BOOK CLINIC กุ๊ก ภัทรพล ซ่อมหนังสือ ธุรกิจ นักซ่อมหนังสือ นักอ่าน รักษา วงการหนังสือ หนังสือ หมอ อาชีพ

“BOOK CLINIC” ผู้ชุบชีวิตและต่อลมหายใจให้หนังสือ…

Home / สารพันหนังสือ / “BOOK CLINIC” ผู้ชุบชีวิตและต่อลมหายใจให้หนังสือ…

          หากนึกถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ หลายคนก็คงจะนึกถึงนักเขียน สำนักพิมพ์ สายส่ง ร้านหนังสือ ห้องสมุด นักอ่าน แต่ดูเหมือนว่ายังขาดไปอาชีพหนึ่ง ในเมื่อเรามีผู้ผลิต (นักเขียน สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์) ผู้ขาย (ร้านหนังสือ) และผู้บริโภค (นักอ่าน) แล้ว การมีอยู่ของอาชีพ “นักซ่อมหนังสือ” ก็ดูเป็นสิ่งที่ทำให้วงจรของวงการหนังสือนั้นสมบูรณ์

ในเมื่อคนป่วยยังไปหาหมอเพื่อรักษาได้ แล้วทำไม “หนังสือ” จะรักษาไม่ได้ล่ะ…

          นักซ่อมหนังสือ อาจไม่ใช่อาชีพที่คุ้นหูคุ้นตานัก เพราะเป็นอาชีพที่มีคนเพียงจำนวนหยิบมือหนึ่งเท่านั้นที่เลือกจะทำ อาจเป็นเพราะว่าต้องอาศัยความสามารถและประสบการณ์ในระดับหนึ่ง และนั่นกลับทำให้อาชีพนี้น่าสนใจและมีโอกาสทางธุรกิจสูง แต่จะมีสักกี่แห่งล่ะ ที่นักอ่านทั่วไปสามารถนำหนังสืออันเป็นที่รักมารักษาได้

BOOK CLINIC

          ในบ้านเราก็มี “นักซ่อมหนังสือ” เป็นของตัวเองเหมือนกันนะ หมอหนังสือผู้นั้นชื่อว่า คุณกุ๊กภัทรพล ฉัตรชลาวิไล แห่ง BOOK CLINIC ที่ดำรงชีพอยู่กับอาชีพนี้มากว่า 10 ปีแล้ว และเท่าที่เห็น BOOK CLINIC น่าจะเป็นร้านซ่อมหนังสือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ โดยในปัจจุบันทาง BOOK CLINIC มีการเปิดสอนเวิร์คช็อปสำหรับงานซ่อมหนังสือเหมือนกัน ความสนใจในอาชีพเริ่มมีมามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการนัก จุดเริ่มต้นของคุณกุ๊กมาจากการทำงานร้านถ่ายเอกสารที่จะต้องการเข้าเล่มรายงาน และได้มีโอกาสซ่อมหนังสือเด็กครั้งแรกในช่วงปี 2542 นั่นอาจเป็นไปได้ว่า พนักงานในร้านถ่ายเอกสารหลายคนมีฝีมือในด้านการเข้าเล่ม เย็บเล่มก็ไม่ใช่น้อย

          ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า ตลาดของนักซ่อมหนังสือนั้นเป็นตลาดที่เล็กมากถ้าเทียบกับต่างประเทศที่ค่อนข้างมีฐานลูกค้ากว้างกว่า และมีรายได้ที่ค่อนข้างดีกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของนักซ่อมหนังสือในบ้านเราจะเป็นห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ เพราะตลาดหนังสือเก่าในบ้านเราไม่ค่อยใหญ่มากนัก จึงไม่แปลกที่ส่วนใหญ่หนังสือเก่าจะมาจากลูกค้าต่างชาติ

          แต่การจะเป็นนักซ่อมหนังสือได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นศาสตร์ความรู้ที่ไม่ค่อยมีใครทำ ไม่มีคนสานต่อ เป็นองค์ความรู้ที่หายไป ทั้งยังต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนพอสมควรจึงจะอยู่ได้ แต่ก็ต้องขอบคุณพวกเขาที่ทำให้หนังสือของเรายังอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้…

 

ที่มา : paperyard