วรรณกรรมไทย วันแม่ วันแม่แห่งชาติ แม่

5 บทบาทความเป็นแม่ในโลกวรรณกรรมไทย

Home / Editor Picks / 5 บทบาทความเป็นแม่ในโลกวรรณกรรมไทย

แม้ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ ‘แม่’ คือผู้ให้ที่ดีที่สุดสำหรับลูก

          แม่ คือผู้หญิงที่พร้อมจะมอบความสุขให้เราโดยที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ด้วยบทบาทและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และต้องเลี้ยงดูลูกให้เติบโตมาเป็นคนดีของสังคม แม่ทุกคนจึงมีวิธีที่แตกต่างกันไป นอกจากจะมีแม่ในชีวิตจริงแล้ว ยังมีแม่ในโลกวรรณกรรมที่จะทำให้เราได้เห็นแม่หลากหลายรูปแบบ

          มาดูบทบาทของความเป็นแม่ในโลกวรรณกรรมจากหนังสือทั้ง 5 เรื่อง แม้พวกเธอจะไม่ใช่แม่ที่มีความพร้อมสมบูรณ์แบบ แต่พวกเธอต่างก็มีเรื่องราว วิธีคิด และลักษณะเฉพาะในแบบของตัวเอง เชื่อเลยว่าหนังสือเหล่านี้จะทำให้เรารักแม่อย่างหมดหัวใจ

สี่แผ่นดิน

แม่พลอย

          ‘สี่แผ่นดิน’ เป็นวรรณกรรมของ ‘หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช’ มีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 นับเป็นวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของไทย โดยมีตัวละครหลักอย่าง ‘แม่พลอย’ หญิงที่อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงถึงสี่แผ่นดิน บทบาทของแม่พลอยเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้หญิงไทยในสมัยก่อน การใช้ชีวิตของแม่พลอยและเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตนั้น จะทำให้เราเห็นภาพประวัติศาสตร์บ้านเมืองไทยแต่ละยุคสมัย แต่ก็ยังแทรกด้วยเรื่องราวความรัก ทั้งของแม่ที่มีต่อลูก ทั้งความรักของครอบครัว ความรักในแผ่นดินไทย และรวมทั้งมุมมองที่แตกต่างต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองไทยในตัวละครแต่ละตัว

เรื่องของน้ำพุ

แม่

          ‘เรื่องของน้ำพุ’ เป็นวรรณกรรมที่แต่งจากเรื่องจริงของ ‘สุวรรณี สุคนธา’ โดยเขียนจากความรู้สึกของคนเป็นแม่ ที่ไม่อยากให้ลูกของคนอื่นๆ ต้องเสียชีวิตไปเพราะยาเสพติดเหมือนกับลูกของตน เรื่องราวกล่าวถึง ‘น้ำพุ’ เด็กหนุ่มที่เกิดในครอบครัวที่แตกแยก ทั้งพ่อและแม่ต่างก็เป็นศิลปินทั้งคู่ เมื่อเขาโตขึ้นจึงเดินทางผิดคิดลองสิ่งเสพติด บวกกับการที่เขาเลือกคบเพื่อนที่เสพยาและเสียชีวิตจากการฉีดเฮโรอีนเกินขนาด

          แม้ ‘สุวรรณี สุคนธา’ ไม่ใช่แม่ที่สมบูรณ์แบบ แต่เธอคือแม่ที่พร้อมจะเรียนรู้และยอมรับกับสิ่งที่ผิดพลาด โดยเฉพาะการจากไปของลูกชาย

ล่า

มธุสร

          นิยายเรื่อง ‘ล่า’ ถูกนำไปสร้างเป็นละครจนได้รับกระแสนิยมและเป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก โดยนิยายเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของ ‘มธุสร’ ผู้เป็นแม่ แม้ว่าชีวิตครอบครัวจะมีปัญหาหรือต้องเจอกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอและลูกสาวสุดที่รักไปตลอดกาลนั่นคือการถูกข่มขืน แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ โดยการกลับมาทวงคืนความยุติธรรมให้กับตัวเธอเองและลูกสาว

          ‘มธุสร’ ทำหน้าที่ของแม่อย่างเต็มที่ที่สุด แม้กระทั่งยอมทำทุกอย่างเพื่อแก้แค้นสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับลูกสาว อีกสิ่งหนึ่งที่ได้จากเรื่องนี้ก็คือ การปลุกกระแสเรื่องการรับโทษคดีข่มขืน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

ทองเนื้อเก้า

ลำยอง

          ‘ทองเนื้อเก้า’ นิยายสะท้อนสังคมที่ได้รับความนิยมอย่างมากของ ‘โบตั๋น’ บทบาทของแม่ในเรื่องนี้จะแตกต่างจากเรื่องอื่นอย่างสิ้นเชิง โดยการสร้างตัวละครชื่อ ‘ลำยอง’ ให้เป็นหญิงขี้เมา สำส่อน ขี้เกียจ และลูกชายแสนดีอย่าง ‘วันเฉลิม’ ที่เปรียบเสมือนทองเนื้อแท้ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในที่แห่งหนใดก็ยังสามารถคงคุณงามความดีได้เสมอ จนท้ายที่สุดความดีนั้นก็แสดงให้แม่ของเขาได้เห็น แม้ลำยองจะกลับตัวได้ในตอนสุดท้าย แต่ก็สายเกินไป เพราะเธอยังไม่ได้ทำหน้าที่แม่ที่ดีให้กับลูก

ความรักครั้งสุดท้าย 

รส

          ‘ความรักครั้งสุดท้าย’ เป็นอีกหนึ่งงานเขียนที่ถ่ายทอดมาจากชีวิตของ ‘รส’ แม่หม้ายสาวนักวาดภาพประกอบหนังสือวัย 30 ที่มีความอ่อนไหวและต้องการความรัก เธอเคยมีความรักที่สวยงามและครอบครัวที่อบอุ่น แต่เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับชีวิตของเธอ ความแตกร้าวมาเยือนครอบครัว

          ถือได้ว่า ‘รส’ เป็นตัวแทนของแม่ยุคใหม่ แม้ชีวิตครอบครัวจะมีปัญหาแต่เธอก็ใจกว้างมากพอที่จะเปิดโอกาสให้กับตัวเอง โดยที่ไม่ลืมหน้าที่ที่สำคัญนั่นคือการเป็นแม่ที่ดี