ถ้ำหลวง วิทยาศาสตร์ อ่านหนังสือ อีลอน มัสก์ เรือดำน้ำ

หนังสือเล่มโปรดของ ‘อีลอน มัสก์’ นักพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจหาญที่สุดแห่งยุค

Home / สารพันหนังสือ / หนังสือเล่มโปรดของ ‘อีลอน มัสก์’ นักพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจหาญที่สุดแห่งยุค

นอกจากการเป็นนักพัฒนาเทคโนโลยี เขาก็คือคนที่ชอบอ่านหนังสือคนหนึ่ง


          ชื่อของ ‘อีลอน มัสก์’ ได้กลายเป็นที่สนใจของหลายคนและกลายเป็นที่กล่าวถึงเพียงชั่วข้ามคืน เนื่องจากการที่เขาอาสาให้การช่วยเหลือในภารกิจ กู้ภัยทีมหมูป่าออกจาก #ถ้ำหลวง โดยใช้เทคโนโลยีระดับโลก จากบริษัทของเขาอย่าง Tesla, SpaceX และ Boring Company และถึงแม้เรื่องดำน้ำที่เขานำมาจะไม่ได้ใช้ในภารกิจนี้ แต่เขาก็ได้มอบให้ประเทศไทยเผื่อไว้ใช้ในภารกิจอื่นๆ ต่อไป
          อีลอน มัสก์ เป็นนักธุรกิจและนักลงทุนชาวแอฟริกาใต้ และยังเป็นวิศวกรและนักประดิษฐ์ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัท SpaceX และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง, ผู้บริหารและสถาปนิกผลิตภัณฑ์ของ Tesla และบริษัทอื่นๆอีกมากมาย แถมยังเป็นผู้จุดประกายความคิดระบบขนส่งความเร็วสูงที่เรียกว่าไฮเปอร์ลูปและเครื่องบินใบพัดขับเคลื่อนไฟฟ้าเหนือเสียงแบบขึ้นลงทางดิ่งอีกด้วย ซึ่งความสามารถและอัจฉริยะนี้ ส่วนหนึ่งได้มาจากการอ่านหนังสือนี่แหละ และนี่ก็คือหนังสือเล่มโปรดของนักพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจหาญที่สุดแห่งยุคคนนี้

Benjamin Franklin : An American Life

เขียนโดย Walter Isaacson

          เล่มนี้เป็นชีวประวัติของ ‘เบนจามิน แฟรงคลิน’ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน Founding Father ของอเมริกา แต่คนไทยคุ้นกับการทดลองเรื่องกระแสไฟฟ้าในอากาศของเขามากกว่า หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราได้รู้จักชีวิตของเขาอย่างละเอียด ว่าเขาเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักการทูต นักเขียน และนักธุรกิจอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะชีวิตส่วนตัวที่เอาเข้าจริงแล้วมีเรื่องสนุกๆ ซ่อนอยู่ไม่น้อย

Merchants of Doubt

เขียนโดย Naomi Orestes และ Erik M. Conway

          หนังสือเล่มนี้เป็นเปรียบเทียบระหว่างการถกเถียงเรื่องภาวะโลกร้อนในยุคปัจจุบัน และเรื่องอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น การสูบยาสูบ ฝนกรด การใช้ DDT หรือการเกิดรอยรั่วของชั้นโอโซนในบรรยากาศ ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่ไม่ดีจริงหรือเปล่า โดยเฉพาะเมื่อมันเกี่ยวข้องกับการค้าขายและเม็ดเงินมหาศาล แถมหนังสือเล่มนี้ยังเคยถูกสร้างเป็นหนังในปี 2014 อีกด้วย

Structures : Or Why Things Don’t Fall Down

เขียนโดย J. E. Gordon

          หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง โครงสร้าง กันอย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ใช่โครงสร้างสังคมหรือโครงสร้างนิยมแต่เป็นการเล่าว่า ทำไมสิ่งต่างๆ มันถึงประกอบกันขึ้นมาเป็นโครงสร้างอย่างที่มันเป็น ตั้งแต่อาคารบ้านเรือนต่างๆ ร่างกายของมนุษย์ของสัตว์ กระทั่งถึงไข่และเครื่องบิน แต่วิธีเล่านั้นจะเล่ากันแบบเข้าใจง่าย ทำให้คนที่ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์มาก็อ่านรู้เรื่องด้วย แต่คนที่เรียนเรื่องพวกนี้มาโดยตรงอาจจะไม่ค่อยอินสักเท่าไหร่ เรียกได้ว่าเป็นหนังสือเบื้องต้นสำหรับวิศวกรรมศาสตร์สายเครื่องกลและโยธาก็ว่าได้

Superintelligence : Paths, Dangers, Strategies

เขียนโดย Nick Bostrom

          หนังสือเล่มนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไม ‘อีลอน มัสก์’ ถึงชอบอ่าน เพราะมันนำเสนอเรื่อง A.I. หรือปัญญาประดิษฐ์นั่นเอง ซึ่งเป็นปัญญาของคอมพิวเตอร์ จะเอาชนะปัญญาของมนุษย์ได้ในเวลาอีกไม่นานนัก เขาบอกว่า ในที่สุดสมองกลก็จะฉลาดทัดเทียมกับมนุษย์ แต่เมื่อไหร่นั้นยังบอกไม่ได้ อาจจะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หรืออีกสองสามศตวรรษก็ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่สมองกลฉลาดเท่ามนุษย์ได้แล้ว ถัดจากนั้นมันก็จะฉลาดเกินหน้ามนุษย์ไปอย่างรวดเร็ว และเป็นไปได้ด้วยว่ามนุษย์จะควบคุมความฉลาดของสมองกลไม่ได้ ก็เลยเกิดเป็น Superintelligence ขึ้นมา เล่มนี้เป็นหนังสือดังที่สุดเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับ A.I.

Lord of the Flies

เขียนโดย William Golding

          หนังสือเล่มนี้เป็นแนวดิสโทเปีย ซึ่งนักอ่านหลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่สำหรับ ‘อีลอน มัสก์’ เขาบอกว่าบุคลิกในหนังสือเล่มนี้เหมาะสมนักกับการเป็นนักประกอบกิจการหรือ entrepreneur คือต้องเอาตัวรอดให้ได้ ต้องแข่งขัน และต้องกระหายใคร่มีใคร่ได้ ซึ่งในที่สุดก็จะก่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นความอยู่รอดของคนที่แข็งแรงและเหมาะสมที่สุด เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้

จะเห็นได้ว่าหนังสือส่วนใหญ่ที่ ‘อีลอน มัสก์’ ชอบอ่านนั้นจะเป็นแนววิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น และนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือที่เขาชอบอ่าน ความชอบและรู้จักค้นคว้าหาความรู้โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ ส่งผลให้เขาประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ใครที่กำลังท้อก็ขอให้ดูนักพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจหาญที่สุดแห่งยุคคนนี้ไว้เป็นแบบอย่างนะ

ที่มา : tomorn