การเขียน บันได 8 ขั้น พัฒนาการเขียน สไตล์ของตัวเอง เครื่องมือ

บันได 8 ขั้นพัฒนาการเขียนให้เป็นสไตล์ของตัวเอง

Home / Book Tips / บันได 8 ขั้นพัฒนาการเขียนให้เป็นสไตล์ของตัวเอง

          ในบางแง่มุมที่รูปแบบ ลักษณะสำนวน หรือวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ตลอดช่วงเวลาที่คุณเขียนอยู่ อาจมีความทับซ้อนกับสำนวนและภาษาของคนอื่น หรือบางครั้งเมื่อเขียนไปเขียนมา ก็ดูเหมือนยังไม่ลงล็อกและใช่สำหรับตัวเองสักที อ่านแล้วรู้สึกไม่อิ่มหรืออยู่ในจุดพอเหมาะที่ตัวเองพอใจ ไม่ต้องนอยด์ไป เรามีบันได 8 ขั้นที่จะทำให้งานเขียนของคุณไม่เหลื่อมกับคนอื่น พร้อมกันนั้นยังส่องประกายเฉิดฉายอย่างมีเอกลักษณ์ อีกทั้งเป็นที่น่าจดจำต่อนักอ่านหลายๆ คนจากสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเองด้วย มาเริ่มก้าวขึ้นบันไดแห่งการพัฒนาไปสู่สไตล์การเขียนที่ใช่กัน

          1. อ่าน อ่าน แล้วก็อ่าน
          อ่านอย่างตะกละตะกลาม อ่านอย่างกว้างขวาง อ่านอย่างบ้าคลั่ง ถือเป็นบันไดแรกที่จะทำให้คุณรู้สไตล์การเขียนคนอื่นได้อย่างหลากหลาย และพิจารณาสไตล์ตัวเองได้อย่างเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมประเภทคลาสสิก คือครูการเขียนที่ดีที่สุด ด้วยลีลาภาษาแบบดั้งเดิม ทำให้คุณใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องและจับใจ แต่ใช่ว่าวรรณกรรมคลาสสิกจะมอบสิ่งนี้ให้อย่างเดียว วรรณกรรมร่วมสมัยก็ช่วยเรื่องภาษาและสำนวนของเราเช่นกัน นักเขียนหากอยากจะพัฒนาตัวเองให้มีสไตล์ที่ใช่ ต้องอ่านอย่างครอบคลุมและไม่หยุดนิ่งอยู่ที่ประเภทใดประเภทหนึ่งจนเกินไป

          2. เขียน เขียน แล้วก็เขียน
          บันไดขั้นที่ 2 อย่ากลัวที่จะเริ่มต้นในการเขียน หลายคนยึดติดกับเนื้อเรื่องแบบเดิมๆ ลองดูแนวทางที่แตกต่างไปจากเดิมไหม เคยเขียนเรื่องแต่ง หันมาลองเล่าเรื่องแบบสารคดีดู เขียนแต่บทความ เปลี่ยนมาเล่าอย่างบทกวีดู ความหลากหลายของรูปแบบการเขียนเหล่านี้ จะช่วยสอนให้คุณรู้จักจัดการกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย และท้าทายความคิดของคุณในอีกสเต็ปหนึ่ง ไม่ต้องกลัวว่า จะเขียนออกมาไม่ดี ถ้าคุณรักในการเขียน มันจะส่งเสริมคุณให้เรียนรู้และเติบโตขึ้นเป็นนักเขียนที่มีสไตล์เป็นของตัวเองในที่สุด

          3. คำที่มาจากธรรมชาติของคุณ
          ธรรมชาติคือสิ่งที่ดีที่สุด บันไดขั้นที่ 3 ในการพัฒนาการเขียนบอกแบบนั้น แม้ว่าคุณจะหาคำที่สวยหรูและประดิดประดอยมาใช้ในงานเขียนของคุณ แต่อย่างไรเสีย ธรรมชาติในสำนวน น้ำเสียง และภาษาที่คุณใช้อยู่จริงในชีวิตประจำวันจะมีในเนื้องานมากกว่าคำที่คุณไปหามาใช้เสียอีก คำตามธรรมชาตินี้แหละที่จะทำให้งานของคุณกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน มีพลังในการเล่าเรื่อง และประทับใจผู้อ่านมากถึงมากที่สุด เพราะมันมาจากตัวตนของคุณเอง ดังนั้นแล้วจงใช้ธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวคุณให้เฉลียวฉลาด แล้วคุณจะพบกับการพัฒนาที่สดใสในวงการการเขียน

