ต๊ะ พิภู รักการอ่าน หนังสือเล่มโปรด อ่านหนังสือ

I Am Who I Am Today because I Love Reading ต๊ะ พิภู พุ่มแก้วกล้า

Home / สารพันหนังสือ / I Am Who I Am Today because I Love Reading ต๊ะ พิภู พุ่มแก้วกล้า

          “ผมไม่ได้เป็นคนอ่านหนังสือเยอะมาก”
          คำพูดนี้ดูช่างขัดกับหน้าที่และการประกอบสัมมาอาชีพของเขาทำเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกาศข่าว พิธีกร หรือแม้กระทั่งดีเจคลื่นวิทยุก็ตาม ที่ต้องอาศัยข้อมูลและการอ่านอยู่ตลอดเวลา แต่ ‘ต๊ะ-พิภู พุ่มแก้วกล้า’ ก็ย้ำสารนั้นให้ฟังอย่างแน่ชัดอีกครั้ง พร้อมกับความจริงในการบังคับตัวเองให้อ่านหนังสือเมื่อตอนโตขึ้น และยิ่งน่าตกใจไปกว่า เมื่อหนังสือเล่มแรกที่ต๊ะอ่านจบแบบจริงจังเลยก็คือ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ เมื่อตอนมัธยมปลาย
          “ผมชอบ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ภาค 2 มากที่สุด ทุกวันนี้ก็ยังชอบอยู่ แม้คนส่วนใหญ่จะบอกว่า ภาค 6 ภาค 7 หรือภาคตอนท้ายๆ จะสนุกที่สุด แต่ผมชอบภาคนี้ตรงที่ไม่สามารถเดาเรื่องได้ถูก อย่างชื่อของ Tom Riddle กลายเป็น Voldemort นี่เดาไม่ได้จริงๆ รู้สึกว่ามันล้ำลึกมากๆ”

          ระหว่างบทสนทนาถูกตัดสลับด้วยการปฏิบัติหน้าที่จัดรายการวิทยุและดูแลการออกอากาศ ซึ่งจังหวะบางอย่างที่เกิดขึ้นตรงหน้าอาจคาดการณ์ไม่ได้ แต่สิ่งที่คาดเดาได้จากการสัมภาษณ์นี้คือ ต๊ะต้องมีเรื่องผูกพันเกี่ยวหนังสือเยอะแน่ๆ เห็นได้จากหนังสือประกอบการเล่าเรื่องที่พกมา เจ้าตัวบอกว่า บางเล่มหาไม่เจอจากที่บ้าน ก็ซื้อของใหม่ถอดด้ามมาเลย อีกทั้งประโยคใหญ่ใจความเด็ดที่ทำให้อยากขยายเรื่องราวการอ่านของผู้ชายคนนี้ให้มากขึ้นคือ
          “ผมมีทุกวันนี้ได้ เพราะเป็นคนรักการอ่าน”

          แฮร์รี่ พอตเตอร์ เปิดโลก
          ผมชื่นชอบความเป็นอังกฤษตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ตั้งแต่ดูฟุตบอลจนถึงการไปเรียนประเทศอังกฤษ แล้วพอตอนโตได้ไปเรียนที่นั่นจริงๆ ก็รู้สึกว่า เจ.เค. โรว์ลิ่ง สร้างและเซ็ตจินตภาพประเทศนี้ให้กับผมจากนิยายที่เธอเขียน เหมือนสำนวน อยากเรียนรู้ประเทศใด ต้องอ่านหนังสือจากนักเขียนประเทศนั้น และพอมีโอกาสได้ไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ 1 ปีเศษ ภาพที่ เจ.เค. โรว์ลิ่ง เขียนไว้เหมือนทะลุออกมาหนังสือเลย เพราะเรื่องทุกอย่างอิงมาจากสภาพแวดล้อมในประเทศอังกฤษทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สถานีรถไฟคิงส์ครอส ขนมเยลลี่เมล็ดถั่ว หรือมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ซึ่งในนิยายเป็น โรงเรียนฮอกวอตส์ ก็มีอยู่จริง ทุกความจริงแปรเปลี่ยนมาเป็นเรื่องแต่งให้ได้อ่านอย่างสนุกสนาน ผมรู้สึกว่า อ่านแล้ววางไม่ลงเลย
          อีกทั้งโรงเรียนที่ผมจบมาคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ตอนนั้นได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนฮอกวอตส์ของประเทศไทย เนื่องจากในโรงเรียนมีการแบ่งเป็นบ้านเหมือนกันทุกอย่าง และตอนเปิดตัว ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ภาค 2’ ทางสำนักพิมพ์ก็มาเปิดตัวที่โรงเรียนผมด้วย พูดง่ายๆ คือ ยิ่งอ่านก็ยิ่งอิน

