ทวิตรัก รักของเราไม่เท่ากัน อาจารย์ชลิตาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

รักของเราไม่เท่ากัน : ต้องอีกผ่านอีกกี่วาเลนไทน์ถึงจะมีแฟนสักที?

Home / Editor Picks / รักของเราไม่เท่ากัน : ต้องอีกผ่านอีกกี่วาเลนไทน์ถึงจะมีแฟนสักที?

.

ใกล้เข้าสู่ช่วงวันแห่งความรักที่โลกสดใสสีชมพูสด คนมีคู่คงอมยิ้มหน้าบานเท่าดอกกุหลาบช่อโตที่ได้จากคนรักไม่ได้ ในอีกมุมสีเทาของคนไร้คู่จึงบ่นอุบอิบในโชคชะตา ทำไมไม่พาใครเข้ามาในชีวิตบ้าง ต้องอีกผ่านอีกกี่วาเลนไทน์ถึงจะมีแฟนสักที?
.
เรื่องนี้มีคำตอบในหนังสือ ‘รักของเราไม่เท่ากัน’ ของ #ทวิตรัก หรือ อาจารย์ชลิตาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์สอนหนังสือด้านการเมืองการปกครอง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนใจในเรื่องเพศวิถีและสตรีนิยม กับแอคเคาท์ทวิตเตอร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อไขปัญหาและคลายปมเรื่องรัก ๆ ของทุกเพศวัยในชื่อว่า #ทวิตรัก  (@chalidaporn‏)
.

ทำไมเรายังหาแฟนไม่ได้?

..

รักของเราไม่เท่ากัน

.

คำถาม :

เคยมีช่วงหนึ่งถึงขั้นต้องใช้เว็บหาคู่ เราเลือกคนคุยด้วยได้จากโปรไฟล์และรูปภาพ แต่ก็สานต่อไม่ค่อยรอดเพราะมันตื้นเขินและปล่อยทิ้งง่ายมาก คนสมัยนี้หาแฟนกันยากมากขึ้น ตอนนี้เหงามาก แต่ก็ไม่รู้จะไปทำความรู้จักผู้คนจากที่ไหน

.

.

คำตอบจาก #ทวิตรัก

.

ก่อนตอบคำถามนี้ ขอบอกคนที่เผชิญสถานการณ์หาแฟนยากว่ามีคนร่วมชะตากรรมกับคุณมากมาย และสถานการณ์ประมาณนี้เป็นอะไรที่คนหลายรุ่นก่อนหน้านี้เผชิญ
.
ความเชื่อว่าเรื่องความรักความสัมพันธ์เป็นเรื่อง ‘ส่วนตัว’ ที่เราต้องใช้เสรีภาพเลือกเอง ทั้งเลือกคนและเลือกทางชีวิต ทำให้การหาแฟน/หาคู่ยากขึ้นกว่าเมื่อตอนที่อำนาจในการจัดการกับเรื่องหาคู่และการแต่งงานอยู่ในมือคนอื่นมากมายนัก
.
ในเวลาที่ครัวเรือนและชุมชนเป็นผู้จัดการว่าใครควรจะแต่งงานกับใคร เพื่อเป้าหมายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แนวโน้มคือนั่งเฉยๆ อยู่กับบ้านก็มีโอกาสได้แต่งงานหรือมีคู่เพราะผู้มีอุปการคุณจัดการให้
.

รักของเราไม่เท่ากัน

.

แต่เมื่อถึงช่วงขาขึ้นของความรักแบบโรแมนติก และความเชื่อว่าต้องหาคู่เองจึงจะได้คนที่ชอบ/คนที่ใช่ คนหลายกลุ่มจึงเริ่มตระหนักว่าการหาแฟนให้ได้เป็นเรื่องยากเย็น
.
หันไปมองรอบตัวก็เห็นแต่ญาติมิตร จะเป็นแฟนกับญาติก็ลำบากใจเพราะสังคมห้าม เพื่อนฝูงรอบตัวก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะถ้ามีคนพอจะเป็นแฟนได้ก็คงเป็นแฟนกันไปแล้วไม่กลายมาเป็นเพื่อน
.
คนอีกมากมายไม่ได้เจอะเจอผู้คนมากนักในชีวิตประจำวัน คือพบเจอคนในแวดวงจำกัดหรือหน้าเดิมๆ ไม่เพิ่มเติมให้ตื่นเต้น แม้ว่าจะออกไปทำงานนอกบ้านก็ตาม เลยกลายเป็นว่าเนื้อคู่ที่แอบเชื่อว่ารอเราอยู่ไม่ได้โคจรมาเจอเราเสียที
.
เมื่อไม่มีแฟน กิจกรรมหลายอย่างในชีวิตก็เลยไม่มีคนร่วมทำ (ไม่ได้หมายถึงเซ็กซ์แต่เพียงอย่างเดียว และอันที่จริงเซ็กซ์ก็เป็นเรื่องที่เราทำคนเดียวได้) คนที่ไม่มีแฟนเลยรู้สึกเหงา

.

