E-Book กระดาษ คอมพิวเตอร์ นักเขียน ร้านหนังสือ สมาร์ทโฟน หนังสือ หนังสือเล่ม อมตะ อ่านหนังสือ เทคโนโลยี แท็บเล็ต

หนังสือและร้านหนังสือจะเป็นอมตะจริงหรือ…?

Home / Book News / หนังสือและร้านหนังสือจะเป็นอมตะจริงหรือ…?

          ประโยคบอกเล่าที่ว่าร้านหนังสือหรือหนังสือเล่มกำลังค่อยๆ ตายนี้ บางครั้งเราก็ได้ยินบ่อยเสียจนเกือบจะเชื่อแล้วว่านั่นคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเรา แต่ที่จริงก็ไม่ได้มีแค่ในบ้านเราที่คิดว่าหนังสือหรือร้านหนังสือกำลังจะตาย ทว่ากระแส หนังสือและร้านหนังสือตาย นั้นเริ่มแพร่มาจากประเทศฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร

          โลกเราก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมกับสารพัดเทคโนโลยีทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี และอีกหลายๆ อุปกรณ์สมาร์ทที่ทำให้ชีวิตของเรามีทางเลือกมากมาย เราไม่จำเป็นต้องจดกับตัวหนังสือเรียบๆ น่าเบื่ออีกต่อไปแล้ว เพราะมีสื่อเคลื่อนไหวให้และพกพาไปได้ทุกที่ และหลังทศวรรษ 2010 โทรศัพท์มือถือก็ไม่ได้มีไว้แค่โทรออกอย่างเดียวอีกต่อไป ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความสำคัญของ หนังสือ ค่อยๆ ถูกเบียดบัง กระทั่งความนิยมในหนังสือรูปแบบไฟล์ดิจิตอลทวีสูงขึ้น กระแสตื่นตัวที่ประมาณการณ์กันว่าหนังสือเล่มจะหายไป เหลือไว้แค่ข้อมูลในอากาศ และเด็กรุ่นหลังจะได้เห็นหนังสือแค่ในพิพิธภัณฑ์เหมือนศิลาจารึกสมัยก่อนก็เริ่มเป็นหัวข้อที่พูดกันในวงกว้าง

          เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่กระแสลอยๆ เพราะรายงานจาก The New York Times บันทึกไว้ว่าในช่วงปี 2008-2010 อัตราการเติบโตของการซื้ออีบุ๊คสูงขึ้นถึง 1,260% กินส่วนแบ่งทางการตลาดไปกว่า 20% เมื่อประกอบกับปรากฏการณ์ที่ร้านหนังสือตามหัวมุมถนนทยอยปิดตัวลง ผู้ประกอบธุรกิจด้านสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ ร้านหนังสือ จึงพากันหวั่นวิตกกับกระแสการไหลบ่าของสื่อดิจิตอลนี้

          ทว่าหลังจากผ่านไปห้าปี หรือครึ่งหนึ่งของทศวรรษ 2010 คนที่คาดการณ์ว่าหนังสือจะค่อยๆ หายไปเริ่มเงียบเสียงลง เพราะนอกจากหนังสือเล่มจะยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ความนิยมนั้นยังเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจนเบียดแซงหนังสือรูปแบบดิจิตอลไป อีกทั้งจำนวนร้านหนังสืออิสระและสำนักพิมพ์อิสระยังเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ตกลงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่? แล้วไหนที่ว่ากันว่าหนังสือเล่มและร้านหนังสือกำลังจะตาย?

          เอาเข้าจริงแล้วคนเราตัดขาดจากหนังสือจริงๆ ไม่ได้ ลืมเรื่องความโรแมนติกอย่างการสัมผัส ลูบคลำ ดมกลิ่นหนังสือไปก่อน แต่มีผลวิจัยทางจิตวิทยายืนยันแล้วว่า การอ่านหนังสือเล่มต้องใช้สมาธิและความจดจ่อมากกว่าการอ่านแบบอีบุ๊ค และคนที่อ่านหนังสือแบบเล่มจริงจะจับประเด็นได้ง่ายกว่า

          ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนที่อ่านแบบอีบุ๊คจะจับประเด็นไม่ได้ เพียงแต่ธรรมชาติของการอ่านหนังสือเล่มเอื้อต่อการจดจ่อมากกว่าเท่านั้นเอง การใช้ประสาทสัมผัสมากกว่าหนึ่งอย่าง (คือสัมผัสกระดาษด้วยมือขณะที่ตากำลังมองตัวหนังสือ) จะทำให้เราพัฒนาความจำได้มากขึ้น และนั่นก็เป็นสิ่งที่ E-Reader หรือจอแท็บเล็ตจอสมาร์ทโฟนให้ไม่ได้ ส่วนหนึ่งที่หนังสือไม่ตายจริง และนักเขียนยังมีตัวตนอยู่ได้ ซ้ำบางคนยังโด่งดังระดับเซเลบ (ในวงการ) ต้องขอบคุณ “ความดิจิตอล” ในทศวรรษ 2010 นี้ เราได้รับรู้ชีวิตของนักเขียนหรือการทำงานในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์จนคล้ายเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้นั้นๆ ผ่านโลกเสมือนอย่างสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ

          สุดท้าย ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีเป็นใจ หรือแวดวงร้านอิสระพร้อมใจกันรวมตัวเป็นคอมมิวนิตี้เพื่อการพบปะระหว่างนักอ่าน-นักอ่าน หรือนักอ่าน-นักเขียน เหล่านี้ก็ล้วนทำให้หนังสือเล่มยังคงอยู่รอดได้ในลักษณะที่ ไม่อาจตายได้จริงหรือ เป็นอมตะ

          หนังสือไม่อาจตายได้ง่ายๆ หรอก ตราบใดก็ตามที่เรายังวิวัฒนาการหนังสือไปได้เรื่อยๆ หนังสือจึงไม่ใช่แค่หนังสือ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หนึ่งที่ฆ่าไม่ตายพอๆ กับคนที่เขียนมันนั่นแหละ

 

ที่มา : thepaperless