กิ่งฉัตร ความลับ พรพรหมอลเวง สลับร่าง ฮิราชิโนะเคโงะ

“ความลับ” VS “พรพรหมอลเวง” เมื่อผู้ใหญ่ต้องกลับเป็นเด็ก คนอ่านได้อะไรจากบริบทที่แตกต่าง

Home / Editor Picks, สารพันหนังสือ / “ความลับ” VS “พรพรหมอลเวง” เมื่อผู้ใหญ่ต้องกลับเป็นเด็ก คนอ่านได้อะไรจากบริบทที่แตกต่าง

ตอนที่ได้อ่านเรื่องย่อของนวนิยายเรื่อง“ความลับ”(秘密 Himitsu) ผลงานสร้างชื่อของนักเขียนชาวญี่ปุ่นคนดังอย่าง “ฮิงาชิโนะ เคโงะ (Keigo Higashino)” ก็ชวนให้เกิดความใคร่รู้ถึงเนื้อเรื่องที่ว่าด้วยวิญญาณของแม่สลับเข้าไปอยู่ในร่างของลูกสาว ทั้งยังต้องกลับมาอาศัยอยู่กับผู้เป็นสามีหรือพ่อของลูกอีก เลยอยากรู้ว่าเรื่องราวจะเป็นยังไงต่อ

พออ่านจนจบเรื่อง ก็ยอมรับเกิดความรู้สึกทึ่งไม่น้อยกับการดำเนินเรื่องที่มีประเด็นของวัย การอยากกลับไปแก้ไขอดีตที่ผิดพลาด ศีลธรรม เข้ามาเป็นประเด็นหลัก ปมต่างๆ เหล่านี้ผูกให้ตอนจบของเรื่องหักมุมแบบสองเด้ง ทำเอารู้สึกเซอร์ไพรส์และรู้สึกสงสารตัวละครทุกตัวไปในคราวเดียวกัน

พล็อตการสลับร่างให้ผู้ใหญ่กลับไปอยู่ในร่างของเด็กนี้ชวนให้คิดถึงนวนิยายไทยของนักเขียนคนดังอีกท่านอย่าง “กิ่งฉัตร” กับผลงานการเขียนนวนิยายชิ้นแรกของเธอ “พรพรหมอลเวง” ที่ได้รับการตีพิมพ์มานับครั้งไม่ถ้วนและถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ถึง 3 ครั้ง แต่ปมของเรื่องนี้ช่างแตกต่างจาก “ความลับ” อย่างสิ้นเชิง

พรพรหมอลเวงนั้นว่าด้วยเรื่องของหญิงสาววัย 25 ปี ที่ชื่อ “ตันหยง” ที่บังเอิญขับรถชนประสบอุบัติเหตุเวลาเดียวกับที่ “เด็กหญิงเมริน” วัย 5 ขวบ พลัดตกบันได ทำให้วิญญาณของตันหยงเข้าไปอยู่ในร่างของน้องเมริน เมื่อฟื้นขึ้นมาเธอก็พบว่าต้องมาอยู่ในร่างของเด็ก 5 ขวบท่ามกลางครอบครัวใหญ่ที่เธอไม่รู้จัก และทำให้เธอได้พบกับ “ปฐวี” น้าชายของน้องเมริน ตันหยงเองก็ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตของหลายคนในครอบครัวของเมริน ความสนิทสนมใกล้ชิดนี้เองทำให้เกิดเป็นความรักขึ้นมา

 

  • การสลับร่างกับการเรียนรู้โลกใบใหม่

ในเรื่อง “ความลับ” นั้นเมื่อนาโอโกะต้องเข้าไปอยู่ในร่างโมนามิ เธอก็แทบไม่ต้องปรับตัวอะไรเลยเพราะสามีหรือเฮซึเกะนั้นรู้ดีว่าเธอเป็นใคร เพียงแค่การพูดจาที่เปลี่ยนไปเวลาอยู่ที่โรงเรียนเท่านั้น

ต่างจากตันหยงใน “พรพรหมอลเวง” ที่นอกจากต้องกลายเป็นเด็กอนุบาลแล้วยังต้อง เริ่มทำความรู้จักครอบครัวใหม่และค่อยๆ ซึมซับเรื่องราวต่างๆ ไปเรื่อยๆ และแน่นอนว่าการต้องปรับตัวเมื่อต้องกลายเป็นเด็กอนุบาลก็ยากไม่แพ้กัน

