กลอน ความทรงจำ ภาษาไทย สมัยเรียน เรื่องน่ารู้

กระตุ้นความทรงจำด้วย 5 กลอนติดปากจากตำราภาษาไทยในวัยเด็ก

Home / สารพันหนังสือ / กระตุ้นความทรงจำด้วย 5 กลอนติดปากจากตำราภาษาไทยในวัยเด็ก

          นั่งสบายอารมณ์อยู่ดีๆ ก็เผลอฮัมกลอนบทหนึ่งขึ้นมา แม้จะขับขานออกมาได้อย่างฉะฉาน แต่ก็จำไม่ได้แล้วว่ามันคือกลอนจากหนังสือเล่มไหนหรือเรื่องอะไร ..ทำให้หวนนึกถึงวันเก่าๆ ช่วงประถมถึงมัธยม ที่จะต้องท่องจำบทกลอนหรือโคลงต่าง ๆ เพื่อไว้ใช้สอบในวิชาภาษาไทย …ถึงจะไม่ได้ท่องจำทุกวันเหมือนครั้งวัยเรียน แต่บทกลอนเหล่านั้นก็ยังติดปากอยู่ไม่รู้หาย

          ถ้าพูดถึงบทกลอน.. จำกันได้ไหมว่าเคยท่องบทกลอนอะไรกันมาบ้าง? วันนี้เรามี 5 บทกลอนที่คุ้นปากมาทดสอบความทรงจำของคุณกันค่ะ

โคลงโลกนิติ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร

          โคลงโลกนิติ (โลก-กะ-นิด) วรรณกรรมประเภทคำสอน ในลักษณะของโคลงสุภาษิต ที่มุ่งแสดงความจริงของโลกและสัจธรรมของชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้เท่าทันต่อโลก และเข้าใจในความเป็นไปของชีวิต และได้รับการยกย่องว่าเป็น ” อมตะวรรณกรรมคำสอน ” หรือ ” ยอดสุภาษิตอมตะ ” จนได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นบทอ่านในหนังสือแบบเรียนสำหรับนักเรียนนักศึกษาอยู่ทุกยุคสมัย และได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน

กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)

          กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า มาจากบทกวีนิพนธ์เรื่อง Elegy Writen in a Country Churchyard ของทอมมัส เกรย์ (Thormas Gray) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นโคลงที่กล่าวไว้อาลัยหรือคร่ำครวญถึงผู้ที่จากไป โดยพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้ประพันธ์จากต้นฉบับแปลของเสฐียรโกเศศ เป็นกลอนดอกสร้อยจำนวน 33 บท

กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน
พระราชนิพนธ์ โดย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

          กาพย์เห่ชมเครื่องคาว-หวาน สันนิฐานว่าทรงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 เพราะมีความบางตอนได้ทรงชมสมเด็จพระศรีสุริเยน ทราบรมราชินีเมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ซึ่งมีฝีพระหัตถ์ในกระบวนเครื่องเสวยไม่มีผู้ใดจะมีฝีมือเทียบเคียงได้ ซึ่งในบทกลอนนั้นมีความงดงามของวรรณคดีที่สะท้อนให้เห็นความประณีต ละเอียดละอ่อนของชนชาติไทยในการบรรจงประดิดประดอยโภชนาหารนานาชนิดให้เลิศด้วย รสชาติแลวิลาสด้วยรูปลักษณ์ และสะท้อนความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างเด่นชัด ไม่เพียงแต่จะเอ่ยเพียงชื่ออาหารที่เป็นที่นิยมในกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น แต่ยังบอกลักษณะที่ควรจะเป็นของอาหารชนิดนั้นเอาไว้อีกด้วย

พระอภัยมณี
สุนทรภู่

          พระอภัยมณี ผลงานชิ้นเอกของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวรรณคดีชิ้นเยี่ยมเรื่องหนึ่งของไทย ประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวมากถึง 94 เล่มสมุดไทย คาดว่าสุนทรภู่เริ่มประพันธ์ราวปี พ.ศ. 2364-2366 และแต่ง ๆ หยุด ๆ ไปตลอดเป็นระยะ สิ้นสุดการประพันธ์ราว พ.ศ. 2388 รวมเวลามากกว่า 20 ปี

ลิลิตพระลอ
ทั้งเรื่องผู้แต่งและปีที่แต่ง ไม่ปรากฏหลักการหรือข้อความระบุที่ชัดเจน เชื่อกันว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยา

          ลิลิตพระลอ เป็นลิลิตโศกนาฏกรรมความรัก ที่แต่งขึ้นอย่างประณีตงดงาม มีความไพเราะของถ้อยคำ และเต็มไปด้วยสุนทรียศาสตร์ พรรณนาเรื่องด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ใช้กวีโวหารอย่างยอดเยี่ยม ในการบรรยายเนื้อเรื่อง ที่มีฉากอย่างมากมาย หลากหลายอารมณ์ โดยมีแก่นเรื่องแบบรักโศก หรือโศกนาฏกรรม และแฝงแง่คิดถึงสัจธรรมของชีวิต ลิลิตพระลอนี้เคยถูกวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากนักวรรณคดีบางกลุ่ม เนื่องจากเชื่อว่าเป็นวรรณกรรมที่มอมเมาทางโลกีย์