18 กรกฎาคม ประธานาธิบดี วันเนลสัน แมนเดลาสากล เนลสัน แมนเดลา แอฟริกาใต้

ครบรอบ 100 ปี ‘เนลสัน แมนเดลา’ วีรบุรุษแห่งแอฟริกาใต้

Home / Book News / ครบรอบ 100 ปี ‘เนลสัน แมนเดลา’ วีรบุรุษแห่งแอฟริกาใต้

‘เนลสัน แมนเดลา’ วีรบุรุษในการเรียกร้องสิทธิของคนผิวสีในแอฟริกาใต้


          ชื่อของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในนามของนักสู้ผู้ต่อต้านการเหยียดผิว และนักรณรงค์เพื่อสันติภาพจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2536 รวมถึงการเป็น ‘ประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ ที่เป็นที่รักของประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์’

          การสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีประเทศแอฟริกาใต้ ของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ ไม่เพียงจะได้รับการจดจำว่า เขาเป็นชาวผิวสีคนแรกที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำของแอฟริกาใต้เท่านั้น ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเขายังได้รับการบันทึกและจดจำ ทั้งในฐานะของวีรบุรุษ ผู้ความกล้าหาญ มีวิสัยทัศน์ และศรัทธาอย่างแรงกล้า เช่นเดียวกับความอ่อนน้อมถ่อมตน มีเสน่ห์ ซื่อสัตย์ เอาใจใส่คนรอบข้าง และสิ่งสำคัญคือการก้าวขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้

          ‘เนลสัน แมนเดลา’ ใช้เวลาตั้งแต่วัยหนุ่มเข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดสีผิวในนาม สมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน หรือ ANC เพื่อเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียม ขณะเดียวกันก็ร่ำเรียนจนสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายช่วยเหลือและให้คำแนะนำสำหรับชาวผิวสี แต่เขาก็ต้องแลกกับการโดนจำคุกเป็นเวลาถึง 18 ปี เนื่องจากใช้กำลังตอบโต้ด้วยการก่อวินาศกรรมสถานที่ทางราชการต่างๆ ของรัฐบาลแอฟริกาใต้

          หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค ANC และก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ หลังพรรคของเขาชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ซึ่งในขณะนั้นเขามีอายุ 75 ปี

          ในช่วงการรับดำรงตำแหน่งผู้นำแอฟริกาใต้ เขามีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ที่เคยถึงขั้นเลวร้ายจนประสบผลในภายหลัง แม้จะก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำหลังดำรงตำแหน่งครบ 1 สมัย ในปี 2542 แต่อดีตผู้นำ ก็ยังทำงานเพื่อสังคมและชาวแอฟริกาใต้อย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของอดีตผู้นำประเทศแห่งแอฟริกาใต้ หลายปีที่ประเทศนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างรุนแรงของเชื้อชาติ และสีผิว แต่เขาคือ ผู้นำที่มีส่วนนำพาแอฟริกาใต้ออกมาจากเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อแสวงหาสันติภาพและสร้างความเข้าใจได้สำเร็จอย่างแท้จริง

ที่มา : voathai / wikipedia / mcpswis.mcp