  • การสลับร่างที่ตัวละครรู้สึกว่าได้กลับไปแก้ไขอดีต

แม้จะต้องกลับเข้าไปอยู่ในร่างเด็กเหมือนกันแต่ความคิดอ่านของตัวละครเอกของนวนิยายทั้งสองเรื่องแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นาโอโกะนั้นรู้สึกว่าโชคร้ายที่ต้องสูญเสียลูกสาว  ทั้งยังต้องมาใช้ชีวิตเป็นเด็กประถมอีก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอกลับรู้สึกว่านี่คือพรจากสวรรค์ที่ไม่มีใครได้รับ เธอรู้สึกว่าการได้กลับมาเป็นเด็กช่วยให้เธอเหมือนกันแก้ไขข้อผิดพลาด การไม่ตั้งใจเรียนและฮึดจนสอบติดมัธยมฯและมหาวิทยาลัย

ขณะที่ตันหยงนั้นไม่ได้มีความรู้สึกว่าตนเองต้องแก้ไขอะไร แต่ใช้ชีวิตไปวันๆ เพื่อรอการกลับเข้าร่างในสักวันหนึ่ง ซึ่งหากจะมองจริงๆ แล้ว ตันหยงก็ถือว่าได้ช่วยแก้ไขปัญหาครอบครัวของเมริน ให้พ่อแม่กลับมาเข้าใจกันได้

 

  • ศีลธรรม ความรักต่างวัย

ปมที่นวนิยายทั้งสองเรื่องยกผูกไว้ด้วยกันทั้งคู่นั่นก็คือเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละคร ความรักที่ผิดศีลธรรมและดูไม่เหมาะสม ซึ่งทั้ง “ความลับ” และ “พรพรหมอลเวง” นั้นให้ความสำคัญและการคลี่คลายปมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“ความลับ” นั้นได้สร้างความกระอักกระอวนให้ทั้งตัวละครและผู้อ่าน เมื่อสามีภรรยา (ที่อยู่ในร่างลูกสาว) ต้องใช้ชีวิตร่วมกัน แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าผู้หญิงตรงหน้าคือภรรยาแต่หน้าและร่างกายเป็นลูกสาว ทำให้เฮซึเกะและนาโอโกะนั้นไม่สามารถมีความสัมพันธ์กันแบบสามีภรรยาได้ ความห่างเหินที่ก่อตัวขึ้นนานวันส่งผลต่อการตัดสินใจของตัวละครในที่สุด

ต้องยอมรับว่า ความลับ” นั้นตีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ได้ละเอียดลึกซึ้ง รู้สึกได้ถึงความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิต มีจิตใจ มีอารมณ์ความรู้สึก

ต่างจาก “พรพหรมอลเวง” ที่เพราะว่าปฐวีแม้จะระแคะระคายว่าหลานสาวของตัวเองไม่น่าจะใช่เด็กหญิงวัย 5 ขวบที่เค้ารักและเอ็นดู แต่ไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ จึงทำให้เขาคิดว่าเป็นเพียงการกระทบกระเทือนทางสมอง แต่กระนั้นปฐวีเองกลับมีความรู้สึกแบบชายหญิงกับหลานสาววัย 5 ขวบของตัวเอง โดยที่ผู้เขียนไม่ได้หาเหตุผลมารองรับความรู้สึกนึ้ไว้เลย

แม้ว่านวนิยายทั้งสองเรื่องจะมีบริบท เหตุผลการกระทำและการตัดสินใจที่แตกต่างกัน จนส่งผลให้เนื้อเรื่องดำเนินไปในคนละทิศละทาง แต่ทั้ง “ความลับ” และ “พรพรหมอลเวง” ต่างก็เป็นนวนิยายสลับร่างที่ยังได้รับความนิยมแม้ว่าจะต่างตีพิมพ์ออกมานานนับกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม (“พรพรหมอลเวง” ที่พิมพ์ครั้งแรกปี 2535, “ความลับ” ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2542) ดูได้จากยอดการตีพิมพ์ใหม่และการนำไปดัดแปลงเป็นละคร ซีรีส์และภาพยนตร์