นักเขียนหญิง ผู้หญิงไทย วงการนักเขียน วันสตรีไทย หญิงไทยยุคใหม่

4 หญิงแกร่งแห่งวงการนักเขียนไทย

Home / สารพันหนังสือ / 4 หญิงแกร่งแห่งวงการนักเขียนไทย

ความสวยอย่างเดียวอาจไม่พอ ‘หญิงไทยยุคใหม่’ ต้องเก่งและมีความมั่นใจ


          จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ผู้หญิงมีบทบาทที่เพิ่มขึ้นจากในอดีตอย่างชัดเจน ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะเป็นสิ่งที่เราเห็นกันบ่อยจนชินตาไปแล้ว นอกจากบทบาทที่เพิ่มขึ้นแล้ว ความสามารถของหญิงไทยในปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้ความสามารถของผู้หญิงในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือการต่อสู้และพยายามอย่างหนัก เพื่อให้สังคมได้เห็นว่าผู้หญิงสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่แพ้ผู้ชาย
          ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการนักเขียนของไทย ที่เรามักจะเห็นว่ามี ‘นักเขียนหญิง’ จำนวนไม่น้อยประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ กว่าที่พวกเธอจะกลายเป็นที่ยอมรับและก้าวมาถึงจุดนี้ได้ พวกเธอต้องผ่านอุปสรรคมากมาย มาดูกันว่าจะมีใครบ้าง บอกได้เลยว่าแต่ละคนมีรางวัลติดไม้ติดมือมาแล้วทั้งนั้น

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

          ‘จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ นักเขียนซีไรต์ประจำปี 2560 ที่มีอายุน้อยที่สุด จากผลงานสร้างชื่ออย่าง ‘สิงโตนอกคอก’ เธอเป็นอีกหนึ่งนักเขียนที่ต้องเจอกับกระแสวิจารณ์เรื่องความเหมาะสม ทั้งเรื่องอายุ เพศ และผลงานเขียน แต่สุดท้ายเธอก็พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นจนสามารถผ่านเรื่องราวเหล่านั้นมาได้ และเธอกลับมองเป็นแรงผลักดันที่ทำให้สร้างสรรค์งานเขียนชิ้นต่อไปออกมาให้ดี ที่สำคัญเธอยังทำให้วงการหนังสือกลับมามีสีสันและเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

วีรพร นิติประภา

          ‘วีรพร นิติประภา’ นักเขียนหญิงเจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปี 2558 คือนักเขียนหญิงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งภาพลักษณ์ที่ชอบใส่เสื้อผ้าสีดำ นิยมความเป็นพั้งค์ มีความเท่ไม่เหมือนใคร และเข้าใจเรื่องมายาคติอย่างถ่องแท้ ส่วนงานเขียนของเธอจะสะท้อนให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมและความขัดแย้ง โดยใช้วิธีการตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ผ่านมายาคติหลายรูปแบบ ทำให้งานเขียน ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ สามารถสะท้อนมุมมองความรักของสังคมได้อย่างครอบคลุม เป็นอีกหนึ่งนักเขียนหญิงที่มีอุดมคติชัดเจน และมีความกล้าหาญจะนำเสนอเรื่องราวในด้านนี้

งามพรรณ เวชชาชีวะ

          ‘งามพรรณ เวชชาชีวะ’ เจ้าของผลงาน ‘ความสุขของกะทิ’ ที่ขายลิขสิทธิ์ไปแล้ว 5 ภาษาใน 6 ประเทศ และรางวัลซีไรต์ประจำปี 2549 เป็นบุคคลมีความสามารถทั้งด้านการเขียนและการแปล และยังทำงานด้านลิขสิทธิ์วรรณกรรมให้กับนักเขียนและสำนักพิมพ์ทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นผู้บรรยายพิเศษด้านการแปลและลิขสิทธิ์ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ และเป็นกรรมการตัดสิน การประกวดนิทาน และวรรณกรรมเยาวชนอีกด้วย ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในวงการหนังสืออย่างรอบด้าน

จิระนันท์ พิตรปรีชา

          ‘จิระนันท์ พิตรปรีชา’ เป็นเจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2532 จากกวีนิพนธ์เรื่อง ‘ใบไม้ที่หายไป’ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เธอเคยเป็นผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา อีกด้วย เนื่องจากมีความชื่นชอบการประพันธ์ตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอได้มีบทบาทในการแต่งคำประพันธ์เพื่ออ่านบนเวทีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานและกลุ่มสตรีต่างๆ ในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่ในปัจจุบันเธอยังคงทำในสิ่งที่รัก คือการเป็นนักเขียนและผู้จัดทำบทบรรยายภาพยนตร์ เชื่อเลยว่ากวีซีไรต์หญิงคนนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี