คาวาบาตะ ยาสึนาริ นักเขียนญี่ปุ่น นัตซึเมะ โซเซกิ ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ ฮารูกิ มูราคามิ เคนซาบุโร โอเอะ

5 นักเขียนแห่งแดนปลาดิบ ที่นักอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นต้องรู้จัก…

Home / สารพันหนังสือ / 5 นักเขียนแห่งแดนปลาดิบ ที่นักอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นต้องรู้จัก…

          ถ้าพูดถึงนักเขียนชาวญี่ปุ่น ชื่อแรกที่นักอ่านรุ่นปัจจุบันยกขึ้นมาได้ในทันที บางทีคงจะเป็น ฮารูกิ มูราคามิ  แน่นอน เราไม่เถียงเรื่องความสามารถด้านการประพันธ์ของเขา ทว่าโลกแห่งวรรณกรรมญี่ปุ่นยังคงกว้างเกินกว่านั้น

          แต่ก่อนจะไปดูชื่อและผลงานของนักเขียนแต่ละคน สิ่งหนึ่งที่พึงทราบคือ โลกของวรรณกรรมญี่ปุ่น เปรียบเสมือนแอ่งน้ำขนาดใหญ่อันลึกล้ำ การดำดิ่งลงไปในภาษาและขนบธรรมเนียมแบบญี่ปุ่นบางครั้งก็ต้องใช้ความพยายามและอดทนอย่างมาก ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่สลับซับซ้อน เต็มไปด้วยการเปรียบเปรยและการตีความระหว่างบรรทัด งั้นมาดูกันว่า นักเขียนญี่ปุ่นที่คุณควรรู้จักชื่อนั้นจะมีใครบ้าง

เคนซาบุโร โอเอะ

          เขาคือนักเขียนวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่คนสำคัญที่เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลปี 1994   โลกในจินตนาการของโอเอะมักวนเวียนอยู่กับโลกอันไม่พึงปรารถนาของด้านมืดมนุษย์ เขานำเสนอภาพอันเกิดจากปัญหานิวเคลียร์ จริยธรรมที่ผิดไปจากคนอื่นๆ ในสังคม และการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอด

          ตัวอย่างเรื่องที่น่าทึ่งของโอเอะเรื่องหนึ่งคือ “Lavish are the Dead” (ยังไม่มีแปลภาษาไทย) เกี่ยวกับนักศึกษาสองคนที่ทำงานพาร์ทไทม์ในห้องเก็บศพของโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งตัวละครจะพูดคุยกับศพไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นคนที่ยังมีชีวิต อีกทั้งบทบรรยายของโอเอะยังทำให้เราสัมผัสได้กระทั่งความเย็นยะเยียบในห้องเก็บศพ และกลิ่นฉุนของฟอร์มาลิน

ฮารูกิ มูราคามิ

          สำหรับนักเขียนคนนี้คงไม่ต้องกล่าวอะไรมาก ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักในระดับโลก และทุกวันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่มีคนรู้จักมากที่สุด งานเขียนของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 40 ภาษา

          โดยลักษณะเรื่องของมูราคามิจะมีความเหนือจริงที่สะท้อนความจริงลึกๆ ในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเรื่องความหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ความรู้สึกไม่แน่นอนที่มีต่ออนาคต หรือความว้าเหว่ในโลกอันเร่งรีบ  การปรากฏตัวผลุบๆ โผล่ๆ ของตัวละครที่ไม่น่ามีอยู่จริง สามารถมองได้ทั้งเป็นสัญลักษณ์ของบางอย่าง และเป็นการสร้างภาพจำให้แก่เรื่องของเขา และถ้าเป็นคนที่สนใจเพลงแจ๊ซ เพลงคลาสสิก รวมทั้งบรรยากาศแบบร่วมสมัยก็น่าจะเพลิดเพลินกับงานของมูราคามิได้ไม่ยาก

