ดรุณศึกษา ฟ.ฮีแลร์ หนังสือเรียน หนังสือเรียนเล่มแรก เกร็ดความรู้

“ฟ. ฮีแลร์” ครูต่างชาติหัวใจไทย ผู้แต่ง “ดรุณศึกษา” ตำราภาษาไทยอายุนับ 100 ปี

Home / สารพันหนังสือ / “ฟ. ฮีแลร์” ครูต่างชาติหัวใจไทย ผู้แต่ง “ดรุณศึกษา” ตำราภาษาไทยอายุนับ 100 ปี

           เด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่อ่านออกเขียนได้ เพราะแบบเรียนภาษาไทยที่ชื่อว่า “ดรุณศึกษา” มันถูกใช้มารุ่นสู่รุ่น อยู่มาทุกยุคทุกสมัยรวมแล้วกว่า 100 ปี แต่น้อยคนนักที่รู้ว่าผู้ที่แต่งแบบเรียนฉบับนี้นั้นเป็นเพียงชาวต่างประเทศที่เข้ามาอาศัยในเมืองไทยเท่านั้น

           ภราดาฟร็องซัว ตูเวอเนท์ หรือที่รู้จักกันในนาม “ฟ.ฮีแลร์ ” เจ้าของสมญานาม “ปราชญ์แห่งอัสสัมชัญ” หนึ่งในนักบวชคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ในการนำของเจษฎาจารย์มาแตง เตอร์ตูร์ส เข้ามารับผิดชอบดูแลโรงเรียนอัสสัมชัญในประเทศไทย ในวัยเพียง 20 ปีเท่านั้น

           เนื่องจากเป็นชาวฝรั่งเศสที่ไม่สันทัดการใช้ภาษาไทย แต่ด้วยความใฝ่รู้ที่แน่วแน่ “ฟ.ฮีแลร์” จึงศึกษาภาษาไทยจากการท่อง “มูลบทบรรพกิจ” แบบเรียนภาษาไทยที่ประพันธ์โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

           ทั้งท่วงทำนองและลีลาแห่งภาษาไทย สะกดให้ “ฟ.ฮีแลร์” หลงใหลในภาษาอย่างมาก จึงตั้งใจเรียนรู้จนบรรลุ และต่อยอดเป็น “ดรุณศึกษา” หนังสือเรียนภาษาไทยในที่สุด

           หนังสือเรียนภาษาไทย “ดรุณศึกษา” เป็นแบบเรียนหนังสือนิทานมีภาพประกอบ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นคำกลอนและโคลง เช่น เรื่องพระยากง พระยาพาล ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2453 ในยุคแรกมี 3 เล่มคือ 1) อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ (พ.ศ.2453) 2) อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง (พ.ศ.2463) และ 3) อัสสัมชัญ ตอน ปลาย (พ.ศ.2464) ซึ่งในปัจจุบันได้มีการแบ่ง อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ ออกเป็น 2 เล่ม เนื่องจากช่วงวัยที่ใช้เรียนเป็นเด็กเล็ก ดูแลรักษายากและเกิดความชำรุดเสียหาย และในปัจจุบันดรุณศึกษามีทั้งหมด 5 เล่มเพื่อในสอดคล้องกับหลักสูตรการสอนในปัจจุบัน


ขอบคุณที่มาจาก th.wikipedia.org และ assumption.ac.th