Oscar The Shape of water ออสการ์

นิยายรักแฟนตาซี-หนังสัตว์ประหลาดโรแมนติก-ความต่างที่ลงตัว

Home / สารพันหนังสือ / นิยายรักแฟนตาซี-หนังสัตว์ประหลาดโรแมนติก-ความต่างที่ลงตัว

ครบรอบ 2 ปี โลกคู่ขนานของหนังและนิยาย The Shape of Water

สำหรับร่องรอยความแตกต่างของ ‘The Shape of Water’ หรือ ‘มหัศจรรย์รักต่างภพ’ ระหว่างเวอร์ชันหนังและฉบับนิยาย ว่ามีรายละเอียดต่างหรือเหมือนกันอย่างไรบ้างนั้น นอกจากความแตกต่างในแง่วิธีการนำเสนอในแบบ ‘ภาพ’ อันตื่นตาตื่นใจกว้างขวางของหนังและในแบบ ‘ตัวอักษร’ อันละเอียดลุ่มลึกของนิยายที่มีเสน่ห์แตกต่างกันคนละแบบแล้ว ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดอื่นๆ เรารวบรวมเอาไว้ที่นี่แล้ว

 

  1. ภูมิหลังของสิ่งมีชีวิตประหลาด ‘เดอุสบรังเกีย’ ในเวอร์ชันหนัง สิ่งมีชีวิตประหลาดนี้ถูกเคลื่อนย้ายเข้ามาในห้องทดลองลับของรัฐบาลแล้วตั้งแต่ต้นเรื่อง และหลังจากนั้นมันก็ตกเป็นหยื่อการทดลองอันโหดร้ายและเป็นความลับต่างๆ นาๆ แต่ในฉบับนิยาย เรื่องราวจะย้อนไปเริ่มตั้งแต่ริชาร์ด สตริกแลนด์เดินทางลึกเข้าไปในป่าแอมะซอนเพื่อจับสิ่งมีชีวิตประหลาดซึ่งชาวบ้านในพื้นที่กราบไหว้บูชานี้ แน่นอนว่าระหว่างการเดินทางนั้นก็จะมีรายละเอียดมากมายที่จะทำให้เรารู้จักภูมิหลังของ ‘เดอุสบรังเกีย’ มากขึ้นกว่าในหนังพอสมควร
  2. ความสัมพันธ์แบบเจ้านาย-ลูกน้องระหว่างสตริกแลนด์กับนายพลฮอยต์ ในเวอร์ชันหนังนั้น ริชาร์ด สตริกแลนด์คือนายทหารผู้ถูกฝันร้ายจากสงครามกัดกินจนหัวใจเหลือแต่ความแข็งกระด้าง เย็นชา และเหี้ยมโหดตั้งแต่ต้นจนจบ ฉายภาพให้เห็นว่าเขาทำงานใต้บังคับบัญชาของนายพลฮอยต์โดยไม่เคยหืออือมาตลอด 12 ปี แต่ในฉบับนิยาย นอกจากจะลงลึกเผยให้เห็นก้นบึ้งตัวตนแท้ๆ ของสตริกแลนด์แล้ว ยังมีรายละเอียดเบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างเขากับนายพลฮอยต์ที่ไม่ปรากฏอยู่ในหนังอีกมากเช่นกัน
  3. ภาษา ‘รัก’ ระหว่างเอไลซากับสิ่งมีชีวิตประหลาด ซีนแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเอไลซากับสิ่งมีชีวิตประหลาดในหนังหลายต่อหลายซีน ไม่ว่าจะเป็นซีนในห้องทดลองลับหรือห้องพักของเอไลซานั้นอาจตราตรึงใจใครหลายคน เพราะถึงแม้ทั้งคู่เป็นสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์แต่ก็มีวิธีสื่อสารถึงกันได้อย่างน่าประทับใจ แต่สำหรับฉบับนิยาย ความรักระหว่างทั้งสองคนจะแจ่มชัดขึ้น และมีภาษา ‘รัก’ อันลุ่มลึกมากขึ้นเพราะถูกถ่ายทอดผ่านความงดงามของการเรียงร้อยตัวอักษรของผู้เขียน ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านจินตนาการไปไกลอย่างที่คาดคิดไม่ถึงเลยทีเดียว
  4. ความลึกและกลมของตัวละครรอง ในเวอร์ชันหนังนั้นตัวละครอย่างเลนี (ตัวละครภรรยาของสตริกแลนด์)ค่อนข้างจะเป็นตัวละครเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีบทบาทนัก และดูเหมือนหน้าที่หลักคือการออกมาสร้างความวาบหวามให้กับตัวหนัง เช่นในซีนเลนีเปิดหน้าอกให้สามีของตัวเองจับ แต่ในฉบับนิยาย ตัวละครเลนีกลับมีบทบาทต่อเรื่องมากกว่าเพราะนิยายจะฉายภาพให้เห็นว่าเลนีอยู่ในความคิดของสตริกแลนด์ตลอดและส่งผลต่อการกระทำของเขาแทบจะตลอดเวลาด้วย
  5. ความคิดของตัวละครรองอื่นๆ แม้ตัวหนังจะเน้นขับเรื่องราวความรักของพนักงานทำความสะอาดสาวใบ้กับสิ่งมีชีวิตประหลาดให้กระเจิดกระเจิงราวเทพนิยาย แต่ในฉบับนิยายนั้น ผู้เขียนยังหันไปแบ่งพื้นที่เพื่อลงลึกไปกับตัวละครรองๆ ที่วนเวียนอยู่รอบความรักของทั้งสองตัวละครหลักด้วย ทำให้ชีวิตของตัวละครรองเหล่านั้นมีมิติ มีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นจนสะท้อนให้เห็นภาพใหญ่ของสังคมและบริบทแวดล้อมในยุคนั้นๆ อีกด้วย

