กลเม็ด การเขียน การเขียนอย่างง่าย การเล่าเรื่อง ทริค นักเขียน วัยรุ่น สไตล์การเขียน หน้าใหม่ เคล็ดลับ เทคนิค แนะนำการเขียน ไลฟ์สไตล์

5 เทคนิคง่ายๆ ค้นหาสไตล์การเขียนที่ใช่สำหรับคุณ

Home / Book Tips / 5 เทคนิคง่ายๆ ค้นหาสไตล์การเขียนที่ใช่สำหรับคุณ

          งานเขียนคือความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะมันคือการค้นหาสำนวนที่มีอยู่ในตัวคุณ อาจใช้เวลาเป็นปีและเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ถ้าหากค้นเจอรูปแบบการเขียนที่ใช่สำหรับตัวเองเจอได้ตั้งแต่เนิ่นๆ มันคือขุมทรัพย์ที่ช่วยให้ผลิตผลงานออกมาได้อย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ แถมไม่ขัดแย้งกับตัวตนที่เป็นด้วย
          มาลองพยายามไปด้วยกัน ค้นให้เจอสไตล์ที่ใช้และรูปแบบการเขียนที่ชอบ จาก 5 เทคนิคต่อไปนี้ ที่จะทำให้คุณอึ้งและทึ่งกับผลลัพธ์ที่ได้ออกมา

          เทคนิคแรก : เขียนเรื่องเบาๆ สบายๆ
          นี่อาจเป็นเทคนิคที่โดนใจนักเขียนมือใหม่หลายๆ คน โดยการเขียนเรื่องในชีวิตประจำวันที่พบเจอมา นึกอะไรได้ก็เขียนออกมาให้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลว่า จะถูกหรือผิด ขอให้เรื่องนั้นกระแทกใจเราแบบเต็มๆ จนอยากจะเขียนออกมาก็พอ ซึ่งช่องทางในการเขียนเรื่องเหล่านี้ มักจะเหมาะกับบล็อกส่วนตัว โซเชียลมีเดียที่ใช้เป็นประจำ เพื่อให้เขียนได้ในทุกสถานการณ์ จะเดินทาง ลงเรือ ขึ้นเหนือ ล่องใต้ ก็เขียนได้อย่างสบายหายห่วง ไม่แน่ว่าต่อไป คุณอาจเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ที่แจ้งเกิดจากการเขียนแบบนี้ก็เป็นได้

          เทคนิคที่ 2 : เขียนด้วยวิธีสื่อสารมวลชน
          อ่านแล้วอาจดูสับสนสักหน่อยว่า วิธีสื่อสารมวลชน เขียนอย่างไร เทคนิคการเขียนแบบสื่อสารมวลคือ การเขียนและนำเสนอด้วยข้อเท็จจริง กระชับ ตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ เน้นการบรรยายมากกว่าการพรรณนา ซึ่งเทคนิคนี้มักจะเหมาะกับการเขียนในรูปแบบข่าวและสารคดี ใครที่ชอบเสพข่าวและชมสารคดี จะได้เปรียบตรงจุดนี้ ที่ใช้ความจริงของข้อมูลเป็นตัวตั้งต้น บรรยายสิ่งที่เห็นและรู้ออกมาเป็นเรื่องราว หากถ้าเขียนดี คุณอาจได้เป็นนักเขียนสารคดีมือทองคนต่อไป

          เทคนิคที่ 3 : เขียนด้วยอารมณ์ขัน
          ลองถามตัวเองดูสิว่า เป็นคนตลกแค่ไหน เวลาเล่าเรื่องกับเพื่อนในกลุ่ม เป็นตัวฮาหรือตัวแป้ก หากเป็นตัวฮาแล้วล่ะก็ ลองเขียนหรือเล่าเรื่องราวตลกที่คิดได้หรือไปเจอมาดู ใช้เวลา 5 นาทีในการเขียนและขมวดความตลกของคุณให้มีจังหวะจะโคน หาก 7 ใน 10 คนอ่านแล้วขำ นั่นถือว่าประสบความสำเร็จ และการเขียนนี้อาจเป็นแนวทางที่ใช่สำหรับคุณ งานเขียนสร้างอารมณ์ขัน มักอยู่ในรูปแบบกลอนตลก แก๊กการ์ตูน หรือบทละครซิทคอมที่เน้นสถานการณ์เฉพาะ ลองเขียนเก็บสะสม แล้วเสนอตามสำนักพิมพ์หรือช่องละครดู หากงานเขียนเข้าตาทีมงาน คุณอาจได้ร่วมงานกับเขาก็ได้

          เทคนิคที่ 4 : เขียนภาพใหญ่ ใช้อุปมาอุปไมย
          เทคนิคนี้เหมาะสำหรับคนชอบฝันและจินตนาการ มีตัวละครที่อยากเล่า มีเมืองสมมติอยู่ในใจ มีสัตว์วิเศษที่ปิ๊งขึ้นมาได้ ลองขยายความคิดออกมาเป็นภาพที่ใหญ่ขึ้น ตัวละครมีชีวิตรันทดแค่ไหน เมืองสมมติสวยงามเพียงไร สัตว์วิเศษมีพลังอำนาจขนาดไหน พรรณนาโดยใช้การเปรียบเทียบด้วยประโยคและคำขยายออกมาให้ได้มากที่สุด หากเขียนได้เกินครึ่งหน้า แปลว่า สามารถต่อยอดเป็นเรื่องสั้นหรือนิยายได้ เทคนิคนี้จะช่วยให้หนทางการเป็นนักเขียนเรื่องสั้นและนิยายอยู่ใกล้แค่เอื้อม

          เทคนิคสุดท้าย : เขียนงานที่คล้ายกับนักเขียนที่ชอบ
          บอกไว้ก่อนว่า ไม่ใช่การคัดลอกเรื่อง ภาษา หรือพล็อตเขามา แต่ให้นำสิ่งที่ชื่นชอบในผลงานนั้นๆ มาประยุกต์ใช้ในงานเขียนของตัวเอง เช่น วิธีการเล่าเรื่องที่แปลกไม่เหมือนใคร นำมาปรับใช้ในจังหวะการเล่าของตัวเอง นักเขียนคนนี้ใช้คำประณีตและสวยงามมาก มีคำใกล้เคียงอื่นอีกไหมที่ใช้ได้ในบริบทเดียวกัน หากมี ก็ลองนำมาใช้ในผลงานเขียนของตัวเอง วิธีนี้อาจลัดไปสักหน่อย แต่ทางลัดนี้จะช่วยให้คุณค้นเจอสไตล์การเขียนที่ใช่ได้เร็วยิ่งขึ้น

          เทคนิคนี้ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือ จงเขียนเป็นประจำและสม่ำเสมอ
          นอกจากช่วยฝึกทักษะการเขียนแล้ว ยังช่วยให้มองเห็นสไตล์ของตัวเองได้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย

          ที่มาจากส่วนหนึ่งของบทความใน : pickthebrain