Lock In จอห์น สกัลซี นักแปล บิ๊ก วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร หนังสือน่าอ่าน

คุยกับบิ๊ก – วีระวัฒน์ ในวันที่แปล LOCK IN และเรื่องแต่งที่อาจเป็นไปได้ในความเป็นจริง

Home / สารพันหนังสือ / คุยกับบิ๊ก – วีระวัฒน์ ในวันที่แปล LOCK IN และเรื่องแต่งที่อาจเป็นไปได้ในความเป็นจริง

          LOCK IN เป็นหนึ่งในนั้นไหม?
          คำถามที่ถามนักแปลอย่าง ‘บิ๊ก-วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร’ หลังจากได้อ่านประวัติการทำงาน เขาบอกว่า เมื่อค้นพบต้นฉบับนิยายที่ตัวเองอ่านแล้วชื่นชอบมาก จะลงมือแปลเองโดยทันที LOCK IN คือหนึ่งในต้นฉบับเป้าหมายนั้น ด้วยเหตุที่นิยายเล่มนี้เป็นไซ-ไฟที่ใกล้ตัวมาก เรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จับต้องได้ ไม่ใช่ไซ-ไฟที่เกินไปอย่างยานบิน ยิงเลเซอร์ และอื่นๆ บิ๊กบอกว่า ถ้าเป็นเรื่องราวแบบนั้น อ่านแล้วจะไม่ค่อยอินไม่เวลาทำงาน กอปรกับ LOCK IN มีเรื่องราวอาชญากรรมและฆาตกรรมด้วยในตัว ทำให้อารมณ์ร่วมในขณะที่อ่านลุ้นระทึกมากขึ้น และยิ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ จะยิ่งสนุกมากขึ้นเป็นเท่าตัว

          ความสนุกที่เขาบอก ย่อมแลกมาด้วยความยากในการแปลเพิ่มขึ้นอีก 20-30 เปอร์เซ็นต์ จากเรื่องที่เขาแปลมาทั้งหมด แต่ 20-30 เปอร์เซ็นต์นี้แปรเปลี่ยนเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้เป็นรูปเล่มในระยะเวลา 3 เดือน ดูท่า LOCK IN จะเป็นนิยายแปลที่มีอิมแพ็คต่อชีวิตเขามากทีเดียว

          อิมแพ็คแรกในการแปล LOCK IN ที่บิ๊กเจอคือ เล่มนี้เป็นการเปิดซิงแปลนิยายไซ-ไฟเล่มแรกในชีวิตของเขา จักรวาลเรื่องราวที่จะต้องรับมือภายในเล่มนี้ก็คือ โลกที่ จอห์น สกัลซี (ผู้เขียน) ได้จินตนาการไว้
          “เราต้องเห็นภาพตามคนเขียนว่า โลกที่เขาเขียน ภาพออกมาแบบใด บรรยากาศเป็นอย่างไร ซึ่งใน LOCK IN จะเป็นบรรยากาศที่ไม่ไกลตัวมากนัก ไม่ใช่ยานบินที่ยิงเลเซอร์ได้ แต่เป็นเรื่องของอนาคตอันใกล้ (Near Future Thriller) การแปลก็จะง่ายหน่อยสำหรับเรา เพราะเป็นโลกที่เห็นอยู่ทั่วไป เพียงแต่มีบางอย่างในเรื่องล้ำมากขึ้น เช่น หุ่นยนต์ แต่ไม่ได้ไกลโพ้นถึงขนาดเป็นดาวดวงอื่น หรือเป็นยานอวกาศนอกโลก”
          นอกจากบรรยากาศแล้ว โลกของคนเขียนที่สร้างความหนักใจให้บิ๊กอยู่ไม่น้อยเลยคือ ศัพท์เฉพาะต่างๆ ทั้งหุ่นยนต์ อาการ และเชื้อโรคต่างๆ ที่ไม่มีอยู่จริง ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นจินตนาการของผู้เขียน จะใช้คำศัพท์ภาษาไทยคำใดมาแทนได้บ้าง เป็นเรื่องที่เขาต้องแก้แกมด้วยการหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตชุดใหญ่ และจากการสืบค้นครั้งใหญ่นี่เอง ที่ทำให้เขาได้ค้นพบกับขุมทองแห่งข้อมูลนั้น
          “จักรกลของคนที่เป็นอัมพาตแล้วเอาจิตเข้าไปอยู่ นักเขียนจะเรียกว่า ทรีพ ตอนแรกที่แปลก็ยังไม่รู้สึกอะไร แต่พอเจอไปเจอมาบ่อยๆ เข้า เริ่มอยากรู้เองแล้วว่า แล้ว ทรีพ มาจากอะไร เลยไปสืบค้นในอินเทอร์เน็ต ก็เจอว่า อิทธิพลของเขามาจากภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ตัวละครหนึ่งในนั้นเป็นหุ่นยนต์สีทองที่ชื่อว่า C-3PO ลุค สกายวอล์คเกอร์จะไม่ได้เรียกหุ่นยนต์ตัวนี้ด้วยชื่อเต็ม แต่จะเรียกว่า ทรีพ คือย่อมาจากคำว่า Three หรือ สาม (3) นี่แหละ มาเรียกสั้นๆ เหมือนเป็นชื่อเล่น ผู้เขียนจึงนำคำนี้มาเรียกหุ่นยนต์ในเรื่องของเขา
          การค้นคว้าสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในเล่มค่อนข้างสำคัญมากเลยทีเดียว เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่จะทำให้การอ่านและการแปลสนุกมากขึ้น”