          เสน่ห์โลกแฟนตาซี
          แนวแฟนตาซีช่วยเรื่องจินตนาการได้ดีมาก ผมเคยอ่านเจอ น่าจะมาจากในการ์ตูนหรือหนังสือสักเล่ม แต่จำไม่ได้แล้วว่า ใครพูดประโยคนี้ เขาบอกว่า จินตนาการของคนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปราศจากสิ่งเร้า เพราะฉะนั้นชีวิตของคนคนหนึ่งต้องหาสิ่งเร้าให้มากที่สุดและเหมาะสมกับตัวเองที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การดู การฟัง หรือการอ่าน ซึ่งหนังสือถือเป็นสิ่งเร้าอย่างหนึ่ง และหนังสือแนวแฟนตาซีช่วยให้มองโลกได้กว้างมากขึ้น อย่างตอนเด็กๆ อาจจะรู้จักสัตว์พิเศษอยู่ไม่กี่ประเภท เช่น ยูนิคอร์น มังกร แต่พอโตมา หนังสือทำให้รู้จักสิ่งมีชีวิตแปลกๆ มากขึ้น อย่างหนังสือของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง คุณจะได้รู้จักสัตว์พิเศษอีกมากมาย ไม่ใช่แค่คนแคระหรือเอลฟ์เท่านั้น ซึ่งในแต่ละประเทศ ก็จะมีตำนานสัตว์พิเศษของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

          ไม่เพียงเท่านั้น หนังสือยังช่วยเชื่อมโยงจินตนาการเข้ากับความรู้ที่มีอีกด้วย อย่างเช่น ผมชอบอ่านความรู้รอบตัว และตามความคิดของผมเอง สันนิษฐานว่า มังกรในแถบยุโรป อาจเป็นพวกไดโนเสาร์คอยาวมีปีกที่หลงเหลืออยู่ในอดีต แล้วคนไปเจอเข้า ก็เลยคิดว่าเป็นมังกร หรืออย่างในประเทศไทย เวลาที่เจอปลาตัวยาวๆ แล้วคิดว่าเป็นพญานาค ความจริงแล้ว อาจเป็นงูตัวใหญ่ที่ยาวมากๆ ในอดีตก็ได้ ผมเลยคิดว่า หนังสือแฟนตาซีมักจะสอดแทรกจินตนาการเหล่านี้ลงไป เพื่อให้ผู้อ่านเชื่อมโยงไปถึงชุดข้อมูลที่มีหรือความรู้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือความเชื่อต่างๆ ซึ่งหนังสือแฟนตาซีช่วยส่งเสริมความคิดตรงนี้ให้กับผมได้อย่างดีเยี่ยม

          อ่าน – รู้ – รอบตัว
          จริงๆ ก็พูดได้เลยว่า การอ่านทำให้ผมเป็นอย่างทุกวันนี้ ตัวเองอาจจะไม่ได้เป็นคนอ่านหนังสือเล่มเยอะ แต่เป็นคนอ่านความรู้รอบตัวเยอะมากกว่า อย่างคอลัมน์ที่ชอบอ่านในหนังสือพิมพ์ที่สุด ก็มักจะเป็นคอลัมน์วิทยาศาสตร์ ที่อยู่หน้าด้านหลังสุด เช่น ความรู้รอบโลก เปิดเลนส์ส่องโลก มันเลยทำให้ผมมีความรู้แบบกว้างๆ แต่ไม่ลึก ซึ่งการรู้กว้างแบบนี้มีข้อดีคือ ทำให้พูดคุยกับทุกคนได้ทุกเรื่อง
          ต้นทุนความรู้ที่สะสมมาตรงนี้ ส่งผลให้การทำงานเป็นพิธีกรดีในระดับหนึ่ง เป็นดีเจที่คุยแล้วลื่นไหลไปกับคนอื่นได้ทุกเรื่อง และเป็นผู้ประกาศข่าวที่มีความรู้รอบตัวในการทำความเข้าใจกับข่าวที่อ่านได้ อีกทั้งการอ่านความรู้รอบตัวเหล่านี้ ยังช่วยให้แตกฉานในเรื่องของภาษามากขึ้น เพราะบางคำที่ไม่เคยเจอ อาจจะไม่ได้อ่านถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อยามเห็นครั้งแรก แต่หากอ่านแล้วเห็นก่อนหน้านั้น อย่างน้อยก็มีเวลาในการหาข้อมูลและฝึกซ้อมการอ่าน เพื่อรู้ตัวเองว่า ถ้าเจอคำนี้ครั้งต่อไป จะจัดการหรืออ่านออกเสียงอย่างไร