ใครที่เคยทั้งดูเวอร์ชันหนังและอ่านฉบับนิยายจะเห็นได้ว่าแม้ทั้งสองเวอร์ชันจะเป็นเรื่องราวเดียวกัน แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไปดังที่กล่าวมา ส่วนใครที่เคยดูหนังหรืออ่านนิยายเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้ขาดอะไรไป เพราะตัวหนังที่กำกับโดยเดล โตโร่ก็สมบูรณ์แบบและคลาสสิกอย่างแท้จริงขนาดได้รางวัลออสการ์ถึง 4 สาขา ส่วนคนที่เคยซึมซับเพียงฉบับนิยายก็คงจะสัมผัสได้ถึงความจริง ความมีชีวิต และความงดงามของความรักที่มีอยู่ในแทบทุกตัวอักษร แต่แม้ทั้งสองเวอร์ชันจะสมบูรณ์แบบในตัวเองมากก็ตาม แต่การได้ทั้งอ่านนิยายและดูทั้งหนังก็เหมือนการประกบคู่พิสดารอย่าง ‘เอไลซา-เดอุสบรังเกีย’ ในเรื่อง และ ‘เดล โตโร-เคราส์’ นอกเรื่อง นั่นคือแม้จะแตกต่างกันและอยู่กันอย่างโดดๆ ได้ แต่หากจะขับความงามที่อยู่ภายในกันและกันออกมาให้ได้อย่างหมดจดนั้น กลับขาดขั้วใดขั้วหนึ่งแทบไม่ได้เลย ดังนั้นการได้รับประสบการณ์จากทั้งนิยายและหนังจึงจะยิ่งเสริมให้เรื่องราวความรักต่างภพนี้ให้สมบูรณ์และอัศจรรย์ใจขึ้นอีกอย่างแน่นอน

ไม่มีอะไรที่จะฉายภาพสองสิ่งที่แตกต่างแต่กลับส่งเสริมกันได้ดีไปกว่าคำพูดของเคราส์อีกแล้ว “เขาดูมันในโรงหนังเล็กๆ ในเม็กซิโก ส่วนผมนั่งดูผ่านทีวีตอนดึกในรัฐไอโอวา แต่เรากลับมีไอเดียคล้ายกัน แล้วการเจอกันที่ร้านอาหารนั่นก็ทำให้รู้ว่าเราสองคนคิดและรู้สึกอย่างเดียวกันตอนดูหนังพวกนั้น มันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์ทีเดียว”