คาวาบาตะ ยาสึนาริ

          เขาเป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1968 งานเขียนของเขาคือการบรรยายความสวยงาม ชีวิตและความตาย และความเงียบระหว่างบทสนทนา เขาเริ่มต้นชีวิตการเขียนจากการส่งเรื่องสั้นไปลงนิตยสาร หลังจากมีงานเขียนลงนิตยสารจำนวนหนึ่ง นวนิยาย “เมืองหิมะ” (Snow Country)ที่ตีพิมพ์ในปี 1934 ก็กลายเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากชิ้นหนึ่ง งานชิ้นนี้ทำให้คาวาบาตะเป็นที่จดจำในฐานะนักเขียนคลาสสิกขณะนั้น และนักวิจารณ์หลายคนต่างกล่าวว่า “บางทีนี่อาจจะเป็นงานที่ดีที่สุดของคาวาบาตะ”

          งานชิ้นที่สองที่บ่งบอกความเป็นยุคหลังสงครามของเขาคือเรื่อง “เสียงแห่งขุนเขา” (The Sound of the Mountain) ที่เล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งในคามาคุระซึ่งตัวเอกเป็นชายวัยกลางคนที่ชืดชาต่อความสัมพันธ์กับภรรยาและหลงรักลูกสะใภ้ของตัวเอง

ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ

          ผู้ได้รับสมญาว่า “บิดาแห่งเรื่องสั้นญี่ปุ่น” และรางวัลวรรณกรรมชั้นแนวหน้าอย่างรางวัลอะคุตะงาวะ ก็ตั้งชื่อตามเขาผู้นี้ เขาตีพิมพ์ “ราโชมอน” (หรือระโชมง) เรื่องสั้นเรื่องแรกลงในนิตยสารตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ และได้รับคำชมกระทั่งจากนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ในยุคนั้นอย่างนัตซึเมะ โซเซกิ ซึ่งถือเป็นการการันตีความสามารถด้านการเขียนของเขาเลยก็ว่าได้

          ผลงานแทบทั้งหมดของเขามีเพียงเรื่องสั้น หรืออย่างมากคือเรื่องสั้นขนาดยาว (เช่น ขัปปะ) โดยพูดถึงความสับสนอลหม่าน ความขัดแย้งในจิตใจที่ไม่สามารถหาทางออกได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรเลยกับสภาพจิตใจของอะคุตะงาวะที่มองญี่ปุ่นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ว่ากำลังเปลี่ยนไป และเขาก็ลงเอยด้วยการกินยานอนหลับเกินขนาดเพื่อฆ่าตัวตายเพราะเขาไม่แน่ใจในอนาคตที่กำลังจะมาถึง ความอลหม่านสุดขั้วของอะคุตะงาวะและความคิดที่คลุมเครือสับสนของเขาสะท้อนอยู่ในงานเขียนทุกชิ้น โดยเล่มที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดและต่างประเทศนิยมอ่านกัน ก็คือ ราโชมอนและเรื่องสั้นอื่นๆ

นัตซึเมะ โซเซกิ

          ชื่อของนัตซึเมะ โซเซกิคือชายผู้อยู่บนธนบัตร 1000 เยน และเป็นชื่อหนึ่งที่เด็กนักเรียนญี่ปุ่นจะได้รู้จักตั้งแต่ยังอยู่ชั้นประถม มีการนำงานของเขามาใช้ในแบบเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง

          ผลงานที่เป็นที่รู้จักดี เช่น “โคะโคะโระ” (Kokoro) ซึ่งเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอกที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย กับ เซนเซ (หรืออาจารย์) ผู้แปลกแยกโดดเดี่ยวจากสังคมที่ผู้อ่านจะต้องค่อยๆ ทำความรู้จักตัวละคร และตีความคำพูดแต่ละคำของตัวละครไปทีละน้อย ด้วยความที่โซเซกิศึกษาทางด้านวรรณคดี งานของเขาจึงมีความทันสมัย มองไปไกลเกินกว่าสิ่งรอบๆ ตัว และมีความเป็นสากล  “ฮารูกิ มูราคามิ” กล่าวว่าโซเซกิคือนักเขียนคนโปรดของตน

 

ที่มา : thepaperless