากนี้ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ สามารถเชิญคณาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมในวาระต่างๆ ได้ ซึ่งบันทึกข้อตกลงฯ มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2560 – วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2562

ผู้ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้ได้แก่ นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประศาสน์ นิยม รองคณบดีคณะวิทยาการจัดการ โดยมีนางสุชาดา สหัสกุล กรรมการบริหารสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และดร.อมรรัตน์ เรืองสกุล ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ร่วมเป็นพยาน พร้อมทั้งมีการบรรยายพิเศษจากนายจรัญ หอมเทียนทอง เรื่อง มารู้จักสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และนางสุชาดา สหัสกุล เรื่อง การสร้างมาตรฐานวิชาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ

“ภารกิจหลัก คือ สร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการอ่านเป็นวัฒนธรรม เพราะการอ่านทำให้เข้าใจประเทศนั้นๆ มากขึ้น แต่ทว่าสถิติการอ่านนั้นกลับลดลงเรื่อยๆ การจัดการเกี่ยวกับการอ่านจึงเป็นภารกิจหลักของเรา อีกภารกิจคือการรณรงค์หยุดขอรับบริจาคหนังสือ ซึ่งไม่ใช่การต่อต้านการบริจาค แต่อยากให้เปลี่ยนมาซื้อบริจาคแทน เพราะไม่มีใครอยากจะบริจาคหนังสือที่ตัวเองชอบ ยกตัวอย่างเวลาทำบุญกับพระ เราใช้ข้าวปากหม้อใส่บาตร เวลาทำบุญให้เด็กเราให้ข้าวกลางหม้อก็พอ แต่ไม่ควรเป็นข้าวบูด เป็นที่น่าเศร้าใจที่ประเทศนี้ไม่มีเงินในการซื้อหนังสือและคนในชนบทก็มีโอกาสเข้าถึงหนังสือน้อยมาก ภายหลังจากที่เราคุยกันในห้องนี้จบ หากคุณเจอไซต์ก่อสร้างที่มีลูกคนงานเล่นทราย แล้วซื้อหนังสือสำหรับเด็กให้เขา เขาก็จะผละจากกองทรายมาอ่านหนังสือแทน” คุณจรัญกล่าว

​คุณสุชาดาได้กล่าวถึงการสร้างมาตรฐานวิชาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพว่า “วิชาชีพการผลิตหนังสือเป็นวิชาชีพที่ยังไม่มีระบบระเบียบและไม่มีมาตรฐานรองรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งสาขาอาชีพอื่น เช่น ทนายความ แพทย์ ก็จะมีสภาวิชาชีพคอยดูแล ดังนั้นเมื่อปี 2558 จึงได้มีการเสนอสาขาวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์นี้เข้าไปร่วมสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โดยคุณวุฒิวิชาชีพของไทยมี 7 ระดับชั้น ของสาขาเราเริ่มที่ระดับ 3 มี 6 อาชีพ คือ นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ นักพิสูจน์อักษร นักออกแบบกราฟิกหนังสือและสิ่งพิมพ์ และนักออกแบบภาพประกอบหนังสือและสิ่งพิมพ์ ดังนั้นใบรับรองนี้ก็จะรับรองระดับความสามารถของตัวบุคคล รวมถึงช่วยเป็นใบเบิกทางในการทำงาน จากนั้นธุรกิจก็จะมีสมรรถนะเพิ่มขึ้น มีคนทำงานที่มีคุณภาพมากขึ้น”

ขอบคุณภาพจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้ตัดตำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย