กาหลมหรทึก ตามรอยกาหลมหรทึก นวนิยายสืบสวนสอบสวน ประวัติศาสตร์ ปราปต์

“ตามรอยกาหลมหรทึก” ๗ จุดประวัติศาสตร์ทางวรรณศิลป์แห่งสยามประเทศ

Home / Editor Picks / “ตามรอยกาหลมหรทึก” ๗ จุดประวัติศาสตร์ทางวรรณศิลป์แห่งสยามประเทศ

          นวนิยายสืบสวนสอบสวนแนวประวัติศาสตร์ในบ้านเราอาจยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ด้วยเนื้อหาและการถ่ายทอดที่มีความท้าทาย ประกอบกับพื้นฐานการอ่านของคนในบ้านเราที่ยังไม่ค่อยเปิดรับนวนิยายประเภทนี้เท่าที่ควร หากใครที่มีความคิดเช่นนี้ก็ขอให้ลองเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ถ้ามีนวนิยายสืบสวนสอบสวนเล่มหนึ่งทำให้คุณสนุกไปกับเนื้อหาสุดเข้มข้นด้วยการทายปริศนาจาก “กลโคลง” และถ่ายทอดเรื่องราวผ่านพื้นที่ในประวัติศาสตร์ คุณคิดว่ามันจะสนุกแค่ไหน?

          “กาหลมหรทึก” นวนิยายสืบสวนสอบสวนที่ได้รับการันตีด้วยรางวัลมากมาย และกำลังจะได้ถ่ายทอดออกสู่จอแก้วเร็วๆ นี้ ผลงานเขียนของนักเขียนหนุ่มไฟแรง “ปราปต์” ผลงานเขียนที่เป็นการหลอมรวมคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวรรณศิลป์ได้อย่างลงตัว และที่พิเศษไปกว่านั้น ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้นั้นมีอยู่จริง! เราขอพาทุกคนไปตามรอยสถานที่ทั้ง ๗ ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง…

จุดที่ ๑ ตรอกศาลาต้นจันทน์ วัดระฆังโฆสิตาราม

          ตรอกศาลาต้นจันทน์อยู่ในย่านวังหลัง ไม่ไกลจากวัดระฆังโฆสิตาราม ศาลาต้นจันทน์เป็นอาคารไม้สักชั้นเดียวใต้ถุนสูง ทิศเหนือด้านหน้ามีต้นจันทน์ ๒ ต้น ทิศเหนือและใต้มีเจดีย์องค์เล็กๆ ด้านละองค์ ตัวศาลาอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี เป็นศาลาอเนกประสงค์ชาวบ้านย่านวังหลังใช้ประกอบพิธีต่างๆ เช่น ทำบุญประจำปี สงกรานต์ ต่อมาเมื่อขยายถนนอรุณอมรินทร์จึงต้องรื้อศาลาออก ปัจจุบันย้ายไปปลูกที่เมืองโบราณแทน ส่วนศาลศาลาต้นจันทน์นั้นชาวบ้านร่วมทุนสร้างให้มีลักษณะเดิม เชื่อกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์

จุดที่ ๒ วังเดิม

          พระราชวังเดิมหรือพระราชวังกรุงธนบุรี เป็นพระราชวังหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ซึ่งสร้างในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์และทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้ชื่อว่าพระราชวังเดิม กระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ พระราชวังเดิมก็ได้รับพระราชทานให้กับกองทัพเรือ เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ ก่อนต่อมาโรงเรียนนายเรือจะถูกย้ายไปยังสัตหีบ ส่วนถนนวังเดิมนั้นเป็นถนนสายที่๖ในโครงการตัดขยายถนน ๑๑ สายเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒

จุดที่ ๓ ศาลเจ้าเกียนอันเกง

          ศาลเจ้าเกียนอันเกง หรือศาลเจ้าแม่กวนอิม เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของชุมชนกุฎีจีน ซึ่งถือเป็นชุมชนเก่าที่ผสานวัฒนธรรมถึง ๓ ศาสนา ๔ ความเชื่อ คือศาสนาคริสต์ อิสลาม พุทธศาสนาลัทธิหินยาน และพุทธลัทธิมหายานคือศาลเจ้าเกียนอันเกงนี้เอง ชื่อศาลเจ้าเกียนอันเกงมีความหมายว่า อารามที่สร้างความสงบสุข ตัวศาลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ว่ากันว่าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาเป็นผู้สร้างขึ้น มีไม้แกะสลักและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง สมัยก่อนพื้นที่แถบศาลเจ้านี้เคยคึกคักมาก แต่สภาพดังกล่าวเปลี่ยนไปเมื่อมีการตัดถนนอรุณอมรินทร์เข้ามา คนหันไปใช้รถแทนเรือ วัฒนธรรมเก่าๆ เริ่มตายและกิจการต่างๆ ก็เริ่มปิดตัว จนกระทั่งมีสภาพดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