          4. ทำให้มันชัดเจน
          เป้าหมายการเขียนคือการสื่อสารให้ตรงใจกับผู้อ่าน บันไดขั้นที่ 4 จงตรวจสอบให้แน่ใจว่า แต่ละประโยค สำนวน และภาษาที่ใช้ ตรงเป้า ง่าย และได้ใจความสิ่งที่เราต้องการสื่อสารที่สุด หากคุณทำให้มันยาก ผู้อ่านอาจจะไม่เข้าถึงและละเลยงานของคุณไป ตัวคุณเองก็เช่นกัน อาจล้มเลิกโปรเจ็คท์การเขียนนี้ไปกลางคันก็ได้ แทนที่จะพัฒนามันไปถึงขีดสุด จงอยู่กับความเรียบง่ายและธรรมดาซะ ใช้การสื่อสารที่ง่าย แต่ได้ใจผู้อ่านหลายๆ คน เพราะไม่มีใครหลงใหลงานเขียนที่น่าอึดอัดใจหรอก เราบอกไว้ก่อน

          5. อย่าย่ำซ้ำรอยเท้าคนอื่น
          งานเขียนของคุณจะยิ่งซบเซาลง หากคุณเลือกจะเดินตามงานเขียนที่เคยมีอยู่ก่อนแล้ว นี่เป็นข้อควรระวังในบันไดขั้นที่ 5 เมื่อเจอประโยค คำ การเปรียบเทียบ อุปมาอุปไมย และสำนวนที่ใช้มาก่อน กรุณาคิดให้รอบถ้วน คิดสัก 2-3 รอบได้ยิ่งดี เพราะการย่ำรอยเดิมที่มีคนเดินแล้ว นอกจากจะไม่ได้สไตล์การเขียนของตัวเองอย่างแน่แท้แล้ว อาจจะทำให้มีผู้อ่านหลายคนเข้าใจผิดในตัวคุณได้ง่ายมากเช่นกัน ดังนั้นสำรวจและตรวจสอบสิ่งที่เขียนให้ดี ถ้าพบว่ามีคนทำแล้ว การเปลี่ยนคือสิ่งที่ง่ายที่สุด อย่าเสียดาย

          6. ทำทุกอย่างให้กระชับ
          การเขียนต้องการความลีนและเฟิร์ม นี่เป็นบันไดขั้นที่ 6 ที่จะพัฒนาไปสู่สไตล์การเขียนที่ใช่ของตัวเอง เมื่อลงมือเขียน ให้ทดลองใช้ประโยคเดียวกัน แต่อยู่ในรูปแบบที่หลากหลาย พร้อมกับหาสิ่งที่ตรงกับการสื่อสารและบริบทของเราให้ได้มากที่สุด ย้ำว่านักอ่านไม่อ่านอะไรเยิ่นเย้อ ยืดยาด อย่างที่บอกไปในตอนต้น ทุกอย่างต้องง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อผู้อ่านอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

          7. เขียนด้วยความแม่นยำ
          
การเขียนอย่างละเลียด ละเอียด และถูกต้อง จะทำให้งานเขียนของคุณมีชีวิตชีวาอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่มีนักอ่านคนไหนชอบอ่านงานที่ผิดหรอก ตรงนี้ถือเป็นบันไดขั้นที่ 7 ที่จะให้การเขียนของคุณโดดเด่น เพราะความแม่นยำคือเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานเขียนที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ พิถีพิถัน ในภาษาและชุดข้อมูลความรู้ที่ผู้เขียนให้ นักเขียนหลายคนตกม้าตาย เพราะความไม่แม่นยำเหล่านี้ จนนักอ่านหลายคนรำคาญใจ และเลิกอ่านงานคุณไปโดยปริยาย ดังนั้นแล้วฝึกความแม่นยำตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อพัฒนาการเขียนไปสู่สไตล์ที่ใช่ของตัวเองอย่างยั่งยืนต่อไป

          8. ใส่ใจกับคำที่เลือกใช้
          ยอมรับเถอะว่า ภาษาไทยมีคำให้เลือกใช้มากมายร้อยแปดพันเก้า มีทั้งคำไวพจน์ คำเทียบเคียง คำใกล้เคียง คำที่มีความหมายเดียวกันมากมายเต็มไปหมด ยังไม่นับรวมคำที่เราไม่คุ้นเคยหรือยังไม่รู้อีกมากมาย พจนานุกรมที่ดีสักเล่ม หรือหนังสือที่รวบรวมคำให้เราได้เปิดหา ก็ถือเป็นบันไดแห่งดาวขั้นที่ 8 ที่ทำให้งานเขียนของคุณแปลกและแตกต่างกว่าคนอื่น ไปจนถึงอาจเจอสไตล์การเขียนของตัวเองก็ได้ จากการเปิดคำเหล่านี้ ซึ่งบ้านเรามีอยู่หลายเล่ม เช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พจานุกรมฉบับมติชน หรือพจนานุกรมคลังคำ ฯลฯ จงใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          การทำความคุ้นเคยกับเครื่องมือ ทั้งหนังสือและแหล่งข้อมูลการเขียนต่างๆ ควบคู่ไปกับการอ่านและเขียนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้คุณพัฒนาการเขียนได้อย่างสวยงาม และเจอสไตล์ที่ใช่ของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

          ที่มา : thebalance