5 ธุรกิจดัง ปรับตัวอย่างไรในยุคที่ผู้บริโภคเป็นต่อ

Home / Editor Picks, สารพันหนังสือ / 5 ธุรกิจดัง ปรับตัวอย่างไรในยุคที่ผู้บริโภคเป็นต่อ

ในยุคที่โลกหมุนเร็วและเปลี่ยนแปลงไปทุกวันนี้  เราก็ต้องปรับตัวเพื่อให้หมุนทันตามโลกด้วยเช่นกัน ดังที่หนังสือ “ไม่มีที่ว่างในวันหน้า ให้กับคนที่อยู่เฉยๆ (How to Prepare Now for What’s Next)” หนังสือที่เขียนขึ้นโดย Michael Mcqueen นักพูด นักวางแผนกลยุทธ์และนักทำนายเทรนด์ระดับโลก เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือกระทั่งคนธรรมดาที่อย่างเราๆ ได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Disruption) ที่เกิดขึ้นในทุกวงการ ทุกอย่างรอบตัวเราหมุนและเปลี่ยนแปลงไปจนเราตามไม่ทัน

ในด้านของธุรกิจต่างๆ ก็เช่นกัน แม้จะอยู่มานานจนเป็นเจ้าตลาดหรือเป็นอันดับ 1 ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเหล่านั้นจะเฟื่องฟูได้ในโลกทุกวันนี้ ที่ต้องกล่าวกันตรงๆ ว่าผู้บริโภคเป็นต่อในแทบทุกด้าน การปรับตัว ปรับเปลี่ยนแนวคิดบางอย่าง จึงเป็นทางที่ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้  ลองมาดูการปรับตัวของแบรนด์ดังที่คนไทยรู้จักกันดี

Airbnbในออสเตรเลีย เจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ๆ

เชื่อว่าแบ็กเพ็กเกอร์และนักท่องเที่ยวหลายคนน่าจะรู้จัก Airbnb ธุรกิจเกิดใหม่ที่ให้บริการแบ่งปันที่พักกันเป็นอย่างดี ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจที่ Michael ให้ข้อมูลไว้ในหนังสือก็คือ Airbnb มีมูลค่ามากกว่าเครือธุรกิจโรงแรมยักษ์ใหญ่อย่าง Hyatt ถึงสองเท่า

สำหรับ Airbnbในประเทศออสเตรเลีย นั้นได้ขยายฐานธุรกิจเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากคนกลุ่มเล็กๆ ไปเป็นฐานธุรกิจในกระแสหลัก โดยการร่วมมือกับสายการบิน แควนตัส (Qantus) ให้คะแนนสะสมเพิ่มเมื่อจองตั๋วเครื่องบินผ่าน Airbnb

Ricoh บริษัทผู้นำด้านเครื่องพิมพ์เก็บข้อมูลลูกค้าในรูปแบบดิจิตัล

สมัยนี้การพิมพ์เอกสารออกมาสักแผ่นหนึ่งนั้นถือว่ามีโอกาสน้อยมาก เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนหรือเก่ากว่านั้น ทุกบ้านต้องมีเครื่องพิมพ์ (Printer) ติดบ้านไว้ และชื่อของ Ricoh ก็เป็นแบรนด์ที่คนไทยเรารู้จักกันเป็นอย่างดี

แต่เมื่ออินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเข้ามาบทบาทมากขึ้น ข้อมูลทุกอย่างสามารถส่งผ่านระบบดิจิตัลทั้งอีเมล์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ในไม่กี่วินาที บทบาทของเครื่องพิมพ์จึงค่อยๆ ถูกลดลงจนแทบจะกลืนหายไป

หนทางเอาตัวรอดของ Ricoh ในออสเตรเลียนั้นก็คือการพลิกบทบาทมาเป็นผู้เก็บข้อมูลแบบดิจิตัลซะเอง โดย Ricoh ได้เริ่มต้นทำธุรกิจจัดเก็บเอกสารต่างๆ ที่เคยอยู่ในรูปแบบกระดาษให้มาอยู่ในแบบดิจิตัลให้แก่บริษัทต่างๆ ซึ่งสามารถลดกองเอกสารที่เยอะเท่า 7 คันรถให้หายไปในพริบตา

ไม่เพียงเท่านั้น Ricoh ยังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการสนับสนุนให้ลูกค้าซื้อเครื่องสแกนเอกสารเพื่อแปลงไฟล์กระดาษเป็นดิจิตัลแทนการซื้อเครื่องพิมพ์อีกด้วย