จุดที่ ๔ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

          เดิมที่ดินที่ใช้สร้างวัดนี้เป็นสวนกาแฟของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) จากนั้นได้รับการอุทิศเพื่อสร้างเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๑ สมัยก่อนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าวัดรั้วเหล็ก นำเข้ามาจากอังกฤษตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ เพื่อใช้เป็นกำแพงวังในตอนต้น แต่เนื่องจากพระองค์ไม่โปรด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ผู้สั่งรั้วเหล็กนี้เข้ามาจึงทูลขอมาใช้เป็นกำแพงวัดแทน โดยแลกกับน้ำตาลทรายแบบหนักต่อหนัก คือใช้น้ำตาลจำนวนหนักเท่ากับเหล็กทั้งหมดแลก นอกจากนี้ วัดประยุรวงศาวาสยังโดดเด่นด้วยเจดีย์สีขาวทรงกลมมหึมานามว่าพระบรมธาตุมหาเจดีย์ เจดีย์แบบลังกาวงศ์องค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ รวมถึงเขามอ ภูเขาจำลองก่อด้วยศิลากลางสระหน้าวัดซึ่งได้เค้าโครงมาจากหยดเทียนขี้ผึ้งในห้องลงพระบังคนหนักของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓

จุดที่ ๕ สะพานภาณุพันธุ์ ย่านเยาวราช

          ในสมัยสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ที่ดินฝั่งขวาของเจ้าพระยาหาได้ว่างเปล่า มีชาวจีนกลุ่มใหญ่นำโดยพระยาราชาเศรษฐีตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้ว ในการสร้างพระบรมมหาราชวังใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนจีนแถบนั้นย้ายไปตั้งบ้านเรือนลึกห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้นอกกำแพงวัง โดยพระราชทานที่ดินระหว่างคลองวัดสามปลื้มกับคลองวัดสำเพ็งให้แทน ในอดีต สำเพ็งเป็นชุมชนที่วิวัฒน์ว่องไว เนื่องจากไทยมีนโยบายจูงใจชาวจีนโพ้นทะเลให้มาตั้งถิ่นฐานเพื่ออาศัยเป็นแรงงาน อีกทั้งการค้าสำเภาระหว่างสองชาติก็ขยายตัว ความเจริญของย่านคนจีนตั้งแต่คลองโอ่งอ่างถึงคลองผดุงกรุงเกษมนี้งอกงามควบคู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองชาติมาโดยตลอด ตราบกระทั่งนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม

จุดที่ ๖ ย่านสามแพร่ง

          ชุมชนเก่าแก่และเคยติดอันดับความเจริญมากที่สุดแห่งหนึ่งในพระนครนี้ เดิมเป็นที่ประทับของพระโอรสสามองค์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ๔ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ พระนามเหล่านี้กลายเป็นที่มาของชื่อเรียกแพร่งทั้งสาม แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งสามแพร่งเต็มไปด้วยตลาดสดและร้านอาหาร มีทั้งสถานอนามัยและโรงละคร ซึ่งเปิดขึ้นเพื่อรองรับบรรดาข้าราชการตามหน่วยงานต่างๆ ที่รายล้อมอยู่ในบริเวณนั้น เป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองตามต่อมาจากบริเวณเสาชิงช้า ลักษณะอาคารในย่านเป็นแบบชิโนโปรตุกีส มีชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายทั้งชาวจีน เปอร์เซีย ตะวันตก สถานที่สำคัญอีกแห่งในย่านได้แก่ ศาลเจ้าพ่อเสือ

จุดที่ ๗ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

          วัดโพธิ์หรือวัดโพธารามถูกสร้างตั้งแต่แผ่นดินอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวังฝั่งใต้ คู่กับวัดสลักหรือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ที่ด้านเหนือ พระอุโบสถ พระระเบียง และพระวิหารถูกสร้างใหม่พร้อมการบูรณะของเก่าแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๓๔๔ ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” (วัดประจำรัชกาลที่ ๑) จากนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกหน ครั้งนี้เพิ่มจารึกสรรพตำราบนแผ่นหินอ่อนประดิษฐ์ไว้ตามศาลาราย เป็นที่มาของสมญามหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ต่อเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้อยนามพระอารามถูกเปลี่ยนใหม่ กลายเป็นชื่อที่คนไทยรู้จักกันตราบเท่าทุกวันนี้คือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร”

          ส่วนการประติมากรรมมีการตกแต่งรอบด้าน ทั้งทวารบาล ซุ้มประตู ภาพสลัก รูปปั้นฤาษีดัดตน ยังไม่รวมถึงศาลารายรอบด้านอันเป็นที่ผนึกของจารึกวัดโพธิ์หมวดต่างๆ หมวดพระพุทธศาสนา อาทิเรื่องพระมหาวงษ์ พระสาวกสาวิกา หมวดประวัติเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์ หมวดประเพณีเรื่องริ้วกระบวนแห่พระกฐินทางสถลมารค หมวดเวชศาสตร์ตำรายา หมวดสุภาษิตวรรณคดี และหมวดทำเนียบ รวมทั้งสิ้น ๖ หมวด ๓๘ เรื่อง บนศิลา ๑,๔๔๐ แผ่น

          มาร่วมกันไขคดีแห่งประวัติศาสตร์นี้ไปพร้อมๆ กัน ด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “กาหลมหรทึก” สามารถสั่งซื้อในรูปแบบออนไลน์ได้ที่ store.mbookstore