          The top 3 best books
          เดอะ ลาสต์ เลกเชอร์ ของ แรนดี เพาช์ หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมน้ำตาไหล เพราะเป็นเรื่องที่เศร้าจริงๆ ลองคิดดูว่า ถ้าสำหรับคนกำลังจะตาย คุณอยากใช้เวลาช่วงสุดท้ายกับใคร ทำอะไร คำถามนี้มักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ผมเองก็เคยถูกถาม ถ้าให้ตอบ ก็คงจะบอกว่า อยากอยู่กับครอบครัว อยู่กับคนที่รัก บางคนก็อาจจะไปเที่ยว ไปทำอะไรที่มันสุดๆ ไปเลยก่อนตาย แต่ผู้ชายคนหนึ่งตัดสินใจนำชีวิตของตัวเองก่อนตายมาเล่าให้คนอื่นฟัง เพื่อให้คนอื่นสู้และต่อชีวิตของตัวเองออกไปได้ อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนประสบความสำเร็จ ผมมองว่า การทำแบบนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เห็นไหมว่า หนังสือเล่มหนึ่งมีเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่ ลองอ่านดู ผมร้องไห้กับหนังสือเล่มนี้ ยอมรับเลย
          ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติ พิมพ์ครั้งที่ 85 ของ วินทร์ เลียววาริณ ตอนแรกผมนึกว่ามันจะโรแมนติก ที่จริงก็โรแมนติกในระดับหนึ่ง แต่มันเจือไปด้วยความตลก เพราะด้วยความที่มีความรู้รอบตัวอยู่บ้าง พอรู้เรื่องราวในมังกรหยด สามก๊ก ดนตรีของจอห์น เลนนอน หรือประวัติศาสตร์ต่างๆ อ่านแล้วจะยิ่งเข้าใจและอินมากขึ้น เพราะภายในเรื่องเชื่อมโยงไปด้วยเรื่องราวเหล่านี้ บางทีอ่านแล้วส่ายหัว แต่ถ้าอ่านจบ อาจจะรู้สึกดีก็ได้ ที่มีผู้หญิงหรือผู้ชายบางคนที่เป็นแบบนี้ตามกันมาทุกชาติ
          สดับลมขับขาน ของ ฮารุกิ มูราคามิ ผมเคยนั่งอ่านแล้ว ก็อ่านง่ายดี มีอะไรไม่เข้าใจ ก็ทำเครื่องหมายไว้ในหนังสือเยอะมาก เช่น พูดถึงเพลงในยุค 70 ยี่ห้อบุหรี่ในสมัยนั้น โดยนักเขียนเล่าอย่างเรียบง่าย แต่อ่านแล้วรู้สึกมัน นี่คือเสน่ห์ของนักเขียนที่เขียนหนังสือได้เก่ง คือเรื่องไม่มีอะไร แต่อ่านแล้วรู้สึกคล้อยตามไปในโลกของเขา อีกทั้งมูราคามิยังฉลาดมากในการนำประวัติศาสตร์มาผสมผสานกับเรื่องแต่งได้อย่างลงตัว เนื้อหาที่หนักกลายเป็นเรื่องสนุกและไม่น่าเบื่อ ถือว่ามูราคามิทำได้ดีมาก

          ส่งท้ายการพูดคุยเรื่องหนังสือกับ ‘ต๊ะ-พิภู’ ว่า ถ้าเปรียบตัวเองเป็นหนังสือ 1 เล่ม คิดว่าเป็นหนังสือแบบใด ชายหนุ่มนัยน์ตาน่าค้นหาคนนี้ยิ้มอย่างอายๆ ก่อนตอบ
          “ผมคงไม่ล้ำลึกและหักมุมเหมือนหนังสือของวินทร์ เลียววาริณ ไม่เป็นหนังสือที่ให้แรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ เหมือนหนังสือของศาสตราจารย์แรนดี เพาซ์ และไม่ได้แนวหรืออินดี้เท่า ฮารุกิ มูราคามิ แต่ผมมั่นใจว่า ตัวเองมีทุกอย่างเหมือนในหนังสือที่ผมอ่านรวมกันอยู่ใน 1 เล่ม เพราะฉะนั้นแล้ว ผมว่าผมเป็นหนังสือแบบกลมกล่อมที่อ่านเพลินๆ พอเป็นเพื่อนร่วมทางได้ในระดับหนึ่ง ส่วนปกจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับจินตนาการผู้อ่านแล้วว่า คิดอย่างไร”

          ว่ากันตามจริง ปกก็คงสะท้อนตัวตนไม่ต่างจากเนื้อในหนังสือที่เขาได้อ่านไปหรอก
ทั้งความรู้รอบตัวและแฟนตาซี ที่ทำให้ต้องมนต์ผู้ประกาศข่าวคนนี้แบบหมดใจ