กาหลมหรทึก ความลับ นิยาย ปราปต์ สืบสวนสอบสวน

5 ความลับจากนิยายสืบสวนสอบสวนสัญชาติไทย “กาหลมหรทึก”

Home / สารพันหนังสือ / 5 ความลับจากนิยายสืบสวนสอบสวนสัญชาติไทย “กาหลมหรทึก”

          ในบ้านเรางานเขียนประเภทนิยายสืบสวนสอบสวนอาจจะยังมีไม่มากนัก แต่เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ มีผลงานนิยายสืบสวนสอบสวนได้สร้างปรากฎการณ์ให้กับนักอ่านหลายๆ คน จนเป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก นอกจากนี้ผลงานเล่มนี้ยังได้รับรางวัลและเข้าชิงรางวัลจากการประกวดหลายเวทีด้วยกัน แถมชื่อเรื่องก็แปลกไม่ซ้ำใคร ผลงานที่ว่านี้มีชื่อว่า “กาหลมหรทึก” เขียนโดย “ปราปต์” (ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์)

          คนในวงการหนังสือมากมายต่างก็ออกมาวิจารณ์ผลงานเรื่องนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางที่ดี ที่ผ่านมายังเคยได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด นวนิยายยอดเยี่ยม ประจำปี 2557, รางวัลชมเชยการประกวดหนังสือดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2558, รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด รองชนะเลิศอันดับ 2 ปี 2558 และได้รับการเข้าชิงรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนในปี 2558 ด้วยกระแสที่แรงไม่มีตกทำให้ล่าสุด จากผลงานหนังสือก็ได้ถูกนำมาสร้างเป็นละครครั้งแรกทาง ช่องวัน 31ถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบจากการอ่านเป็นการรับชมผ่านทางโทรทัศน์ แต่รู้หรือไม่? ยังมีความลับและเรื่องราวซ่อนอยู่ภายในนิยายสืบสวนสอบสวนสัญชาติไทยนี้ ซึ่งบางเรื่องก็ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน ถ้าอย่างนั้น…เรามาไขความลับไปพร้อมกัน!

ที่มาของหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นขณะที่อยู่บนรถ

          ใครจะเชื่อว่านิยายสืบสวนสอบสวนที่กวาดรางวัลมามากมาย จะมีจุดเริ่มต้นที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปราปต์นั่งรถไปต่างจังหวัด และได้ฟังสกู๊ปทางวิทยุแนะนำเกี่ยวกับลักษณะคำประพันธ์ที่เรียกว่า กลโคลง เห็นว่าน่าสนใจจึงตั้งใจฟัง ระหว่างฟังก็คิดไปถึงนิยายแนวสืบสวนถอดรหัสลับสไตล์ The Da Vinci Code – รหัสลับดาวินชี ของ แดน บราวน์ และยิ่งมีแรงบันดาลใจมากขึ้นเมื่อได้เห็นข่าวการประกวดต้นฉบับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ทำให้เขานำไอเดียมาปรับใช้จนในที่สุดก็ออกมาเป็นผลงานชิ้นเอกที่ใครๆ ต่างก็พูดถึง

กว่าจะเป็น “กาหลมหรทึก” เช่นทุกวันนี้ ก็ถอดใจไปหลายครั้ง

          ปราปต์เคยมีผลงานตีพิมพ์มาแล้วก่อนหน้านี้ เป็นผลงานแนวโรแมนติกคอเมดี้แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้จนเจ้าตัวเริ่มจะถอดใจ และเขาพยายามอีกหลายครั้งกับงานอีกหลายประเภทหนึ่งในนั้นคือ แนวสืบสวนสอบสวน เขาใช้เวลาสามเดือนเพื่อสร้างสรรค์นิยายเรื่องนี้ และมันก็ไม่ทำให้เขาผิดหวังเพราะนิยายเรื่องนี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากๆ หากเขาถอดใจและล้มเลิกความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ผลงาน เราก็คงไม่มีโอกาสได้อ่านผลงานดีๆ แบบนี้ก็ได้

รอระยำโยงเยง คือชื่อแรกที่คิดไว้

          เนื่องจากเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนี้ทั้งหมดเกี่ยวกับโคลงสี่สุภาพ ตอนคิดชื่อเรื่องจึงอยากให้มีความคล้องจองกัน แต่การนำส่วนหนึ่งของโคลงมาตั้งชื่อและใช้กับนิยายสืบสวนสอบสวนระทึกขวัญค่อนข้างที่จะลำบาก แต่เขาก็ไม่ล้มเลิกความพยายาม จนในที่สุดก็ได้คำที่คล้องจองและเข้ากับเนื้อเรื่อง โดยนำมาจากหนึ่งในโคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และสรุปตรงชื่อ “กาหลมหรทึก” นั่นเอง

ความหมายของชื่อเรื่องไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด

          การเขียนนิราศในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นิยมเขียนเป็นโคลง และในท่อน “กาหลหรทึกแล้ เสียงสังข์” ได้กล่าวถึงเสียงเครื่องดนตรีที่ผู้ประพันธ์ได้ฟังและทำให้คิดถึงคนรัก “กาหล” หมายถึงแตรงอน ส่วน “หรทึก” คือกลองมโหระทึก แต่ในความหมายของเขาเลือกใช้ความหมายอีกแบบหนึ่ง โดยคำว่า “กาหล” คือ โกลาหล หรือความวุ่นวาย ทำให้ชื่อเรื่องนี้มีความหมายว่า เสียงกลองที่ดังอึกทึกโกลาหล

กว่าจะมาเป็นละคร เปลี่ยนปกมาแล้วถึง 3 แบบ

          ปกแบบแรกเป็นปกที่เขาตั้งใจทำขึ้นมาเองเพื่อส่งประกวดรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด แต่ก็เป็นปกที่ไม่ได้ใช้จริง ต่อมาเมื่อผลงานได้รับการตีพิมพ์จึงเกิดปกแบบที่ 2 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะได้รับการตีพิมพ์ถึง 8 ครั้ง ส่วนแบบสุดท้ายเป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 9 และถูกนำมาสร้างเป็นละคร

          มาร่วมพิสูจน์ความสนุกและซับซ้อนไปกับเรื่องราวที่จะทำให้คุณคาดไม่ถึง! กับหนังสือ “กาหลมหรทึก” จากฝีมือนักเขียนที่การันตีด้วยรางวัลมากมาย “ปราปต์” โดยสามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ store.mbookstore