รักของเราไม่เท่ากัน

.

การหาแฟนจึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนลงแรงอยู่มาก
.
คนหลายรุ่นในหลายสังคมพากันหากิจกรรมและช่องทางหลากหลายเพื่อจะให้พบรัก เช่น เข้าฟิตเนส เรียนปริญญาโท ออกไปเที่ยวเล่น ปรากฏตัวในที่ที่จะมีคนเห็น ฯลฯ
.
คนไม่น้อยเลือกใช้บริการแม่สื่อมืออาชีพ ที่หลายเจ้าหลอมรวมผสมผสานกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาคบริการในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไปได้ ดูเหมือนว่าเราจะก้าวข้ามการให้คนอื่นหาคู่ให้ไปไม่พ้นเพราะไม่มีปัญญาหาเอง
.
กิจการหาคู่เคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์ และเพิ่มบริการเฉพาะมากมายหลายประเภทเพื่อตอบสนองความต้องการหาคู่ของคน ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่คุย เดต และบริการข้ามแดน
.
การใช้บริการหาคู่ทำให้คนได้มีโอกาสเห็นและสำรวจคนที่อาจจะเป็นแฟนเราได้ ไม่ใช่ก็ผ่านกันไป (อันที่จริงก็ไม่ต่างจากการสำรวจเรียนรู้ของคนที่เป็นแฟนกันนัก เพราะก็แยกย้ายกันไปเมื่อไม่เวิร์กเช่นเดียวกัน)
.

รักของเราไม่เท่ากัน

.

การใช้แม่สื่อออนไลน์อย่างเว็บหาคู่หลายประเภททำให้ภาพลักษณ์ทั้งรูปร่างหน้าตาและการโฆษณาคุณสมบัติเป็นเรื่องสำคัญในการดึงดูดความสนใจให้คนอยากทำความรู้จัก ความสนใจอยากทำความรู้จักคนเพราะรูปลักษณ์มาพร้อมความเสี่ยงว่า สิ่งที่ดึงดูดให้เรามองอาจไม่มีอยู่จริง และไม่รู้ว่าคนคนนั้นเป็นอย่างไรเมื่อต้องพูดคุยกันตัวเป็นๆ (เรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากการ ‘นัดบอด-blind date’ ของคนในช่วงก่อนที่จะมีพื้นที่ออนไลน์)
.
การหาแฟนหาคู่เพื่อจะเป็นเพื่อนร่วมคิดร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตโดยอาศัยการเลือกที่รูปลักษณ์เป็นเรื่องย้อนแย้งกันอยู่ เพราะคนที่ดึงดูดสายตาอาจไม่ได้มีรสนิยมและนิสัยใจคอแบบที่จะเป็นเพื่อนคุยและทำกิจกรรมในชีวิตร่วมกับเราได้
.
อันที่จริงแนวโน้มของความไม่สอดคล้องนี้เป็นเรื่องที่คนหาแฟนในรูปแบบต่างๆ กำลังเผชิญไม่ว่าจะได้แฟนมาด้วยวิธีแบบไหน เพราะคนที่ดูเข้าตา อาจไม่เข้าใจหรือถูกใจเราก็เป็นได้
.
ความพยายามจะหาแฟนเองจึงมีความเสี่ยงจะไม่ได้อย่างใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าการถูกจับคู่ ‘คลุมถุงชน’ จะปลอดภัยกว่าหรอกนะ เพียงแต่ว่าถ้าคนอื่นจัดการหาคู่ให้แล้วไม่เวิร์ก ก็ไม่ต้องโทษตัวเอง เพราะมีคนอื่นให้โทษ
.

รักของเราไม่เท่ากัน

.

นอกจากนี้หลายคนที่ไม่ได้เลือกคู่เอง อาจจะไม่ได้คาดหวังและเรียกร้องความเข้ากันได้ไปทุกเรื่อง ปัญหาก็เลยเป็นคนละแบบกัน
.
การหาคู่เองไม่ใช่เรื่องง่าย วิถีชีวิตของหลายๆ คนไม่เอื้อให้พบปะคนใหม่ๆ หรือคนที่พอจะมีแววเป็นคู่กันได้ ยิ่งคาดหวังให้คนรักเป็นทุกอย่างในชีวิต ก็ยิ่งทำให้การหาแฟนยากลำบาก เพราะคนมักคาดหวังคนรักสำเร็จรูปมากกว่าจะตระหนักว่าความสัมพันธ์สมบูรณ์แบบที่หวังไว้ต้องอาศัยการพัฒนา เรียนรู้ และปรับเข้าหากัน
.
ถ้ายังหาแฟนไม่ได้ก็อย่ากระวนกระวาย แต่ลองมองกลับเข้าหาตัวเองและคนรอบข้าง ลองพัฒนามิตรภาพและทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูง แล้วอาจจะพบว่าความเหงาของเรามาจากการจดจ่อรอคนรักจนไม่ได้ใช้ชีวิตของตนเองกับคนที่อยู่ในชีวิตเราอยู่แล้ว
.
บางทีการเรียนรู้จะอยู่กับตัวเองและคนในโลกรอบตัวให้ได้ จะช่วยหนุนเสริมให้เราพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรักที่เราอาจพบในอนาคต โดยกดดันและเรียกร้องน้อยลง หรือถ้าไม่พบใครที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ด้วยก็เป็นสุขกับตัวเองได้อย่างไม่ยากเย็น

.

ไม่มีแฟนก็กลุ้มใจแบบหนึ่ง มีแฟนก็กลุ้มไปอีกแบบนะคะ

.


.

เรื่องราวของความรักยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก เปิดใจให้กว้างและหาคำตอบไปกับ #ทวิตรัก หรือ อาจารย์ชลิตาภรณ์ ส่งสัมพันธ์  กับหนังสือ ‘รักของเราไม่เท่ากัน’ เล่มนี้

.

รักของเราไม่เท่ากัน

.

“ความรัก” เป็นเรื่องใหม่เสมอสำหรับผู้ที่กำลังพบเจอ และปัญหาของความรักก็มีให้สงสัยและหาคำตอบกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าคำถามนั้นจะดูซ้ำซากแค่ไหนก็ตาม
.
แม้ทุกวันนี้จะมีผู้คนที่ตอบคำถามเกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ อยู่มากมาย แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถไขปัญหาหัวใจโดยย้อนเข้าไปสู่ต้นตอของปัญหานั้นได้อย่างแท้จริง เหมือนที่อาจารย์ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังทำผ่าน #ทวิตรัก
.
#ทวิตรัก คือวงสนทนาปัญหาความรักที่มีจุดเริ่มต้นแลกเปลี่ยนกันผ่านทวิตเตอร์ ตามมาด้วยเฟซบุ๊ค และขยายกว้างไปถึงการจัดเวทีพูดคุยกับผู้คนในหลายวาระ ตลอดร่วม 10 ปีที่ผ่านมา การพูดคุยเรื่องความรักในแบบ #ทวิตรัก อาจารย์ชลิดาภรณ์ได้ตอบปัญหาเกี่ยวกับความรักมากมาย ล่าสุดจึงเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ “รักของเราไม่เท่ากัน” กับคำถามใหม่ๆ พร้อมสถานการณ์ความรักที่ทั้งเข้มข้นและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
.
 การถาม-ตอบปัญหาความรักทางออนไลน์ โดย ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีจุดเริ่มต้นแลกเปลี่ยนกันผ่านทวิตเตอร์ และขยายกว้างไปถึงวงสนทนากับผู้คน ในหลายวาระตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้ทุกวันนี้จะมีที่ปรึกษาความรัก ความสัมพันธ์ อยู่มากมายตามสื่อต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถไขปัญหาหัวใจโดยชำแหละไปถึงต้นตอที่แท้จริงของรักนั้นได้อย่างลึกซึ้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นใน #ทวิตรัก

.


.

รักของเราไม่เท่ากัน #ทวิตรัก

โดย ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ สำนักพิมพ์ Her Publishing

คลิกเพื่อสั่งซื้อหนังสือ