ดาวินชี นักปราชญ์ ลีโอนาโด ดาวินชี ศิลปินระดับโลก อัจฉริยะ

คิดให้เหมือน ‘ดาวินชี’ นักปราชญ์แห่งการใช้ศาสตร์และศิลป์

Home / Book Tips / คิดให้เหมือน ‘ดาวินชี’ นักปราชญ์แห่งการใช้ศาสตร์และศิลป์

ทุกคนสามารถเป็นอัจฉริยะได้ ถ้าอยากเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบ ต้องคิดให้เหมือน ‘ดาวินชี’

          หลายคนอาจรู้จักชื่อของศิลปินผู้ก้องโลกอย่าง ‘ลีโอนาโด ดาวินชี’ จากผลงานสร้างชื่อนั่นคือ ภาพโมนาลิซ่า และ The Last Supper ฯลฯ แต่ดาวินชีไม่ได้มีความอัจฉริยะในด้านศิลปะอย่างเดียว เพราะเขายังเป็นทั้งนักประดิษฐ์และนักเขียน แถมยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักคิดระดับโลก เป็นบุคคลที่บรรดานักประวัติศาสตร์และนักปราชญ์ทั่วโลกต่างยกย่องให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา

          ทำให้ใครต่อใครก็อยากจะค้นหาคำตอบว่า นักปราชญ์แห่งการใช้ศาสตร์และศิลป์ผู้นี้ มีหลักความคิดและการใช้ชีวิตอย่างไร เขาทำอย่างไรถึงได้มีความรอบรู้และเฉลียวฉลาดในทุกๆ ด้านเหนือบุคคลทั่วไป…

ทุกสิ่งรอบตัวคือความรู้

          ใฝ่หาความรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองให้มากที่สุด และรู้จักไขว่คว้าหาโอกาสอยู่เสมอ ดาวินชีให้ความใส่ใจกับการแสวงหาความงามและความจริงโดยอาศัยจากการสังเกต เมื่อสงสัยในสิ่งใดก็จะตั้งคำถามทุกครั้ง และสิ่งสำคัญที่สุดที่ดาวินชีมักจะทำอยู่เสมอก็คือ ‘การจดบันทึก’

ตรวจสอบข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ

          ตรวจสอบข้อมูลว่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ดาวินชีเป็นคนที่มีโลกทัศน์กว้างและพร้อมที่จะเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ ให้ตัวเองอยู่เสมอ และจะไม่หลงเชื่อสิ่งใดง่ายๆ จนกว่าจะหาข้อพิสูจน์นั้นได้ เมื่อได้รับข้อมูลมาควรเชื่ออย่างเป็นกลางไว้ก่อน ไม่ควรรีบด่วนตัดสินใจ สิ่งที่ควรทำคือนำข้อมูลมาวิเคราะห์พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งการเปิดใจกว้างยอมรับข้อมูลที่หลากหลายจะทำให้เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และสามารถนำมาใช้กับตนเองได้อีกด้วย

ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้เป็น

          ฝึกใช้ประโยชน์จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น และกาย) ให้มีความว่องไว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประสาทสัมผัสทางตา เพราะดวงตาเป็นอวัยวะส่วนแรกที่จะเปิดรับข้อมูลต่างๆ ได้มากที่สุด ซึ่งการจะใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้อย่างสมบูรณ์ต้องเริ่มจากการตั้งใจมอง ตั้งใจฟัง สนใจการรับกลิ่น ตั้งใจรับรู้ความรู้สึก และแยกรสสัมผัส

มองความแตกต่างคือความสมดุลของโลก

          ยอมรับในความแตกต่าง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรเหมือนกันไปเสียหมด ทำให้ดาวินชีสามารถสะท้อนแนวคิดผ่านผลงานศิลปะได้อย่างน่าประทับใจ เช่น การวาดภาพที่ใช้สีขาวดำ รวมไปถึงภาพโมนาลิซ่าที่มองได้หลายมุม ทั้งใบหน้าที่เหมือนคนเจ้าเล่ห์และคนเมตตาในเวลาเดียวกัน หรือเป็นได้ทั้งชายและหญิงนั่นเอง หากไม่เกิดความแตกต่าง โลกของเราก็คงจะขาดความสมดุลอย่างแน่นอน

ให้ศาสตร์และศิลป์เดินทางไปพร้อมกัน

          ศาสตร์และศิลป์จะต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน นอกจากการศึกษาหาความรู้ด้านวิชาการแล้ว เราควรให้ความสำคัญด้านสุนทรียศาสตร์มาปรับใช้ด้วย เพราะสมองของเรามี 2 ด้าน เราควรหัดสร้างมโนภาพกับปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ และลองใส่วิธีแก้โดยนึกเป็นภาพลงไปในนั้นว่าเป็นอย่างไร จะเป็นการหัดมองปัญหานอกกรอบ ซึ่งอาจทำให้ค้นพบความคิดใหม่ๆ ได้

ต้องมีศีลธรรมของความเป็นมนุษย์

          การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คือการรู้จักผิดชอบชั่วดี หากเรามีจิตใจที่ขาดศีลธรรม ย่อมทำให้เราขาดสติในการยั้งคิด การฝึกสติสมาธิเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้ดีที่สุด เพราะจะทำให้เราเชื่อมต่อกับสภาวะธรรมชาติได้ ดาวินชีจึงเป็นคนที่มีสมาธิสูงอย่างมาก ทำให้เขาถ่ายทอดผลงานศิลปะแต่ละชิ้นออกมาได้ดี

สร้างสัมพันธ์ด้วยความเข้าใจ

          เป็นมนุษย์ต้องสร้างความสัมพันธ์ เราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังบนโลกนี้ได้ เราเกิดมาพร้อมกับสังคมที่ไม่เหมือนกัน หากได้พบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ เราจะต้องมองอย่างรอบคอบ หากเกิดปัญหาจะต้องแก้ไขอย่างไร เมื่อเรามองเห็นความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จะทำให้เรารู้จักการวางตัว และระมัดระวังกิริยาอาการของตนเองได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

 

ที่มา : andreabaltscienceofpeople