Books On The Underground ขบวนรถไฟใต้ดิน มุมหนังสือน่าอ่าน สถานีรถไฟใต้ดิน หนังสือ เอ็มมา วัตสัน โครงการ

ปลุกไม่ขึ้น!! กระแสมุมหนังสือน่าอ่านตามสถานีและขบวนรถไฟใต้ดินของ “เอ็มมา วัตสัน”

Home / Book Event / ปลุกไม่ขึ้น!! กระแสมุมหนังสือน่าอ่านตามสถานีและขบวนรถไฟใต้ดินของ “เอ็มมา วัตสัน”

โลกโซเชียลมีเดียสามารถกระพือสร้างปรากฏการณ์ในระดับโลกได้แบบชั่วพริบตา โดยเฉพาะคนดังที่เรียกว่า อินฟลูเอ็นเซอร์ ซึ่งจะมี 3 กลุ่ม คือ 1. เซเลบริตี้ 2. เน็ตไอดอล และ 3. บล็อกเกอร์ ในวงการหนังสือที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการอ่านในเมืองไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติก็เคยเกิดปรากฏการณ์ #จินยองอ่าน ซึ่งเป็นดารานักร้องระดับไอดอลของเกาหลีใต้ที่ชอบอ่านหนังสือ แล้วมีคนโพสต์หนังสือที่เขาอ่าน จนเกิดกระแสวัยรุ่นและนักอ่านคนไทยหาหนังสือที่จินยองอ่านมาอ่านกัน

มาดูในต่างประเทศ มีกระแสการอ่านที่ดาราสาวอังกฤษชื่อดังอย่าง เอ็มมา วัตสัน ที่โด่งดังจากบทสาวน้อยเฮอร์ไมโอนี จากภาพยนตร์ แฮร์รี พอตเตอร์ และกลายเป็นดาราสาววัยรุ่นที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นนักแสดงที่สวย เก่ง และฉลาด แถมยังรักการอ่าน รวมถึงทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษด้านผู้หญิงขององค์การสหประชาชาติ ในด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เอ็มมา วัตสัน เอาจริงเอาจังและรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการก่อตั้งบุ๊กคลับขึ้นมาเพื่อให้คนหันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น และมุ่งเป้าหมายไปที่ผู้หญิง เพื่อจะได้ให้เหล่าผู้อ่านหนังสือมาถกประเด็นต่างๆ ผ่านการอ่านหนังสือในเล่มนั้นๆ เพื่อต่อยอดทางปัญญา

เอ็มมา วัตสัน ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านเมื่อหนึ่งถึงสองเดือนก่อน คือ Books On The Underground หรือหนังสือวางบนรถไฟใต้ดิน ด้วยการแอบเอาหนังสือไปวางไว้ตามสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอน เพื่อให้ผู้ผ่านไปผ่านมาที่เป็นผู้โดยสารรถไฟได้หยิบมาอ่านตอนอยู่ที่สถานีและระหว่างเดินทาง โดยมีการตามไปดูว่าหนังสือที่เอ็มมา วัตสัน นำไปวางไว้ก็คือ นวนิยายเรื่อง Mom & Me & Mom ของ มายา แองเจโล นักเขียน, กวี, อาจารย์ และนักกิจกรรมเพื่อสังคมผิวสีชาวอเมริกัน

การนำหนังสือมาวางไว้ประมาณ 100 เล่ม ตามสถานีรถไฟใต้ดินต่างๆ ทั่วกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษของเอ็มมา วัตสัน ได้เขียนบันทึกในหนังสือส่งต่อให้คนที่หยิบหนังสือที่วางไว้ว่า ขอให้สนุกและมีความสุขกับการอ่าน และขอร้องให้คนที่หยิบหนังสือไปอ่าน นำหนังสือกลับมาทิ้งไว้ที่สถานีรถไฟใต้ดินเหมือนเดิมหลังอ่านจบเพื่อที่คนอื่นๆ จะได้อ่านต่อไปด้วย โครงการ Books On The Underground ได้รับการตอบรับที่ดี แต่ไม่สามารถสร้างปรากฏการณ์ให้เลียนแบบตามไปทั่วโลกได้ แม้จะมีคนนำไปแบ่งปันหรือแชร์เรื่องราวผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือเครือข่ายประชาสังคมออนไลน์ก็ตาม รวมถึงเมื่อเอ็มมา วัตสัน เดินทางไปมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอก็ได้ทำแบบเดียวกันคือเอาหนังสือไปวางไว้ตามสถานีรถไฟใต้ดินเพื่อให้คนหยิบมาอ่านเหมือนที่กรุงลอนดอน แต่ก็ได้รับการตอบรับในระดับหนึ่ง

ปัญหาก็คือ การมีหนังสือไปวางอยู่บนที่นั่งในตู้รถไฟโดยสาร ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน กลับสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้โดยสาร เพราะมีคนจำนวนมากเข้าใจผิด คิดว่า มีคนมาจองที่ไว้ นอกจากนั้น ก็เป็นไปตามคาดคือ มีการนำหนังสือไปวางกองไว้กับพื้นใกล้ถังขยะบ้าง หรือหนังสือหายเกลี้ยงไปบ้าง บางคนถึงกับไม่กล้าหยิบมาดูด้วยซ้ำ เพราะกลัวความสกปรกที่อาจติดมากับหนังสือ ก่อนที่กระแสจะเงียบหายไป

โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าไม่ใช่ดารานักร้องหรือเซเลบริตี้แล้ว ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จเหมือนกับเรื่องอื่นๆ เพราะตามสื่อออนไลน์อาจจะดูดีฮือฮาในโลกอินเทอร์เน็ต มีคนเห็นด้วย สนับสนุนมากมาย แต่ในโลกความเป็นจริงกลับไม่มีใครสนใจขนาดนั้น คนดังหลายคนโพสต์รูปตัวเองกับหนังสือในโครงการนี้ แต่เหมือนหนังสือจะเป็นเครื่องสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี เป็นแค่การโชว์ให้คนชื่นชมทางโซเชียลมีเดียเสียมากกว่า เพราะในช่วงเวลาเร่งรีบและแออัด การอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ไม่ใช่กิจกรรมที่นิยมนัก และอีกเหตุผลหนึ่งที่อาจจะสำคัญกว่า คือการตอกย้ำชัดเจนว่าการอ่านหนังสือเล่มไม่ใช่พฤติกรรมที่คนสนใจแล้ว เนื่องจากนิยมใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อื่นๆ มากกว่า…

 

รูปภาพ : BBC  Twitter BooksUndergrnd  indianexpress

ที่มา : PUBAT