          ในระหว่างที่บิ๊กอ่านและแปล LOCK IN ไปเรื่อยๆ ความสนุกที่เจอในบทแรกๆ เริ่มกลายเป็นความสับสนในช่วงกลาง และลุ้นระทึกจนหยุดหายใจในช่วงบทสุดท้าย ช่วงระหว่างความสนุกไปจนถึงความสับสนนั้น เขาต้องเจอ 2 เส้นเรื่องที่สร้างความอลวนในการแปลให้เขาอย่างยิ่งยวด เส้นหนึ่งคืออาชญากรรม อีกเส้นหนึ่งคือโลกอนาคต
          “แค่เรื่องสืบสวนสอบสวนก็สับสนจะแย่อยู่แล้ว ยังต้องมาเจอบรรยากาศโลกไซ-ไฟอีก ที่โยงใยไปถึงเรื่องการเมือง รัฐบาล โรคระบาด และอื่นๆ ยิ่งกลางเรื่อง สังคมจะเริ่มแบ่งคนที่เป็น LOCK IN กับคนปกติด้วย เนื้อเรื่องจะยิ่งหนักมากกว่าเก่า เพราะมีความขัดแย้งและแบ่งขั้วกันระหว่างคน 2 กลุ่มนี้ เพราะรัฐบาลนำเงินไปช่วยเหลือคนที่เป็นอัมพาตเยอะ จนส่งผลกระทบกับคนปกติ และเกิดเรื่องราวประท้วงขึ้นมา
          มิหนำซ้ำยังเกิดเหตุฆาตกรรมอีก จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไหม ใครคือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ ธุรกิจหุ่นยนต์อย่างทรีพจะอยู่รอดหรือไม่ บนบรรยากาศของความเป็นไซ-ไฟ ทุกอย่างเป็นใจให้โยงใยถึงกันหมด แต่แท้จริงแล้วเชื่อมโยงหรือเปล่า ไม่แน่ใจ คือยิ่งอ่าน ยิ่งแปล ก็ยิ่งมัน และยอมขลุกอยู่กับความซับซ้อนที่น่าปวดหัวเหล่านี้”

          เคยอ่านงานของ จอห์น สกัลซี ไหม?
          บิ๊กแสดงสีหน้าเอียงอายกลับเหมือนเป็นคำตอบ เขาออกปากยอมรับว่า LOCK IN คือนิยาย จอห์น สกัลซี เล่มแรกที่ได้อ่านอย่างจริงจัง หลังจากได้ยินชื่อเสียงผู้เขียนมานาน แต่ก็น่าแปลกอีกเช่นกันว่า หลังจากอ่านไปได้สักพัก เคมีของหนังสือเล่มนี้เข้ากับรสนิยมการอ่านของนักแปลใส่แว่นผู้นี้ได้อย่างลงล็อก
          “ปกติเป็นคนชอบนิยายไดอะล็อกมันๆ พูดคุยด้วยบทสนทนาสนุกๆ เพราะอ่านแล้วรู้สึกเร้าใจกว่าการวิ่งยิงกันอีก ซึ่ง LOCK IN ตอบโจทย์นั้น เหล่าทนายพูดคุยกันในชั้นศาลและไต่สวนจริงจัง เหมือนหนังระทึกขวัญที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล (COURTROOM THRILLER) อ่านแล้วความรู้สึกแบบนี้โดดขึ้นมาเลย
          อีกส่วนที่ชอบในนิยายเล่มนี้คือ ประเด็นที่สอดแทรกอยู่ด้านใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องจิตวิญญาณ คนถอดจิตออกมาได้แล้ว จะยังเรียกว่าคนอยู่อีกหรือไม่ แล้วคนจริงๆ คือจิตหรือร่างกายกันแน่ LOCK IN ตั้งคำถามนั้นเพื่อท้าทายให้ผู้อ่านลองขบคิดดู”

          นักอ่านหลังจากอ่าน LOCK IN จบ คงได้ความบันเทิง ความสนุก และความตื่นเต้น แต่บิ๊กกลับมองข้ามช็อตไปมากกว่านั้น สิ่งที่เขาได้รับจากหนังสือเล่มนี้คือ ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งหมด โรคระบาด หุ่นยนต์ หรือแม้กระทั่งการย้ายจิตจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งก็ตาม
          “ตอนนี้มีเทคโนโลยีสำหรับคนที่เป็นอัมพาตเดินไม่ได้ โดยติดสัญญาณไว้ที่ศีรษะและก้นกบ สั่งการผ่านสมอง แล้วบายพาสจากศีรษะลงไปยังจุดที่เคลื่อนไหวไม่ได้ เทคโนโลยีมันพัฒนาไปถึงเบอร์นั้นแล้ว ซึ่งคล้ายกับเรื่องที่เกิดขึ้นใน LOCK IN มาก แต่ในเรื่องคือไปทั้งจิตวิญญาณเลย หนังสือเล่มนี้จึงทำให้เชื่อเหลือเกินว่า ในอนาคตอันใกล้ จะต้องมีเรื่องราวแบบนี้แน่ๆ เพราะทุกอย่างมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น บนพื้นฐานเทคโนโลยีที่พัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง”

          บางทีจุดประสงค์ของหนังสือที่ทำให้เห็นถึงอนาคตอันใกล้ ก็เพื่อให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตก็ได้ เหมือนที่ผู้แปล LOCK IN บอกไว้
           ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ และอะไรก็เกิดขึ้นได้บนโลกใบนี้