การวิจารณ์ การอ่าน การเขียน งานวิจารณ์ จรรยาบรรณ ตรีศิลป์ บุญขจร บ่มเพาะนักเขียน วรรณกรรม วัยรุ่น วิจารณ์ วิจารณ์วรรณกรรม ศาสตร์และศิลป์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หนังสือ

วิจารณ์วรรณกรรมอย่างไรให้มีทั้งศาสตร์และศิลป์ โดย รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร

Home / Book Event / วิจารณ์วรรณกรรมอย่างไรให้มีทั้งศาสตร์และศิลป์ โดย รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร

          เดี๋ยวนี้มีเพจวิจารณ์งานมากมายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด บ้างวิจารณ์อย่างมีเหตุมีผล บ้างวิจารณ์ตามอารมณ์ความรู้สึก ณ ขณะนั้น แต่แท้จริงแล้วศิลปะแห่งการวิจารณ์เป็นอย่างไรกันแน่ เอาเหตุผลขึ้นก่อนแล้วอารมณ์ค่อยตาม หรืออารมณ์มาก่อนแล้วค่อยตบด้วยเหตุผลหรือเปล่า

ภาพ : Facebook สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

          วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2560 มีการเสวนาและบรรยายในหัวข้อ “ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจารณ์วรรณกรรม” โดย รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ซึ่งอาจารย์ตรีศิลป์ให้คำจำกัดความของการวิจารณ์ในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจว่า

          “คำว่า วิจารณ์ เดี๋ยวนี้ มักจะใช้ไปในทางลบเสียส่วนใหญ่ การแสดงความเห็นในทางที่ไม่ดี การโจมตี ตั้งป้อม หรือช่างติ ช่างว่า แต่แท้จริงแล้วคำว่า วิจารณ์ มาจากคำว่า พิจารณ์หรือพิจารณา ซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์ พิจารณาเนื้อหา และแสดงความเห็นเกี่ยวกับการสร้างงานอย่างสร้างสรรค์ เป็นการมองอย่างละเอียดรอบคอบในทุกด้าน ไม่ใช่ติติงเอาสนุกเพียงอย่างเดียว”

          มององค์ประกอบสิ่งที่ต้องวิจารณ์
          
อาจารย์ตรีศิลป์กล่าวว่า ภาษา เนื้อหา และรูปแบบคือสามองค์ประกอบในการพิจารณาผลงานของผู้สร้างงาน โดยก่อนที่จะวิจารณ์ เราควรรู้ก่อนว่ามีความรู้พื้นฐานด้านงานเขียนนั้นมากน้อยเพียงใด เช่น รู้ว่าผู้เขียนใช้ฉันทลักษณ์แบบใดในการแต่งคำประพันธ์ ใช้วิธีการเขียนอย่างใดในการเล่าเรื่อง แล้วค่อยนำมาสู่การอธิบายเนื้อหาและการตีความว่า ได้สาระอะไรจากสิ่งที่อ่าน


          อาจารย์ตรีศิลป์ยกบทประพันธ์ขึ้นมาวิเคราะห์ 2 บท บทแรกมาจาก คุณพรชัย แสนยะมูล ในชื่อเรื่อง สถานะ ที่สะท้อนถึงการเข้ามาของเฟซบุ๊คในช่วยยุคแรกๆ ของประเทศไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงบริบทสังคมที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมร่วมสมัยที่มีสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิต และอีกบทหนึ่งคือ โลกกลมๆ ของชมพู่ : นิยายรักซีรีย์เอ็กซ์ ของ คุณสุขุมพจน์ คำสุขุม ที่ตีแผ่ภาพของเด็กสาวในสังคมบริโภคนิยมได้อย่างเห็นภาพและมีชั้นเชิง

          แลหลักวิจารณ์วรรณกรรม
          หลังจากการวิเคราะห์ตัวอย่าง อาจารย์ตรีศิลป์เล่าถึงขั้นตอนการวิจารณ์วรรณกรรมต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วน
          ส่วนแรก วิเคราะห์ คือการแยกแยะองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการนำเสนอ ภาษาที่ใช้ และเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อ
          ส่วนที่สอง วิจารณ์ คือการมองเนื้องานอย่างละเอียดรอบด้าน แล้วแสดงทัศนะของตัวเองว่า งานเขียนชิ้นนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร
          ส่วนสุดท้าย วิพากษ์ คือการประเมินคุณค่าผลงาน ที่อาจมีทั้งบวก (ชี้ให้เห็นถึงข้อดี) และลบ (แนะให้เห็นถึงข้อเสีย)
          อาจารย์ตรีศิลป์ยังเน้นย้ำอีกว่า ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะวิจารณ์ หากขาดซึ่งหลักเกณฑ์และทฤษฎีแล้ว การวิจารณ์เหล่านั้นอาจเป็นเพียงแค่การแสดงความรู้สึก ไม่ใช่การวิจารณ์ที่แท้จริง

ภาพ : Facebook สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

          จรรยาบรรณนักวิจารณ์
          จรรยาบรรณคือหัวใจสำคัญที่อาจารย์ตรีศิลป์ฝากถึงนักวิจารณ์ทุกคน เพราะการมีจรรยาบรรณจะช่วยส่งเสริมให้นักวิจารณ์เขียนวิจารณ์ออกมาได้อย่างมีคุณภาพ และรักษามาตรฐานการวิจารณ์วรรณกรรมได้อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งจรรยาบรรณของนักวิจารณ์นั้นมีอยู่ 3 ข้อง่ายๆ คือ
          – ใช้เหตุและหลักการในการวิจารณ์โดย ปราศจากอคติ ซึ่งการประเมินว่า เรื่องที่เขียนดีหรือไม่ดีอย่างไร ต้องตั้งอยู่บนเหตุและผล ไม่มีความลำเอียงหรือโกรธเกลียดผู้เขียนโดยส่วนตัว
          – วิจารณ์เพื่อสร้างสรรค์ และเป็นการ ติเพื่อก่อ ให้เกิดสิ่งใหม่ว่า จะทำให้ผลงานของผู้เขียนดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร ซึ่งจะช่วยยกระดับให้ผลงานของผู้เขียนก้าวหน้าต่อไป
          – รับผิดชอบ ต่อความคิดเห็นในข้อเขียนของตัวเองทุกครั้ง เพราะการวิจารณ์ทุกอย่างมาจากความคิดและความรู้สึกของเรา ขอให้ยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งที่ตัวเองเขียนหรือนำเสนอออกไป


          คุณสมบัติที่นักวิจารณ์พึงมี
          “อ่าน คิด เขียน” 3 คำที่อาจารย์ตรีศิลป์ให้ไว้แก่ผู้ที่จะก้าวเข้ามาสู่การเขียนงานวิจารณ์
          อ่านให้วิจารณ์ได้ ต้องอ่านเป็น อ่านมาก และอ่านเยอะ รู้จักประเภทของวรรณกรรมเป็นอย่างดี พิจารณาเนื้อหาได้อย่างเฉียบคม รู้ว่าอ่านแล้วชอบตรงไหน และเล่มนี้เมื่ออ่านแล้วมีอะไรดีที่อยากจะนำเสนอ
          คิดให้วิจารณ์ได้ ต้องคิดอย่างประณีต ละเอียดถี่ถ้วน และรอบด้าน ที่สำคัญคิดอย่างไม่มีอคติ เป็นธรรมกับผู้เขียนและผู้อ่านงานที่จะมาอ่านงานวิจารณ์ของเรา
          เขียนให้วิจารณ์ได้ ต้องเขียนอย่างเจ้าของภาษา คือใช้คำ วลี ประโยคในการสื่อความคิดและควาหมายได้อย่างสัมฤทธิผล อีกทั้งเป็นนายภาษา คือมีคลังคำในการเขียนและการสร้างงาน
          หากทำครบทั้ง 3 ข้อ อาจารย์ตรีศิลป์กล่าวว่า จะทำให้งานวิจารณ์ของคุณโดดเด่น มีเอกลักษณ์ มากด้วยคุณค่า และเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงวรรณศิลป์แน่นอน

          การวิจารณ์ถือเป็นการให้คุณค่ากับผลงานเขียนนั้นๆ ถ้าปราศจากการวิจารณ์แล้ว นักเขียนหลายคนคงมองไม่เห็นข้อดีและข้อเสียในงานตัวเอง เพราะการวิจารณ์คือคันฉ่องส่องให้เห็นคุณภาพงานเขียนแบบไม่โกหกใคร เพื่อให้ผู้รังสรรค์วรรณกรรมได้พัฒนาการเขียนในทางที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป