ทำไม The Shape of Water จึงมีทั้งเวอร์ชันหนังและฉบับนิยาย?

Home / Book Tips, สารพันหนังสือ / ทำไม The Shape of Water จึงมีทั้งเวอร์ชันหนังและฉบับนิยาย?

ครบรอบ 2 ปี โลกคู่ขนานของหนังและนิยาย The Shape of Water

 

ทำไม The Shape of Water จึงมีทั้งเวอร์ชันหนังและฉบับนิยาย? แล้วมันเป็นหนังที่สร้างจากนิยายหรือเป็นนิยายที่เขียนจากหนังกันแน่? คำตอบหาได้บนโต๊ะอาหารเช้านั่นเอง

‘สัตว์ประหลาดถูกขังในห้องทดลองและพนักงานทำความสะอาดพยายามช่วยมันออกมา’ ไอเดียแรกเริ่มของเรื่อง The Shape of Water มาจากมันสมองอันลึกลับของแดเนียล เคราส์ ย้อนกลับไปตอนที่เขาอายุได้ 15 ปี แต่หลังจากนั้นแม้เขาจะคิดถึงพล็อตๆ นี้ตลอดมาแต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้เขียนจริงจัง จนกระทั่งเมื่อเขากลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงขึ้นมาและได้ร่วมงานกับกีเยร์โม เดล โตโร ในโปรเจกต์แอนิเมชั่น Trollhunters

 

วันหนึ่ง ขณะทั้งสองคนนั่งกินมื้อเช้ากันในแคนาดา เคราส์ก็เกริ่นถึงไอเดียที่เก็บมาหลายปี เดล โตโรสนใจในไอเดียนี้ทันที จนพวกเขานั่งคุยกันอยู่พักใหญ่ เดล โตโรบอกว่า ‘ใช่เลย นี่จะหนังเรื่องต่อไปของผม’ ความกระตือรือร้นของเดล โตโรได้ปลุกไฟในตัวเคราส์ให้เริ่มพัฒนาความคิดนี้ต่ออีกครั้ง โดยที่เขาเองไม่รู้เลยว่าเดล โตโรก็เริ่มพัฒนามันเป็นบทภาพยนตร์อยู่อย่างเงียบๆ เช่นกัน ในที่สุดทั้งคู่จึงตัดสินใจร่วมกันที่จะเล่าเรื่องนี้ออกมาในรูปแบบของตัวเอง เดล โตโรทำเป็นหนัง ส่วนเคราส์แต่งเป็นนิยาย “แต่ผมยังเขียนมันออกมาอย่างที่ผมคิดได้ เพราะสิ่งที่เดล โตโร โยนลงมาไม่ได้ขัดกับแผนแรกเริ่มของผม กลับกันสิ่งที่ผมคิดก็เหมาะเจาะเข้ากับพล็อตเรื่องที่เขาวาดไว้ในหัวเหมือนกัน ผมจึงสามารถเอาเรื่องราวของเขามาขยายออกไปในทิศทางที่ผมต้องการได้”

ขณะที่โปรเจกต์เดียวกันแต่มีสองรูปแบบนี้พัฒนาไปเรื่อยๆ เคราส์ก็เริ่มไม่ต้องการรู้เรื่องราวในหนังของเดล โตโรอีก เขารู้โครงเรื่องที่ต้องการแล้วและต้องการสร้างสรรค์เติมแต่งมันในแบบของเขาเอง “มันเป็นเรื่องคู่ขนาน ซึ่งอาจแตกต่างกัน แต่จะว่าไปมันก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก” เคราส์กล่าว “เพราะผมชอบเรื่องราวที่เขาโยนลงมา มีบางอย่างที่ต่างกันเล็กน้อยและมีบางอย่างที่ต่างกันมาก มันไม่เหมือนกับการดัดแปลงจากบทหนังเป็นหนัง แต่เราทำมันไปพร้อมกัน ผมไม่ต้องการข้อมูลมากกว่าที่เขาให้ผมมา เพราะเราทั้งสองคนต่างก็ต้องการให้เรื่องราวนี้ดำรงอยู่ในแนวทางของตัวมันเอง”

ในขณะที่ตัวร้ายหลักของหนังคือสตริกแลนด์ (ในเวอร์ชันหนังรับบทโดยไมเคิล แชนนอน) แต่ในฉบับนิยาย เคราส์กลับเขียนให้ตัวละครตัวนี้เด่นรองลงมาจากสาวใบ้อย่างเอไลซา และฉบับนิยายยังขยายเรื่องราวของภรรยาของสตริกแลนด์ให้มีรายละเอียดมากขึ้นอีกด้วย (ในหนังเธอมีบทเพียงไม่กี่ฉาก) นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมที่มาของสัตว์ประหลาดเดอุสบรังเกียให้ละเอียดขึ้น รวมถึงเจาะเข้าไปในความคิดของเอไลซามากขึ้นอีกด้วย “ต่อให้พวกเราไม่รู้จักกัน มาจากคนละประเทศ และพูดคนละภาษา แต่เราสองคนก็สื่อสารกันผ่านหนังที่เคยดูเหมือนกันได้ เราต่างก็เคยดูเรื่อง Creature from the Black Lagoon และหนังสยองขวัญเรื่องอื่น” เคราส์พูด “เขาดูมันในโรงหนังเล็กๆ ในเม็กซิโก ส่วนผมนั่งดูผ่านทีวีตอนดึกในรัฐไอโอวา แต่เรากลับมีไอเดียคล้ายกัน แล้วการเจอกันที่ร้านอาหารนั่นก็ทำให้รู้ว่าเราสองคนคิดและรู้สึกอย่างเดียวกันตอนดูหนังพวกนั้น มันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์ทีเดียว”

และนั่นก็คือที่มาที่ไปอันเหลือเชื่อของโลกคู่ขนานของ The Shape of Water ที่คู่ขนานกันทั้งในเรื่องราวความรักอันน่าเหลือเชื่อระหว่างสาวใบ้กับสิ่งมีชีวิตปริศนา และคู่ขนานกันทั้งการนำเสนอที่ออกมาเป็นทั้งหนังและนิยายนั่นเอง