งานสัปดาห์หนังสือ นักอ่าน พระราชดำรัส สมเด็จพระเทพฯ เจ้าฟ้านักอ่าน

ตามรอยเจ้าฟ้านักอ่านของประชาชน…

Home / สารพันหนังสือ / ตามรอยเจ้าฟ้านักอ่านของประชาชน…

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือเจ้าฟ้านักอ่านของประชาชน


          เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานในพิธีเปิด “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46” และ “งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16” โดยในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี 2561 และพระราชทานพระราชดำรัสเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 ความว่า

          “ขอแสดงความชื่นชมผู้จัดงานที่มีความตั้งใจแน่วแน่ ในเรื่องส่งเสริมการอ่านหนังสือเพื่อปลูกฝังให้คนในสังคมมีความใฝ่รู้ ชอบที่จะแสวงหาความรู้จากการอ่านหนังสือดี อันเป็นเครื่องช่วยขยายโลกทัศน์ และทัศนคติให้กว้างขวาง ก่อให้เกิดปัญญา ความรอบรู้ ให้สามารถพัฒนาตน พัฒนาความคิดและจิตใจของผู้อ่าน การที่คนในสังคมเห็นความสำคัญของหนังสือ รักการอ่าน การแสวงหาความรู้ มีสติปัญญา เป็นสิ่งสำคัญข้อหนึ่งที่บ่งบอกความเป็นอารยะประการหนึ่ง ผู้ไม่ย่อหย่อนในการแสวงหาความรู้ เชื่อได้ว่าเป็นผู้สามารถนำความเจริญมาสู่ตนและสังคมได้ จึงควรที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันทุกทางที่จะรณรงค์ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปรักการอ่านหนังสือ และสนับสนุนเกื้อกูลผู้ผลิตให้สามารถผลิตหนังสือที่ดี ให้คุณแก่ผู้อ่าน”

          พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม 2561

          พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญในเรื่องของการอ่านอย่างยิ่ง และการอ่านให้ประโยชน์กับเราได้อย่างมากมาย พระองค์จึงเปรียบเสมือยเป็น “เจ้าฟ้านักอ่าน” ของประชาชนคนไทย

แล้วเพราะเหตุใดพระองค์จึงรักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกฝังให้พระราชโอรสพระราชธิดาทรงรักการอ่านหนังสือตั้งแต่พระชนม์เพียง 6 – 7 พรรษา หรือกล่าวได้ว่าตั้งแต่ทรงเริ่มอ่านหนังสือออก ทรงใช้วิธีหัดให้ทรงอ่านหนังสือวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น พระอภัยมณี อิเหนา รามเกียรติ์ เป็นต้น จนทรงท่องจำกลอนได้หลายบท นอกจากนี้ยังทรงซื้อหนังสืออื่นๆ มาทรงอ่าน แล้วทรงเล่าพระราชทานพระราชโอรสพระราชธิดา เป็นต้นว่า หนังสือนิทานสำหรับเด็ก ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ พุทธศาสนา เรื่องเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมทั้งของไทยและต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ ทรงสอนให้ทรงจดและทรงท่องคำศัพท์ และทรงจัดหาครูผู้ทรงคุณวุฒิมาถวายพระอักษรวิชาต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพื้นความรู้ทางวิชาการด้านอักษรศาสตร์ดีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

          นอกจากจะทรงศึกษาในชั้นเรียนปกติแล้ว ยังทรงปรึกษาขอคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิอยู่เสมอ และทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองด้วย เช่น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนสถานที่ต่างๆ ก็จะทรงศึกษาประวัติความเป็นมา ชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของสถานที่เหล่านั้นด้านการอ่านนั้น ทำให้พระองค์ทรงเชี่ยวชาญทางด้านภาษาศาสตร์ วรรณคดี และศิลปะไทย

          เมื่อทรงจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พระองค์พอรู้แน่ว่าอย่างไรก็คงไม่ได้เรียนแผนกวิทยาศาสตร์ จึงพยายามหัดเรียนภาษาบาลี อ่านเขียนอักษรขอม เนื่องจากในสมัยนั้น ผู้ที่จะเรียนภาษาไทยให้กว้างขวาง ลึกซึ้ง จะต้องเรียนทั้งภาษาบาลี สันสกฤต และเขมร ซึ่งภาษาบาลีนั้น เป็นภาษาที่พระองค์สนพระทัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แต่ได้เริ่มเรียนอย่างจริงจังในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสามารถจำการแจกวิภัตติเบื้องต้นที่สำคัญได้ และเข้าพระทัยโครงสร้างและลักษณะทั่วไปของภาษาบาลีได้

          นอกจากพระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้านักอ่านแล้ว ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านการเขียนอีกด้วย ถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของนักอ่านและนักเขียนที่ดีอย่างยิ่ง ที่ประชาชนคนไทยอย่างเราควรจะดำเนินรอยตาม

แหล่งข้อมูล : sirindhorn