“ความลับ” ความเจ็บปวดภายใต้ความจริงที่ต้องเก็บซ่อน

Home / Editor Picks / “ความลับ” ความเจ็บปวดภายใต้ความจริงที่ต้องเก็บซ่อน

หลังจากใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงอ่านนวนิยายเรื่อง “ความลับ” (秘密Himitsu) ผลงานขึ้นหิ้งของนักเขียนชาวญี่ปุ่นคนดังอย่าง “ฮิงาชิโนะเคโงะ (KeigoHigashino)” จบลงก็รู้สึกไม่แปลกใจเลยว่าทำไมนิยายเรื่องนี้ถึงถูกตีพิมพ์รับครั้งไม่ถ้วน ทั้งยังถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ รวมถึงการนำไปดัดแปลงเป็นทั้งภาพยนตร์และซีรีส์หลายครั้ง นับว่ายังคงได้รับความนิยมมาตลอดแม้ว่านิยายเรื่องนี้จะมีอายุถึง 20 ปีแล้วก็ตาม (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1999)

ด้วยภาษาและการบรรยายที่ชวนให้วางไม่ลง อยากละเลียดอ่านทุกบรรทัดไปเรื่อยๆ อยากติดตามต่อไปเรื่อยๆ ว่าที่สุดแล้วตอนจบจะเป็นยังไง โดยไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย ด้วยพล็อตเรื่องที่ว่าด้วยการสลับร่างหรืออาจกล่าวได้ว่าการที่วิญญาณของคนหนึ่งหลุดไปอยู่ในร่างของอีกคน ในนวนิยายไทยหลายๆ เรื่องก็มีให้อ่านถมเถไป

ต่างกันตรงที่ “ความลับ” (Himitsu) นั้นใส่ความพีคลงไปโดยการให้ นาโอโกะ (Naoko) ผู้เป็นภรรยาและแม่วัย 35 ปี ต้องเข้าไปอยู่ในร่างของลูกสาววัย 11 ปี ที่ชื่อว่าโมนามิ (Monami) หลังประสบอุบัติเหตุ ทำให้คนเป็นสามีและพ่อ เฮซึเกะ (Heisuke) วางตัวลำบากทันที มึนงงไม่รู้ว่าตนเองสูญเสียภรรยาหรือลูกไปกันแน่

เมื่อใช้ชีวิตร่วมกันไปเรื่อยๆ ก็เกิดความอึดอัด เพราะจิตใจของเด็กผู้หญิงคนนี้คือภรรยาที่ตนรัก แต่ร่างกายคือลูกสาวที่รักเช่นกัน ปมตรงนี้เองทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ชวนสงสารตัวละครทุกตัวไปพร้อมๆ กับความรู้สึกอึดอัดใจแทนอีกทั้งตัวละครทั้งสองยังต้องคอยช่วยกันปกปิดเก็บความลับของเรื่องนี้ไม่ให้คนภายนอกรู้อีกด้วย

ปมอีกอย่างที่ฮิงาชิโนะสื่อออกมาผ่านตัวละคร นาโอโกะในร่างโมนามิอย่างชัดเจนและเป็นประเด็นที่น่าสนใจนั่นก็คือ การที่นาโอโกะรู้สึกเหมือนว่าตนเองได้กลับไปแก้ไขอดีตในวัยเด็กที่ผิดพลาดไป ซึ่งในความเป็นจริงทำไมได้แน่นอนว่ายังไม่ค่อยมีนิยายสลับร่างเรื่องไหนเล่าถึงประเด็นนี้มากนัก

การอยากลับไปแก้ไขอดีตนี้เองก็คือปมที่ผูกให้เกิดความเจ็บปวดของตัวละครเอกทั้งสองตัว แม้จิตใจจะเป็นภรรยาและผู้หญิงวัยกลางคน แต่ร่างกายและปมในใจทำให้นาโอโกะพยายามใช้ชีวิตแบบเด็กวัยรุ่น หรืออาจบอกว่าทำหน้าที่ของลูกให้ดีที่สุด ไม่อยากให้ลูกพลาดโอกาสเหมือนตนเอง การพยายามตั้งใจเรียนอย่างดีที่สุด แต่ก็ยังไม่ละทิ้งหน้าที่แม่บ้าน หรือกระทั่งการมีความรักแบบวัยรุ่น ประเด็นเหล่านี้เองที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเฮซึเกะและนาโอโกะในร่างโมนามิ ค่อยๆ ห่างเหินกันไปเรื่อยๆ

กระทั่งเรื่องดำเนินมาถึงตอนจบก็เชื่อว่าหลายๆ คนที่ได้อ่านคงอุทานว่า “เห้ย!” หรือเกิดความประหลาดใจกับตอนจบที่หักมุมซ้อนหักมุมได้อีก ประเด็น “ความลับ” กลายเป็นเรื่องรองไปเลยเมื่ออ่านจบ แต่ความรักความผูกพักของพ่อแม่ลูกต่างหากที่ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกสงสารตัวละครทั้งสามตัวเมื่อเรื่องดำเนินมาจนถึงตอนจบ

และด้วยตอนจบที่หักมุมนี้เองทำให้เข้าใจได้ว่าเมื่อนำไปแปลและตีพิมพ์ในฉบับภาษาอังกฤษแทนที่จะใช้ชื่อว่า The Secret ตามต้นฉบับ กลับใช้ชื่อว่า “Naoko” ซึ่งก็คือชื่อตัวเอกของเรื่องนั่นเอง

พออ่านจบก็เริ่มเข้าใจแล้ว่าทำไม “ความลับ”(秘密Himitsu) ถึงได้รับการตีพิมพ์หลายต่อหลายครั้ง แม้เวลาจะผ่านมาถึง 20 ปี แต่ภาษาและเรื่องราว ความคิด ทัศนคติในสังคมญี่ปุ่นนั้นไมได้แตกต่างจากปัจจุบันเลย ต่างก็แค่เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น

และก็เริ่มทำให้อยากเสพผลงานภาพยนตร์และซีรีส์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องนี้ถึง 3 ครั้ง คือภาพยนตร์ญี่ปุ่น เรื่อง Secretปี 1999, ภาพยนตร์ฝรั่งเศส เรื่อง The Secretปี 2007 และซีรีส์ญี่ปุ่น เรื่องHimitsu(ความลับ)ที่ออกอากาศทางช่อง TV Asahi  ไปเมื่อปี 2010

เชื่อว่าแฟนหนังสือฮิงาชิโนะเคโงะ หลายคนต้องยกให้ “ความลับ” เป็นผลงานเล่มโปรดอีกเล่มแน่ๆ ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็สามารถนำกลับมาอ่านให้ซาบซึ้งได้อีกครั้งเสมอ แฟนหนังสือสามารถจับจอง “ความลับ”(秘密Himitsu) ภายใต้การตีพิมพ์ของสำนักพิมพ์ Maxx Publishing ได้แล้วทุกแผงหนังสือ มาซาบซึ้งไปพร้อมๆ กันนะ