P&G ปรับภาพลักษณ์น้ำยาปรับผ้านุ่มให้เข้ากับยุคที่คนใส่ใจสิ่งแวดล้อม

คนยุคนี้ตื่นตัวกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นมีความพยายามในการลดใช้สารเคมี เรื่องหนึ่งที่เคยมีประเด็นออกมาก็คือ การรณรงค์ให้เลิกใช้ “น้ำยาปรับผ้านุ่ม” เพราะอาจทำลายเนื้อผ้าได้โดยเฉพาะในเสื้อกีฬา ส่งผลให้ยอดขายน้ำยาปรับผ้านุ่มหลายๆ แบรนด์ในสหรัฐฯ ลดลงถึง 15%

แม้แต่แบรนด์ดังอย่าง P&G เจ้าของแบรนด์น้ำยาปรับผ้านุ่ม Downy ก็โดนเคราะห์นี้ไปด้วย P&G จึงใช้การปรับภาพลักษณ์ของดาวน์นี่ให้กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์บำรุงเนื้อผ้า” รวมถึงการเพิ่มตัวกลิ่นให้ผ้ามีกลิ่นสะอาดและหอมติดทนนานกว่า ซึ่งส่งผลให้ยอดขายสูงขึ้นได้ซะด้วย

https://www.marriott.com/hotels/hotel-photos/atlph-courtyard-atlanta-alpharetta/

 

Courtyard by Marriott โรงแรมในเครือ Marriott ทุ่มเงินรีโนเวทล็อบบี้ให้เหมาะกับการนั่งทำงาน

คนยุ่คนี้แค่มีโน้ตบุ๊ก,ไอแพดหรือสมาร์ทโฟนสักเครื่องก็ทำงานได้แล้ว แน่นอนว่าบรรยากาศและสภาพแวดล้อมมีผลต่อการทำงานอย่างมาก โต๊ะทำงานในห้องพักของโรงแรมที่มีอยู่ทั่วไปเริ่มไม่สามารถตอบโจทย์คนเหล่านี้ได้ซะแล้ว

คนยุคมิลเลนเนียมที่ต้องเดินทางต้องการพื้นที่สาธารณะเพื่อให้นั่งทำงานได้สบายๆ มากกว่าการอุดอู้อยู่ในห้องพัก ดังที่มีผลสำรวจออกมาว่า คนยุคมิลเลนเนียมกว่า 40% เลือกนั่งทำงานที่ล็อบบี้โรงแรมมากกว่าในห้องพัก

ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้ Courtyard by Marriott โรงแรมในเครือ ทุ่มเงินรีโนเวทล็อบบี้โรงแรมในเครือหลายโรง เพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้แต่ยังอยู่ในแนวคิดจัดมุมที่นั่งเพื่อกระตุ้นการทำงานเป็นกลุ่มที่ให้บรรยากาศผ่อนคลายแต่ยังดูเป็นทางการ

https://www.facebook.com/scott.maddux.96

Scott Madduxดีลเลอร์ของ Harley-Davidson พยายามปรับภาพลักษณ์ฮาร์ลีย์-เดวิดสันให้เข้ากับวัยรุ่นมากขึ้น

เมื่อกล่าวถึง Harley-Davidson ภาพในหัวของกลุ่มคนเล่นรถมอเตอร์ไซค์หลายคนคงนึกถึงคนมีอายุที่พอมีสตางค์จะหาซื้อรถคลาสสิกแบบนี้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแน่ที่ Harley-Davidson จะถูกจำกัดกลุ่มเป้าหมายแบบนี้

เหตุผลนี้เองทำให้ สกอตต์แมดดักซ์ (Scott Maddux) ดีลเลอร์ของHarley-Davidsonในรัฐเทนเนสซี่หาทางกำจัดช่องว่างระหว่างวัย ด้วยการจัดคอนเสิร์ตที่แสดงโดยนักร้องเพลงครันทรีรุ่นใหม่ขึ้นในร้านของตัวเอง รวมไปถึงการจ้างพนักงานที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็ทำเพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้สึกเข้าถึง Harley-Davidson ได้มากขึ้นนั่นเอง

 

ทั้งหมดนี่เป็นเพียง 5 ตัวอย่างเล็กๆ ที่ Michael Mcqueen ผู้เขียนหนังสือ “ไม่มีที่ว่างในวันหน้า ให้กับคนที่อยู่เฉยๆ (How to Prepare Now for What’s Next)” ต้องการจะสื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าหากธุรกิจไม่ปรับตัวก็จะอยู่รอดได้ยากหรืออาจตายไปในที่สุด

หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจหรือแม้แต่คนธรรมดาที่ต้องการเอาตัวรอดในยุคที่อะไรก็เปลี่ยนไปไว้เหลือเกินแบบนี้ หนังสือเล่มนี้จะช่วยสะท้อนให้คุณเห็นว่าคุณควรเดินไปทางไหนเพื่อความอยู่รอด ไม่ต้องกลัวว่าหนังสือจะอ่านยาก แต่จงสนุกไปกับเคสต่างๆที่ไมเคิลยกมาเล่าให้คุณเห็นภาพได้ง่ายๆ