Book กองบรรณาธิการ การทำหนังสือ ต้นฉบับ บก. บรรณาธิการ หนังสือ

กว่าจะได้เป็น… “หนังสือ”

Home / สารพันหนังสือ / กว่าจะได้เป็น… “หนังสือ”

เมื่อราว 5,000 ปีก่อนคริสตกาล มนุษย์แถบอารยธรรมเมโสโปเตเมียเริ่มรู้จักการใช้ของแข็งวาดลงบนดิน เพื่อให้เกิดเป็นลวดลายและตัวอักษร ต่อมาในอารยธรรมกรีกโบราณใช้วิธีเขียนตัวหนังสือลงบนแผ่นไม้ที่ทำจากต้นบีช หรือที่เรียกกันว่า BOC จนกลายเป็นที่มาของคำว่า Book ในปัจจุบัน ขณะที่อารยธรรมอีกฝากอย่างจีนก็เริ่มมีการบันทึกอักษรลงบนแผ่นไม้และใบลาน จนกระทั่งมนุษย์เราได้คิดค้นกระดาษขึ้นมาและพัฒนากลายเป็นหนังสือนั่นเอง ในปัจจุบันมนุษย์ก็ยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อที่จะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านช่องทางต่างๆ ลองมาดูกันว่า กว่าจะเป็นหนังสือสักเล่ม จะต้องทำอะไรบ้าง…

ขั้นแรก : ประชุมกองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของการทำหนังสือก็ว่าได้ เพราะเป็นการสร้างสรรค์เนื้อหานั้นๆ โดยเป็นขั้นตอนก่อนการผลิต เริ่มจากประชุมกองบรรณาธิการ เพื่อกำหนดทิศทางเนื้อหา แนวคิดหลักหรือธีมของหนังสือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สภาพสังคม ซึ่งต้องเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้อ่าน หลังจากที่ได้ทิศทางของเนื้อหา บก.ก็จะมอบหมายงานให้แต่ละทีมไปหาข้อมูลและเขียนเป็นต้นฉบับ

บรรณาธิการ หรือบก.

ดูแลควบคุมการทำงานของทุกกระบวนการในการทำสื่อสิ่งพิมพ์นั้นๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มอบหมายงานให้คนในแต่ละกองบรรณาธิการ รวมถึงการเขียนบทบรรณาธิการ ตรวจทานและปรับปรุงต้นฉบับของนักเขียนให้ถูกต้องสมบูรณ์

นักเขียนประจำกอง หรือคอลัมนิสต์

หาข้อมูล เรียบเรียง เขียนต้นฉบับตามคอลัมน์ที่ได้รับมอบหมาย โดยจะต้องคำนึงถึงหลักการใช้ภาษาให้ถูกต้อง และมีความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ

ช่างภาพ

รับผิดชอบถ่ายภาพประกอบตามเนื้อหาที่ได้รับมอบหมาย สิ่งสำคัญของการถ่ายภาพประกอบนั้น จะต้องช่วยเสริมเนื้อหาให้มีความครบถ้วยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ฝ่ายศิลปกรรม

ออกแบบเนื้อหา จัดวางองค์ประกอบของภาพ ทั้งกราฟิกและภาพถ่าย วางเลย์เอาท์จัดลำดับเนื้อหาให้สวยงาม คงเอกลักษณ์ขแงหนังสือให้โดดเด่น สามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้ และต้องอ่านเข้าใจง่ายไม่ก่อให้เกิดความสับสน

เลขานุการ หรือผู้ประสานงาน

ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่บก. นักเขียนนอกกองบก. เพื่อติดตามต้นฉบับ ดูแลเอกสารต่างๆ ที่จะใช้จ่ายในการทำหนังสือ

ขั้นที่สอง : ต้นฉบับต้องพร้อม

เมื่อได้รับหัวเรื่อง หรือทิศทางจากการประชุมแล้ว นักเขียนก็ลงมือหาข้อมูลต่างๆ หรือสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาเขียนเป็นต้นฉบับในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ ช่างภาพก็จัดการถ่ายภาพตามที่พูดคุยกับนักเขียนและบก. และบก.จะเป็นผู้ตรวจทานเนื้อหาทั้งหมด เรียกได้ว่าไม่มีส่วนไหนไม่ผ่านตา และทำการแก้ไขต้นฉบับก่อนส่งให้ฝ่ายศิลปกรรมจัดหน้าหนังสือ หลังจากนั้นส่งต่อพิสูจน์อักษรเพื่อตรวจสอบว่ามีคำไหนเขียนผิดบ้าง พร้อมแก้ไขให้ถูกต้อง

พิสูจน์อักษร

อ่านและตรวจทานประโยคทุกคำ ทุกตัวอักษรในแต่ละบรรทัด พิจารณาความถูกต้องของการใช้ภาษาว่าเหมาะสมหรือสมควรหรือไม่ในการนำมาใช้ เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

ขั้นตอนสุดท้าย : จากอักษรเป็นรูปเล่ม

เมื่อผ่านการตรวจทานและแก้ไขความถูกต้องแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการส่งเข้าโรงพิมพ์เพื่อแยกสีต่างๆ ซึ่งทางโรงพิมพ์จะส่งกลับมาให้ทางกองบรรณาธิการตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการตีพิมพ์และเข้าเล่มเพื่อนำไปจัดจำหน่ายต่อไป นอกจากกองบรรณาธิการจะรับหน้าที่ผลิตเนื้อหาแล้ว ยังมีอีกหลายหน้าที่ที่มีความสำคัญ ที่ทำให้หนังสือสามารถตีพิมพ์และส่งถึงมือผู้อ่านได้

ฝ่ายการตลาดและจัดจำหน่าย

ดูแลการวางแผนการตลาด วางแผนการส่งเสริมการขายหนังสือ ประสานงานกับผู้จัดจำหน่ายและแผงหนังสือต่างๆ เพื่อให้หนังสือไปถึงมือผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการจัดหารายได้จากการขายโฆษณา ซึ่งจะต้องมีทักษะในการเจรจาสูง

ฝ่ายการเงินและบัญชี

รับผิดชอบงานด้านงบประมาณ การเงิน บัญชีรายรับ-รายจ่ายทั้งหมดของกระบวนการทำหนังสือ

คงจะเห็นกันแล้วว่า กว่าจะได้หนังสือมาสักเล่มนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะจะต้องผ่านกระบวนการคิด ใช้เวลา ความมุ่งมั่นพยายามและความตั้งใจของทีมงานทุกๆ คน เห็นอย่างนี้แล้ว ลองใช้เวลาว่างหาหนังสือมาเปิดอ่านสักเล่มกันเถอะ…

 

ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร Plook ฉบับเดือนธันวาคม 2016

สามารถอ่านเพิ่มเติม ได้ที่ www.mbookstore.com